วิปรัฐบาลเตรียมรวมชื่อยื่นส่งศาลรธน. วินิจฉัยพ.ร.ก.เลื่อนกฎหมายอุ้มหายไม่ต้องลงมติ เหตุหากกม.นี้ตก จะเหมือนพรรคร่วมรบ.ทิ้งเพื่อนทิ้งพี่ ด้าน"ปธ.วิปรัฐบาล"แจงเข้าชื่อยื่นคำร้องศาลรธน.วินิจฉัยฯ หวั่นอาจขัดรธน. ปัดเตะถ่วง-สกัดลงมติ ยันต้องรอบคอบ-ป้องผิดพลาด
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความเห็นของวิปรัฐบาลต่อ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่มีผลให้เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา ออกไปจากเดิมที่มีผล 22 ก.พ.2566 เป็น 1 ต.ค.2566
โดย นายชินวรณ์ กล่าวว่า ถือเป็น พ.ร.ก.ที่ทุกฝ่ายไม่เห็นด้วย ทั้งการแก้ไขยืดเวลาตามกฎหมายเดิม ทุกฝ่ายมีข้อสงสัยว่าการเสนอ พ.ร.ก.ฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ โดยเฉพาะการเสนอ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อความปลอดภัยมั่นคงของประเทศ แต่กรณีดังกล่าวนี้เป็นเรื่องความไม่พร้อมของส่วนราชการที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 4 มาตรา แม้ในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้จะมีการลงมติหรือไม่ ก็ไม่เป็นผลอยู่ดี
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า แต่ข้อสงสัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญกว่า จึงสมควรที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะต้องเข้าชื่อกันเพื่อยื่นต่อประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และยังเป็นการย่นระยะเวลาแทนที่จะรอไปถึง 6 เดือนเพื่อให้ พ.ร.ก.หมดไป เพราะศาลจะต้องวินิจฉัยมาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันเท่านั้น ซึ่งเหตุผลอีกประการคือ หากพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย แต่รวมเสียงข้างมากไม่ได้ ก็จำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในช่วงเช้านี้เพื่อรวมรายชื่อให้ถึง 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อส่งให้ประธานสภาฯ ต่อไป ซึ่งตนจะนำแนวคิดนี้ไปหารือในที่ประชุมหรือรัฐบาล
"เนื่องจากเป็นช่วงวิกฤตสุดท้าย หาก พ.ร.ก.นี้ไม่ได้รับการอนุมัติ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบโดยตรง จึงเป็นเรื่องไม่สวยงามหากพรรคร่วมรัฐบาลจะมาทิ้งพี่ ทิ้งเพื่อน ในช่วงวิกฤตเช่นนี้" นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่าหากมีการยื่นรายชื่อให้ประธานสภา ตรวจสอบแล้วรายชื่อถูกต้อง ก็จะดำเนินการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะสั่งปิดประชุมทันทีโดยไม่ต้องลงมติ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะรวมรายชื่อพร้อมยื่นได้เสร็จภายในก่อน 12.00 น.ของวันนี้
ด้าน นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการลงมติตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอเลื่อนการขยายบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ว่า แนวทางพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการเข้าชื่อเตรียมยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผ่านไปยัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งเห็นว่าการที่สภาฯ ได้เห็นชอบออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติแล้ว ต่อมารัฐบาลจะขอออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อขอขยายระยะเวลาซึ่งจะเป็นการออกทับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการจะออกพระราชกำหนดได้มีเงื่อนไขกำหนดไว้อยู่ว่าจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นฉุกเฉิน
"เชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนาที่จะเตะถ่วงหน่วงรั้งเพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายล่าช้า แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และจะต้องดูแลความเรียบร้อยของหน่วยงานและกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดจึงมีการขอขยายระยะเวลาใช้กฎหมายออกไปก่อน" ประธานวิปรัฐบาล กล่าว
นายนิโรธ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมมีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ของรัฐบาล โดยไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า แม้สภาฯ จะมีอำนาจในการโหวต แต่ก็มีหลายครั้งที่ถูกนำไปยื่นตีความในศาลรัฐธรรมนูญภายหลัง และสภาฯ ก็เสียหายผิดพลาดกับการโหวต ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ ไม่ใช่สภาฯ เกิดความเสียหาย เรื่องนี้จึงควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
เมื่อถามว่า การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เหมือนเป็นการยื้อเท่ากับระยะเวลาการขอขยายการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า ไม่ใช่การยื้อแต่เป็นการให้หน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายได้มีระยะเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เดินหน้าได้ แต่ส่วนคำร้องก็เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้มองได้ 2 มุม หากมองในแง่ร้ายก็เป็นการยื้อ แต่ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมาการออก พ.ร.ก.ไม่น่าจะเป็นไปโดยชอบ ด้วยการประชุมเว็บรัฐบาลวันนี้ก็ได้มีการเชิญตัวแทนตำรวจมาให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงเหตุผลความสมควร โดยเฉพาะความไม่พร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย และเหตุผลในการขอขยายเวลาด้วยการออก พ.ร.กผ่านไปยังรัฐบาล ซึ่งมีความจำเป็นเพียงใด ทั้งที่มีเวลาในการเตรียมความพร้อม ส่วนกรณีที่กฎหมายต้องชะงักไป ใครจะต้องรับผิดชอบนั้น เชื่อว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะมีแนวทางที่จะเลือกคือลาออก หรือยุบสภา หรือไม่รับผิดชอบเลยก็ได้ แต่คิดว่ารัฐบาลคงเลือกยุบสภาเพราะได้เตรียมการยุบสภาแล้ว เพื่อให้ประเทศและหน่วยงานเดินหน้าได้ไม่กระทบประชาชน
- 006