โหวตท่วมท้น! รัฐสภาฉลุยกม.ประชามติ ติงบทลงโทษจ้องเล่นงานจนท.ระดับล่าง ห่วงเปิดช่องใช้กม.ปิดปากปชช.
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 22 มิ.ย.64 ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ วาระ2 ที่ค้างอยู่จากสมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว ก่อนเข้าสู่วาระประชุมนายชวนขอความร่วมมือสมาชิกให้เว้นระยะห่างเท่าที่ทำได้ ใครที่ยังไม่อภิปรายให้อยู่นอกห้องประชุม และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณาเรื่องด่วนพิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อาเซียน ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ชี้แจง ใช้เวลาอภิปรายร่วม 2ชั่วโมง ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวด้วยคะแนน 600 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 4
ต่อมาเวลา11.45 น.เข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยเริ่มพิจารณาจากการลงมติมาตรา 53 และ 54 เรื่องการคัดค้านการออกเสียงประชามติ ที่ค้างมาจากการประชุมรัฐสภาสมัยที่แล้ว ซึ่งที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ
เมื่อเข้าสู่การพิจารณามาตรา 55 เรื่องบทกำหนโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หน้าที่ตามพ.ร.บ.นี้ ที่ใช้อำนาจมิชอบในการออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุก 1-10ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมีส.ส.หลายคนอาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทักท้วงว่า เป็นการมุ่งลงโทษเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นกลาง จึงควรขยายขอบเขตบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐให้ครอบคลุมถึงส.ส. ส.ว. และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 55 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 124 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน10
ขณะที่มาตรา 60 เรื่องการกระทำใดที่เป็นความผิดในการออกเสียงประชามตินั้น นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอให้ตัดข้อความ “เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ” ตามที่กมธ.เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเป็นการเขียนไว้กว้างเกินไป สามารถตีความได้หมด เกรงว่าจะเป็นการใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน ทำให้การรณรงค์ประชามติอาจถูกปิดกั้น มีการให้ข้อมูลประชาชนแค่ฝ่ายเดียว ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มข้อความดังกล่าวขึ้นมา เพราะสามารถใช้การเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 60 ด้วยคะแนน 479 ต่อ35 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 6
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมในช่วงบ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น สมาชิกทั้งส.ส.และส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นในมาตราต่างๆกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีการตีรวนใดๆ ทำให้การพิจารณาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเวลา 15.00น. สมาชิกอภิปรายกันครบทั้ง 67 มาตรา ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในวาระสาม ด้วยคะแนน 611 ต่อ 4 งดดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 รอการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาอภิปรายทั้งหมด 3.15 ชั่วโมง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี