การรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนของทัพพม่า นำโดยพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยข้ออ้างว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง โดยคณะทหารสามารถเข้าควบคุมอำนาจได้โดยเบ็ดเสร็จจากนั้นก็มีการประกาสถานการณ์ฉุกเฉินและควบคุมตัวนางออง ซาน ซู จี และสมาชิกอาวุโสคนอื่นๆ ของพรรคเอ็นแอลดี พรรคการเมืองของฝ่ายพลเรือน ที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย
การยึดอำนาจของกองทัพพม่าจากรัฐบาลนางออง ซาน ซู จี ผ่านไปเพียงไม่กี่วันภายหลังที่นางออง ซาน มีจดหมายสื่อสารถึงประชาชนที่สนับสนุนระบุว่า “การกระทำของกองทัพทำให้ประเทศกลับไปสู่เผด็จการอีกครั้ง และเรียกร้องให้บรรดาผู้สนับสนุนเธอและพรรคเอ็นแอลดี อย่ายอมรับการรัฐประหาร” จึงทำให้เกิดการประท้วงและต่อต้านค่อยๆก่อตัวขึ้น และขยายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศในหลายเมืองสำคัญๆ และต่างประเทศ รวมถึงในเมืองไทย ดังที่ปรากฏตามข่าวของสื่อสำนักต่างๆ ส่งผลทำให้พวกม็อบสามนิ้วในไทย ออกอาการเริ่มฮึดฮัดคึกคักกระโดดโลดเต้นเข้าร่วมผสมโรง มีกำลังใจก่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากม็อบฝ่อหมดแรงไร้พลังเดินสายคอตกขึ้นโรงพัก ไปศาลและเรือนจำคนละหลายสิบคดี การกลับมาอีกครั้งของม็อบสามนิ้วในไทย ตั้งเป้าขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยข้ออ้างว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการเหมือนพม่า เกาะกระแสการเคลื่อนไหวมวลชนที่คึกคักเข้มแข็งของม็อบต่อต้านในพม่า ด้วยหวังว่าจะก่อกระแสจุดติดทางการเมือง
ปัญหาว่า การรัฐประหารในพม่าทำไมเจอกระแสต่อต้านอย่างหนักแต่การรัฐประหารในไทยทำไมราบรื่น นี่เป็นอุทาหรณ์ทางการเมืองที่บรรดานักเคลื่อนไหวและนักต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนต้องเรียนรู้วิเคราะห์และศึกษา แม้จะเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกันแต่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และเหตุปัจจัยของประเทศทั้งสองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
1.สถานการณ์การรัฐประหารในไทยทั้งสองครั้งคือ เมื่อ 19 กันยายน 2549 นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และ 22 พฤษภาคม 2557 ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง (ทักษิณชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ใช้อำนาจโดยมิชอบโกงกินทุจริตอย่างฉาวโฉ่ ทำลายความเป็นประชาธิปไตย โกงการเลือกตั้งกระทั่งจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถูกประชาชนเรือนแสนเรือนล้านทั่วประเทศ ออกมาชุมนุมขับไล่ทั่วประเทศ รัฐบาลพลเรือนขณะนั้นใช้อำนาจรัฐจากกองกำลังตำรวจและกลุ่มอันธพาล เข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน จนบ้านเมืองไร้ความสงบ จนเกิดความจลาจลวุ่นวาย นำไปสู่วิกฤติทางการเมืองของประเทศ ประชาชนเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ หยุดอำนาจการเมืองที่ฉ้อฉลของรัฐบาลพลเรือน ด้วยเหตุนี้การรัฐประหารในไทยทั้งสองครั้ง จึงได้รับเสียงปรบมือและดอกไม้จากประชาชน แต่เหตุการณ์ในพม่าแตกต่างกับไทยโดยสิ้นเชิงเพราะประชาชนพม่าสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนต่อต้านอำนาจจากกองทัพ เพราะรัฐบาลพลเรือนพม่ามิได้มีพฤติกรรมทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบเช่นรัฐบาลพลเรือนในไทย
2. คณะรัฐประหารในไทย มิได้ใช้อำนาจปราบปรามประชาชน แต่มุ่งในการคืนความสงบให้กับบ้านเมือง ฟื้นเศรษฐกิจชาติ และนำบ้านเมืองกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบวิถีไทย แต่ในพม่ามักจะมีเหตุการณ์นองเลือดหลังการรัฐประหาร มีการสังหารประชาชนฝ่ายต่อต้านนับพันๆ คน ทหารจะยึดกุมอำนาจไว้อย่างเด็ดขาด โดยมีประชาชนให้การสนับสนุนเป็นส่วนน้อย
3. ประเทศไทยมีสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยในชาติ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาปกครองบ้านเมืองก็ตาม จะต้องไม่ทำลายสถาบันหลักของชาติ แต่พม่ามีปัญหาความเป็นเอกภาพในชาติ มีความขัดแย้งต่อสู้กันภายในประเทศและมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์สูงมีวัฒนธรรมและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ สังคมที่แตกต่างจากไทย
4. แกนนำและผู้นำประชาชนในพม่าโดยเฉพาะออง ซาน ซู จี เป็นที่เคารพและนับถือของประชาชนพม่า เพราะความเป็นผู้นำที่ได้รับการทดสอบ ผ่านเบ้าหลอมการต่อสู้ทางการเมืองทั้งชีวิต ด้วยความอดทนและอย่างลำบาก ไม่ว่าการถูกคุมขัง กักบริเวณ โดยเธอมีบิดาเป็นผู้นำทางการเมืองที่เสียสละเพื่อชาวพม่า ถูกลอบสังหารจากการต่อสู้กู้ชาติ เธอจึงเป็นผู้มีเกียรติประวัติเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวพม่าทั้งประเทศ แตกต่างจากพวกม็อบสามนิ้วในไทย ที่มีผู้นำไร้เดียงสา ละอ่อนทางการเมือง แถมพฤติกรรมหยาบคายก้าวร้าว ไร้เกียรติประวัติที่ดีงามทางการเมือง ชูประเด็นการต่อสู้ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน คนส่วนใหญ่ต่อต้านคัดค้านม็อบสามนิ้ว ที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
5. ม็อบสามนิ้วในไทย ถูกชักนำบงการโดยพรรคการเมือง ที่ผู้นำพรรคการเมืองไม่มีเกียรติประวัติและการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประเทศชาติและประชาชน ตรงข้ามกลับมีพฤติกรรมต่อต้านสถาบันกษัตริย์ มีข้อเรียกร้องทางประชาธิปไตย ที่คนไทยไม่ปรารถนา นอกจากนี้ยังมีขบวนการต่างชาติ และนักวิชาการ นักการเมือง ที่ต่อต้านสถาบันสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ประชาชนไม่ยอมรับ แตกต่างจากพม่าที่พรรคเอ็นแอลดี เป็นพรรคการเมืองตัวแทนมหาชนพม่า ผ่านการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารมาโชกโชน ผ่านบทพิสูจน์และทดสอบจากการต่อสู้ ชาวพม่าให้ความนับถือและศรัทธา เป็นพรรคผู้นำทางการเมืองของประชาชน นำการต่อสู้
ด้วยความเหมือนและความแตกต่างดังกล่าว ย่อมพอจะมองเห็นได้ว่า อนาคตของม็อบสามนิ้วในไทย กับการต่อสู้ของประชาชนพม่า จะมีจุดจบและอนาคตเช่นไร
และนี่คือเหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่ ไม่ยอมออกไปเดินร่วมกับพวกสามนิ้ว
ประพันธุ์ คูณมี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี