วันก่อน “คริส โปตระนันทน์” พร้อมคณะผู้บริหารพรรคเส้นด้ายเข้าเยี่ยมเยียนกองบรรณาธิการแนวหน้า ซึ่ง “พรรคเส้นด้าย”ผู้หาญกล้า ออกมาจากก้าวไกลและอนาคตใหม่ ชูนโยบายของตัวเอง “พรรคของคนไม่มีเส้น” มีประเด็นน่าสนใจมากมาย
หลังจากที่ คริส โปตระนันทน์ ประกาศลาออกจากพรรคก้าวไกล พร้อมยืนกรานประกาศจุดยืนทางการเมืองด้วยการตั้งพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่าง “พรรคเส้นด้าย” ขึ้นมา กลายเป็นพรรคน้องใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะชื่อของพรรคมีที่มาจากการที่ คริส เป็นผู้ก่อตั้ง “กลุ่มเส้นด้าย” ซึ่งเป็นทีมอาสาสมัครที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างหนัก ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการรักษาของรัฐ จนกลุ่มเส้นด้าย เป็นอาสาสมัครที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากประชาชน
คริส โปตระนันทน์ อธิบายเหตุผลที่เขาตัดสินใจยกระดับ “เส้นด้าย” ขึ้นมาเป็นพรรคการเมือง เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงที่ทำงานในฐานะอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทำให้เขาพบว่า ตลอดช่วงระยะเวลาการทำงานภายใต้ชื่อเส้นด้าย เขาได้เห็นและสัมผัสชีวิตของกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางทางสังคมอยู่ตลอดในช่วงเวลาอันยากลำบาก ซึ่งทำให้เขามองเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูเปรียบเทียบโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขระหว่างคนรวยกับคนจนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็จะพบว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เข้าไม่ถึงบริการต่างๆจากรัฐทั้งที่หลายคนเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพียงเพราะมีฐานะยากจน ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว หรือ ไม่มีเส้นสาย นั่นเอง ดังนั้นหนึ่งในปัญหาที่กำลังกัดกินประเทศไทยอย่างร้ายแรง ก็คือ ระบบเส้นสาย”
คริส จึงมีข้อสรุปกับตัวเองและเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกจำนวนหนึ่งว่า การทำงานในฐานะอาสาสมัครเพียงเท่านั้นคงไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ได้ทั้งหมด ซึ่งการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องอาศัยแรงผลักดันในทางการเมือง เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กำจัดระบบอุปถัมภ์ ทำลายระบบเส้นสายให้หมดไป ดังนั้นจึงตั้ง “พรรคเส้นด้าย” ขึ้น โดยหวังว่าจะสามารถเป็นตัวแทนของประชาชน “คนไม่มีเส้น” เข้าไปผลักดันสิ่งเหล่านี้ในสภาผู้แทนราษฎร
พรรคเส้นด้าย ยังมีแนวคิดว่า การจะทำให้คนไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดี ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจเสรี” คือ การลดอำนาจของหน่วยงานรัฐในการพิจารณาอนุญาตต่างๆ เพราะอำนาจรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ผ่านระบบเส้นสายมาตลอด พร้อมยืนยันว่า พรรคเส้นด้าย จะเป็นพรรคการเมืองแรก ที่กล้าพูดความจริงกับประชาชนว่า ไม่มีนโยบาย “แจกฟรี” เหมือนที่เกือบทุกพรรคการเมืองกำลังแข่งกันนำเสนอผลประโยชน์ให้ประชาชน โดยไม่กังวลว่าเมื่อพูดไปแล้ว จะไม่ได้รับความนิยม เพราะนโยบายเหล่านั้นไม่สามารถทำได้จริง หากมองถึงภาระค่าใช้จ่ายของประเทศที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม ประชาชนจะยิ่งลำบากกว่าเดิม ลูกหลานในอนาคตจะต้องกลายเป็นคนแบกรับภาระหนี้สินจากการแจกเงินของพรรคการเมืองในวันนี้ และที่สำคัญคือ นโยบายลดแลกแจกแถมเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดระบบเส้นสายขึ้น มีเป้าหมายแฝงเพื่อเอาเงินของรัฐที่แจกมาให้ประชาชน ถูกใช้กลับหล่อเลี้ยงธุรกิจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมาตลอด
พรรคเส้นด้าย จึงมีสโลแกนว่า “พรรคของคนไม่มีเส้น”
จากการพูดคุยอย่างเปิดใจถึงการนำชื่อ “เส้นด้าย” มาใช้เป็นชื่อพรรคการเมือง จนอาจทำให้มีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจ คริส เปิดเผยว่า เขาไม่กังวลในเรื่องนี้เพราะบทบาทและการทำงานของพรรคเส้นด้ายถูกแยกออกจากมูลนิธิเส้นด้ายเป็นคนละองค์กรกันอย่างสิ้นเชิง โดยมูลนิธิเส้นด้ายจะยังคงทำงานเพื่อสังคมต่อไป ในขณะที่พรรคเส้นด้าย จะขยับมาผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาของประเทศในระดับที่ใหญ่กว่ามูลนิธิ และเชื่อว่าพรรคเส้นด้ายจะสามารถเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสังคมได้มากกว่าการลงพื้นที่ทำงานช่วยเหลือทางสาธารณสุขอย่างที่เคยทำมา
“พรรคเส้นด้ายกับมูลนิธิเส้นด้าย ทำงานต่างกันแน่นอนครับ ในส่วนของมูลนิธิเส้นด้าย จะยังคงทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ หนึ่ง ทำเรื่องสาธารณสุขให้ประชาชน และสอง กระทำการใดๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม…โดยพรรคเส้นด้ายจะเป็นอะไรที่ต่างจากนั้นครับ ศัตรูของกลุ่มเส้นด้ายคือระบบเส้นสาย ผมเลยตัดสินใจที่จะทำพรรคการเมืองขึ้นมา โดยคิดบนพื้นฐานที่ว่า การเป็นนักการเมืองไม่ได้เป็นการทิ้งบทบาทจิตอาสา และในจิตวิญญาณของการเป็นอาสา ผมจะถ่ายทอดมันออกมาในทางการเมืองให้ได้ ซึ่งตอนนี้ผมว่าพรรคเส้นด้ายพร้อมแล้วที่จะเป็นพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้เหล่าอาสานั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมให้มากกว่าที่อาสาสมัครเหล่านั้นเคยช่วยไว้”
นอกจากนี้ คริส ยังกล่าวถึงนโยบายด้านอื่นๆ ของพรรคเส้นด้ายด้วย เช่น การจะทำให้น้ำมันมีราคาถูกลง จะต้องยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ต้องยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพราะการเก็บเงินทั้ง 2 รูปแบบ ที่ทำกันมาตลอด เป็นเพียงการบิดเบือนกลไกราคาน้ำมันให้ผิดไปจากความป็นจริงมาก และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ คือ กลุ่มธุรกิจที่ผลิตเอทานอล ซึ่งก็คือ ระบบเส้นสายระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่อีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีประชาชนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย
หัวหน้าพรรคเส้นด้าย ยังยืนยันจุดยืนทางการเมืองของพรรคน้องใหม่พรรคนี้ด้วยว่าจะเป็นพรรคที่ทำตามความต้องการของประชาชนเป็นหลัก หากประชาชนต้องการให้แก้ไขกฎหมายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นมาตราใด พรรคเส้นด้ายก็จะดำเนินการตามความต้องการของประชาชน
“พรรคเราเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยแน่นอนครับ ผมมองว่าพรรคเส้นด้ายนั้นจะเป็นพรรคที่เวลาจะต้องทำอะไร ต้องดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เป็นพรรคที่ไม่นำประชาชน แต่จะให้ประชาชนเป็นคนนำพรรค อย่างเรื่องการแก้ไขกฎหมายต่างๆ พรรคเราสามารถเสนอให้มีการลงประชามติได้แล้วเราก็จะให้ประชาชนเป็นผู้ลงมติว่าจะเอายังไง แล้วถ้าผลลัพธ์ของประชามตินั้นออกมาเป็นอย่างไร พรรคเราก็ต้องยอมรับ ให้เป็นไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย”
ส่วนมุมมองที่ต่อเรื่อง งบประมาณของกองทัพ คริสโปตระนันทน์ ตอบอย่างชัดเจนว่า กองทัพไทย ไม่ได้ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงอาจมีความจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณลงไปพร้อมๆ กับการลดขนาดของกองทัพลงไปด้วย เช่น อาจจะต้องตัดกำลังพลที่มีเกินความจำเป็นออกไป เพื่อลดรายจ่ายของกองทัพลง และนำงบประมาณส่วนนั้นมาพัฒนาบุคลากรส่วนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นกับประเทศมากกว่าแทน
ในช่วงท้าย คริส ยังเปิดใจด้วยว่า การตั้งพรรคเส้นด้ายขึ้นมาไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะไปตัดคะแนนของพรรคก้าวไกลที่เขาลาออกมาอย่างแน่นอน แต่ที่ต้องตั้งพรรคเส้นด้าย เพราะต้องการนำเสนอนโยบายที่เขาเองได้ข้อสรุปแล้วว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดนำเสนอ ไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าพูดว่านโยบายแจกเงินจะเป็นปัญหาในระยะยาว ไม่มีพรรคใดยอมรับว่า นโยบายเหล่านั้นเป็นช่องทางให้ระบบเส้นสายยิ่งแข็งแกร่งในประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องการมีพรรคที่ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี ระบบเศรษฐกิจที่เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมปราศจากเส้นสายให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย