ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยมีโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำนวนมาก โดยมีกลุ่มประชากรประมาณ 1.8 ล้านคน ที่เป็นเด็กยากจนหรือด้อยโอกาสในระบบการศึกษาอยู่
มีกลุ่มประชากรมากกว่า 4 แสนคน ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา บางคนเข้าไปแล้วหลุดออกมา บางคนเข้าเรียนช้า มีเด็กและเยาวชนที่พิการทางด้านร่างกายหรือสติปัญญาจำนวนมากที่จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือ มีประชากรที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศมีโอกาสที่จะศึกษาสูงถึงระดับอุดมศึกษามีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และค่าใช้จ่ายของการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้สูงกว่าสัดส่วนของประชากรที่รวยที่สุดในประเทศถึง 4 เท่า
ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น โดยก่อนหน้านั้นจะมีเพียงประมาณ9 แสนคน แต่พบว่าเพิ่มเป็น 1.3 ล้านคนในปี 2565 เด็กกลุ่มนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเด็กกลุ่มอื่น เพราะไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์หรืออินเตอร์เนตมาเรียนอย่างต่อเนื่องได้ ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง ภาระพึ่งพิงในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
“ถ้ามองในภาพใหญ่ของประเทศ เรากำลังพูดถึงประชากรกลุ่ม 15% ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเส้นความยากจนของประเทศซึ่งมีจำนวนเกือบ 2 ล้านคนที่ต้องช่วยกันดูแล นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ หากเราสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงโอกาสทางการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ก็จะมากขึ้นและเสมอภาคมากขึ้น แต่ปัญหานั้นมีความซับซ้อน การแก้ไขเป็นไปอย่างยากลำบาก จำเป็นต้องย่อส่วนปัญหาขนาดประเทศ สู่ขนาดจังหวัดและการจัดการที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562” ดร.ไกรยสระบุ
ผู้จัดการกองทุน กสศ. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาฯ ได้ผ่านการพิจารณาในมาตรา 18 ในเรื่องของมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ไปแล้วในรอบแรก ทำให้ในอนาคตสมัชชาการศึกษาจังหวัด สภาการศึกษาจังหวัด สามารถรวมกลุ่มกันแล้วไปจดทะเบียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถดำเนินการมีส่วนร่วมยกร่างแผนการศึกษาจังหวัดและติดตามการดำเนินงานของแผนการศึกษาจังหวัดได้ สิ่งนี้เป็นความคืบหน้าที่สำคัญ
ทั้งนี้ กสศ. มีประสบการณ์ในการทำงานนี้มาแล้ว 20 จังหวัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ กสศ. มิได้เป็นหน่วยงานที่จะดำเนินงานนี้ได้โดยตนเอง แต่ กสศ. มีบทบาทในฐานะผู้กระตุ้นให้เกิดการริเริ่มการเปลี่ยนแปลง แต่การเริ่มต้นติดกระดุมเม็ดแรกจังหวัดต้องตัดเย็บด้วยตนเอง โดย กสศ. จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดแนวหน้าในการทำงาน เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง กสศ. จะปรับบทบาทตนเองเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเร่งกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นจากทุกภาคส่วน มีการจัดตั้ง มีการทำงานให้เกิดแชมเปี้ยนและเริ่มมีการทำงานข้ามจังหวัดกันมากขึ้น
“ในระยะยาว กสศ.หวังว่า จะปรับบทบาทเป็นพันธมิตรหรือเป็นพาร์ทเนอร์ด้านนวัตกรรม หากพื้นที่ต้องการนวัตกรรมด้านวิชาการ ต้องการสถาบันวิชาการ ต้องการหน่วยงานด้านข้อมูลสารสนเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิด Learning City ขึ้นได้ กสศ. พร้อมที่จะแสวงหาแนวร่วมและช่วยเหนี่ยวนำให้ภาคีเหล่านี้เข้ามาทำมามีส่วนช่วยพื้นที่ได้ เพื่อสุดท้ายพื้นที่จะได้เดินหน้าได้เอง โดยบันไดขั้นที่ 4 5 6 เป็นบันไดที่พื้นที่จะต้องดำเนินการได้ด้วยตนเอง ขณะที่ กสศ.จะปรับบทบาทเป็นเพื่อนคู่คิด และยินดีสนับสนุนเครือข่ายการทำงานตรงนี้” ดร.ไกรยส กล่าว
ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า หนึ่งใน
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.-สภาพัฒน์) ระบุคือ “ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น” โดยในปี 2562 พบว่า
ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมีจำนวนมากถึง 512,600 ครัวเรือนหรือร้อยละ 13.5 ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิกและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากจนอย่างเฉียบพลัน
โดยในปี 2563 สัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12.7 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 14.9 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้โอกาสในการหลุดพ้นจากกับดักความยากจนมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ได้แก่ การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม (ร้อยละ 60.3) และที่สำคัญคือ “ความขัดสนทางการศึกษา
ดังนั้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงออกแบบให้มีกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ “การสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น โดย
ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีคุณภาพ จัดสรรเงินอุดหนุนและทรัพยากรที่จำเป็น” เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในโรงเรียนและการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งแหล่งเรียนรู้บนพื้นที่กายภาพและพื้นที่เสมือนจริงหรือออนไลน์
พร้อมทั้งพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและติดตามช่วยเหลือเด็กยากจนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการพัฒนาทักษะอาชีพตามความเหมาะสม เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้และด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
“กลยุทธ์ข้างต้นสอดคล้องกับการดำเนินงานของ กสศ. ที่พยายามใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างกลไกให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education-ABE) เป็นโครงการที่มีโครงการนำร่องประมาณ 10 ปี โดย สกว. สสค. เรื่องการศึกษาเชิงพื้นที่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า หากการจัดการศึกษามีขนาดเล็กลง และกระจายอำนาจให้กับพื้นที่ มากกว่ารวมอยู่ในส่วนกลางจะทำให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว
ดร.กฤษณพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนงาน Area based Education ได้ดี ต้องมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ในการจัดการศึกษาซึ่งรวมถึง Area based Education ด้วย ซึ่งขณะนี้มองเรื่องงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักซึ่งเป็นกลไกทางการเงินเพื่อการศึกษามาตลอด ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ของงบประมาณแผ่นดิน บางปีสูงถึงร้อยละ 20 ปีที่แล้วผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) 16 ล้านล้านบาท เป็น 6 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากตอนนี้มีแต่การนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้
โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะ Renovate (ปรับปรุง) ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าระบบงบประมาณแผ่นดินได้ โดยต้องมองงบประมาณการศึกษาในเชิงพื้นที่กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ขณะที่งบประมาณอีกอย่างคือ ไทยมีตลาดทุนในประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก ปีที่แล้วรายได้ตลาดทุนเป็น 13 ล้านล้านบาท เป็น 5 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีที่แล้วกำไร 9.86 แสนล้านล้านบาท หรือร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน ประเทศไทยมีเงินตรงนี้มหาศาล จะทำอย่างไรให้นำมาใช้ด้านการศึกษาได้
“ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรเราจะเข้าถึงแหล่งทุนใหญ่แบบนี้ ซึ่งต้องมีนโยบายผลักดัน เกิด Political Agenda (วาระทางการเมือง) ซึ่งขณะนี้มีการระดมทรัพยากรจากตลาดทุน มีการออกพันธบัตร มีการระดมทุนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมจนเกิดพันธบัตรที่เรียกว่า Green Bond แล้วทำไมเราจะเกิด Education Bond ไม่ได้ เพื่อให้เกิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในจังหวัดใหญ่ๆที่เป็นไปได้ อาจจะต้องคิดใหม่เรื่องภาษีที่มีการระบุเป้าหมายชัดเจน หรือ Earmark Tax ซึ่งอาจจะทำในระดับประเทศหรือจังหวัดก็ได้” ดร.กฤษณพงศ์ ระบุ
ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. ฝากทิ้งท้ายว่าอยากให้ผู้ที่ทำงานในระดับพื้นที่ช่วยกันมองปัญหาทางโครงสร้างในการจัดการศึกษาหรือสวัสดิการที่มีความเหลื่อมล้ำการระดมทรัพยากรจากแหล่งทุนใหม่ นอกจากการใช้งบประมาณแผ่นดินหรือเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ กสศ.คาดหวังว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะสามารถเชื่อมกลไกของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่นำไปสู่ความร่วมมือในพื้นที่ต่อไป
หมายเหตุ : สกว. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปัจจุบันคือ สกสว. หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่วน สสค. หรือสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ปัจจุบันคือ กสศ. หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี