1 ต.ค.65 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ และจะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อใดออกมาแล้ว ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ผมเห็นว่าผลการวินิจฉัยครั้งนี้เป็นไปในแนวทางที่ควรจะเป็น เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดแล้ว
ผมได้เคยโพสต์เรื่องนี้ 2 ครั้ง ในวันที่ 20 และวันที่ 25 สิงหาคม จึงขอนำข้อความบางข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในวันที่ 20 สิงหาคม และในวันที่ 25 สิงหาคม มาให้อ่านอีกครั้งดังนี้
"ยังเชื่อว่าแนวทางที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดน่าจะเป็นแนวทางที่ 3 คือให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ 6 เมษายน 2560 ไม่ย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น หากเป็นเช่นนั้น พลเอก ประยุทธ์ก็จะยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงเวลาที่มีการประชุม APEC แต่หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพลเอก ประยุทธ์แล้ว ว่าจะยังคงเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่ เพราะหากได้เป็นนาiยกรัฐมนตรีอีกสมัยจากการเลือกตั้ง ก็จะมีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ช่วงหลังการประชุม APEC จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หากคิดจะวางมือทางการเมือง"
*โพสต์เมื่อ 20 สิงหาคม 2565
เชื่อได้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละท่านมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครไปโน้มน้าว และยิ่งไม่มีใครไปสั่งท่านได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกหากจะเห็นการลงมติที่ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ และอาจเป็นการลงมติที่คะแนนเสียงก้ำกึ่งเสียด้วยซ้ำ
*โพสต์เมื่อ 20 สิงหาคม 2565
"มีบางคนไปนำเอากรณีคุณ สิระ เจนจาคะ มาเทียบเคียง คุณสิระถูกร้องว่าเคยต้องโทษคดีฉ้อโกง อันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับตำแหน่ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คุณสิระพ้นจากตำแหน่งส.ส. ไม่ใช่ตั้งแต่วันที่ถูกร้อง แต่ให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ได้ตำแหน่งส.ส. ซึ่งเท่ากับว่า คุณสิระไม่เคยเป็นส.ส.มาเลยนั่นเอง แต่กรณีคุณสิระ ไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายบังคับย้อนหลัง เพราะในวันที่คุณสิระสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งส.ส. คุณสิระขาดคุณสมบัติที่จะเป็นส.ส.แล้วตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังบังคับใช้ขณะนั้น ซึ่งก็เป็นฉบับเดียวกับฉบับปัจจุบัน ดังนั้นกรณีของคุณสิระจึงเป็นคนละกรณีกับพลเอก ประยุทธ์ซึ่งนำมาเทียบเคียงกันไม่ได้โดยสิ้นเชิง "
*โพสต์เมื่อ 25 สิงหาคม 2565
"ขณะนี้ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ผลการวินิจฉัยจะออกมาในแนวทางใดใน 3 แนวทาง แต่คาดได้เพียงว่าผลการวินิจฉัยจะไม่ออกมาอย่างที่ "ฝ่ายแค้น" ออกมาประโคมโหมกันทุกวัน เพราะนั่นไม่ใช่เป็นการประโคมโดยปราศจากอคติ แต่เป็นการตั้งใจไม่ใช้เหตุผลและข้อกฎหมาย แต่เอาผลลัพท์ที่ตัวเองต้องการเป็นตัวตั้ง แล้วทำให้ผู้อื่นเชื่อตาม ดังนั้นจึงจะต้องผิดหวังอย่างแน่นอน"
*โพสต์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565
จะเห็นว่าแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ พวกที่ออกมาโจมตีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นคุณสมบัติตามปกติของคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ หากผลการตัดสินของศาลออกมาแล้วถูกใจ ถือว่าศาลมีความยุติธรรม หากผลการตัดสินของศาลออกมาไม่ถูกใจ ถือว่าศาลไม่มีความยุติธรรม มีการขู่ว่า จะลงถนนประท้วง แต่ก็เชื่อว่าม็อบครั้งนี้ไม่น่าจะจุดติด เพราะไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเรียกคนได้ จะมีก็เพียงพวก hard core ที่ไม่ค่อยใช้เหตุผลเท่านั้น จึงไม่น่ากังวลว่าจะมีความวุ่นวายอย่างที่บางคนเป็นห่วง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ เมื่อลุงตู่ได้ไปต่อ แต่ไม่ได้ไปต่อจนสุดซอย จึงต้องมีการตัดสินใจว่าจะไปต่ออย่างไร จะไปต่อจนงานประชุม APEC ผ่านพ้นไปแล้วจึงยุบสภา หรือจะรอให้สภาหมดวาระแล้วจึงค่อยเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเลือกทางไหน คำถามคือ ลุงตู่จะต้องการลงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ที่ต้องตระหนักอย่างยิ่งก็คือ การลงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ย่อมมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ที่อาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปี หลังจากนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้
จังหวะเวลาช่วงนี้ ไม่ว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะกล่าวคำว่า "ผมพอแล้ว" แล้วลงจากเวทีการเมืองด้วยความสง่างามและเป็นที่ชื่นชม เสนอไว้ด้วยความหวังดีครับ
ขอบคุณข้อมูลเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr