"ประยุทธ์"อัด"จิราพร"ตั้งใจบิดเบือน-ทำเสียหาย ปมเหมืองทองอัครา ชี้ใช้"ม.44"แค่สั่งตรวจสอบแก้ไข ลาก"โทนี่"ร่วมรับผิดฐานอนุญาตให้ทำตั้งแต่แรก โอดรัฐบาลปัจจุบันต้องมานั่งแก้ไข ฮึ่ม!คดีอยู่ระหว่างชั้นอนุญาโตตุลาการอย่าอภิปรายทำลายความน่าเชื่อถือประเทศ ด้าน"องครักษ์พปชร."ป้อง"บิ๊กตู่"ทำถูกแล้ว ระงับเหมืองทองอัครา ปกป้องสุขภาพประชาชน ขณะที่"ฝ่ายค้าน"ประท้วงกลับส.ส.อย่ายุ่ง
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า รัฐบาลทุกสมัยมีหน้าที่ในการพิจารณาการนำทรัพยากรออกมาใช้อย่างเหมาะสม รัฐบาล ปี 2544 เห็นชอบตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ เชิญชวนให้มีการลงทุนและทำเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร และปี 2554 รัฐบาลระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมือง จำนวน 1 แปลง ด้วยปัญหาความชัดเจนและมีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง และมีการร้องเรียนจากประชาชนมีปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง และมีข้อโต้แย้งเรื่องขั้นตอนการอนุญาตขาดความรัดกุมและปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อมา รัฐบาล คสช.เข้ามาช่วงที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่แล้ว มีความชอบธรรมในการดำเนินการตามความจำเป็น ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลย่อมต้องพิจารณาหาแนวทางตามที่มีความจำเป็น และหลักการออก พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ เอกชนกว่า 100 ราย ก็มาขอใบอนุญาตใหม่และต่อใบอนุญาตเก่า เช่นเดียวกันกับ บริษัท อัครา ก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่ให้ต่อใบอนุญาต แม้ผู้บริหารของบริษัทจะยังมีคดีความอยู่กับรัฐ แต่ก็ยังสามารถเข้าร่วมประมูลได้ และบริษัท อัครา ก็ได้ยื่นหนังสือต่อใบอนุญาตตามกฎหมาย เหมือนบริษัทอื่นๆ แต่ไม่ได้ต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนอะไรกับรัฐบาลทั้งสิ้น เป็นการต่อใบอนุญาตแปลงเดิมปี 2536 และ 2543 เป็นข้ออนุญาตตามใบอนุญาตเดิมตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อน และการอนุญาตการสำรวจก็เป็นไปตามหลักกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การเจรจาเกิดขึ้นตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการ ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายไปขอเจรจาก่อน และการฟ้องร้องของบริษัท คิงส์เกต เป็นไปด้วยความที่ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการยึดเหมืองของบริษัทลูก เพราะไม่มีการต่อใบอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ส่วนเรื่องการใช้มาตรา 44 เป็นความตั้งใจบิดเบือนของผู้อภิปรายที่อยากให้ตนเสียหาย เนื่องจากมาตรา 44 เป็นเรื่องของการตรวจสอบและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย และหากแก้ไขแล้วก็สามารถขออนุญาตให้เกิดใหม่ได้ ไม่ใช่ความต้องการที่จะยึดเหมือง หลังจากนั้นรัฐบาลก็ให้ความเป็นธรรมในการขอต่อใบอนุญาต โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับแก้ไขในปี 2560 และถ้าเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตคงไม่ใช่ตนคนเดียว คงต้องย้อนกลับไปยังรัฐบาลก่อนๆ ที่ให้อนุญาตด้วย แต่ในรัฐบาลของตนต้องมาเป็นคนแก้ไข ตอนนี้กรณีนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ขออย่าให้ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ และขอให้การอภิปรายไม่ใช่หวังตีรัฐบาล ล้มรัฐบาลอย่างเดียว แต่อยากให้มีการเสนอทางออกที่คิดว่าทำได้ด้วย ส่วนเรื่องที่จะให้ตนลาออก มีการเอาใบลาออกมาให้ ขอเก็บให้ไว้ใช้เอง ตนไม่ออก
ขณะที่ ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องการสั่งระงับการทำเหมืองทองคำชั่วคราวทั่วประเทศ รวมถึงเหมืองทองอัครา ว่า มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบางประการที่คาดเคลื่อน จึงขอชี้แจงให้ที่ประชุมเข้าใจ เรื่องความชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งเพื่อระงับข้อพิพาทในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบเหมืองแร่ทองคำ หากย้อนเวลากลับไปก่อนมีคำสั่งระงับชั่วคราวนั้น ข้อพิพาทเรื่องเหมืองทองคำถูกสะสมมายาวนาน หลายสมับรัฐบาล มีปัญหาประท้วง การคัดค้านการทำเหมืองและปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรอบ โดเยฉพาะกรณีเหมืองทองอัครา
ทั้งนี้ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อภิปรายประเด็นดังกล่าว ลุกขึ้นประท้วง ร.อ.จองชัย ว่า ตนได้อภิปรายซักถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ไม่ได้ถาม ส.ส.ดังนั้น ขอให้ประธานที่ประชุมวินิฉัยการอภิปรายของ ร.อ.จองชัย ด้วย ทำให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ซึ่งกำลังทำหน้าประธานการประชุมขณะนั้น วินิจฉัยว่าญัตตินี้สมาชิกทุกฝ่ายมีสิทธิ์เสนอแนะข้อเท็จจริง และเสนอปัญหาต่อรัฐมนตรี ซึ่ง ร.อ.จองชัย ก็มีสิทธิ์เสนอข้อมูลที่อาจไม่ตรงกัน ก็ให้สภาฯ และประชาชนเป็นผู้พิจารณา
จากนั้น ร.อ.จองชัย ได้อภิปรายต่อว่า มีคณะแพทย์กลุ่มหนึ่งไปตรวจพบปัญหาจากการสุ่มตรวจประชาชนรอบเหมือง โดยตรวจพบสารพิษในเลือดและโลหะหนักหลายร้อยคน ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ทราบว่าเป็นผลโดยตรงจากการทำเหมืองแร่หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากเป็นท่านอาศัยบริเวณรอบเหมือง และมีประชาชนเจ็บป่วยจะคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด หากท่านเป็นรัฐบาลและมีอำนาจสั่งการในตอนนั้นจะทำอย่างไร การที่พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจเลือกใช้มาตรา 44 เพื่อหยุดยั่งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมถือว่าเหมาะสมแล้ว แสดงถึงความเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงปผลประโยชน์ส่วนร่วมและประชาชนเป็นสำคัญ และต้องเป็นการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการใช้กฎหมายปกติก็ไม่ทราบว่าผลตรวจสอบจะเสร็จสิ้นเมื่อใด จึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ มันเป็นเรื่องเร่งด่วน และการออกกฎหมายดังกล่าวก็ถูกต้องตามหลักนิติธรรม มีเหตุผลถูกต้อง ไม่ใช่ลุแก่อำนาจเพื่อรังแกบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แต่ปฏิบัติต่อเหมืองแร่ทองคำทุกแห่งเท่าเทียมกัน เป็นการระงับการดำเนินการชั่วคราว ไม่ใช่การปิดเหมือง ส่วนหลักอนุญาโตตุลาการ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด สามารถเรียกร้องค่าเสียหายเราได้ และเป็นสิทธิ์ของไทยตามปกติที่ต้องจ้างทนายความต่อสู้คดี และอนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท ไม่ใช่การถูกฟ้องในศาลระหว่างประเทศ กระบวนการมุ่งให้มีการมีการเจรจาประนีประนอม หลายคดีก็ถอนฟ้องยอมความกัน ไมได้ระบุว่าใครแพ้ใครชนะ ยอมกันทั้งสองฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ ร.อ.จองชัย อภิปรายนั้น นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงนายศุภชัยให้ควบคุมการประชุมว่าการที่ ร.อ.จองชัย ดำเนินการเป็นการชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ในญัตติ โดยนายศุภชัยพยายามชี้แจงว่า สมาชิกแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์นำเสนอข้อมูลของตนเองในที่ประชุมได้ และเป็นสิทธิ์ของสมาชิกชี้แจงได้
ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า ตนอยากถามนายกฯ ว่า จะมอบหมายให้สมาชิกตอบแทนท่านหรือไม่ จริงๆ แล้วท่านต้องเป็นคนตอบเอง ท่านรับรองในคำพูดของสมาชิกหรือไม่ อยากให้นายกฯ ได้ตอบว่าจะอนุญาตให้เอาข้อมูลที่สมาชิกนำเสนอเป็นข้อมูลที่ท่านตอบหรือไม่ หรือว่าท่านจะตอบเองในเรื่องเหมืองทองอัคราที่เสียหายหลายแสนล้าน ทำให้นายศุภชัย กล่าวว่า นายพิเชษฐ์จะประท้วงก็ประท้วง ไม่ใช่การอภิปราย ก่อนนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับไม่มีใครขวางท่านประธานได้เลย ท่านประธานวินิจฉัยแต่คำเดิม ซึ่งท่านเบี่ยงเบนข้อบังคับของที่ประชุมมาหลายครั้งแล้ว ประธานต้องเป็นกลาง และต้องปฏฺิบัติตามข้อบังคับของสภาฯอย่างเคร่งครัด
จากนั้น นายกฯ กำลังจะลุกขึ้นชี้แจง แต่นายศุภชัย ได้ห้ามไว้ พร้อมระบุว่า "ร.อ.จองชัย ยังอภิปรายไม่จบ ท่านนายกฯ ใจเย็นๆ เมื่อประธานวินิจฉัยแล้วถือว่าเป็นเด็ดขาด ซึ่งตามข้อบังคับสามารถอภิปรายสนับสนุนและคัดค้านได้ ดังนั้น ร.อ.จองชัย จึงสามารถอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านได้"
ทั้งนี้ ร.อ.จองชัย กล่าวช่วงท้ายต่อว่า รัฐบาลทำถูกแล้ว เพราะการเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ในการนำข้อมูลลับในทางคดี มันขัดต่อต่อหลักกฎหายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน เคยอ้างอิงนำข้อมูลความลับมาเปิดเผย ตนขอตั้งคำถามว่า เป็นการสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ อาจจะเสียหายต่อรูปคดีและนำไปสู่ประเทศชาติหรือไม่ ส่วนการเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดการประนีประนอมควบคู่กับการดำเนินการตามอนุญาโตตุลาการนั้น ก็เป็นวิธีการปฏิบัติโดยปกติสากลทั่วโลกทำกัน ดังนั้น การที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำอีก 44 แปลง ก็เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่เคยยื่นขอไว้แล้ว ไม่ใช่การนำประโยชน์หรือแผ่นดินของชาติไปยกให้แต่อย่างใด ตนจึงขอเรียนข้อมูลที่ถูกต้องให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฝ่ายค้านเปิดหัวถล่มดุวันสุดท้าย-'บิ๊กตู่'ตอกหน้าส.ส.พท.เก็บใบลาออกไว้ใช้เองเถอะ)
- 006