ยังมั่นใจ‘เพื่อไทย’ไม่ถอนตัว
‘พิธา’นั่งไม่ติด
เร่งเคลียร์ปมเก้าอี้ปธ.สภา
ยังมั่นใจ‘เพื่อไทย’ไม่ถอนตัว
ยันไม่ถึงขั้นโหวตแข่ง
‘ภูมิธรรม’จี้จับเข่าคุยกัน
ลั่นอย่าทำตามอำเภอใจ
‘โรม’เชื่อไม่ถูกลอยแพ
“พิธา” เชื่อทีมเจรจาถกปมเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” จบได้ ไม่ถึงขั้นโหวตแข่งกัน มั่นใจรอยร้าว “ก.ก.-พท.” สมานได้ ชี้แย่ง ปธ.สภาฯเรื่องเล็ก ขอพรรคร่วมฯ จับมือให้มั่น เปิดวงเจรจาปรับจูนการทำงาน “โรม” ยังเชื่อใจ“พท.” ไม่แตกคอพรรคร่วม หลังขัดแย้งเก้าอี้ ปธ.สภาฯ ลั่น ก.ก.ไม่ทำร้าย-เอาเปรียบใคร ยังไม่คิดถึงขั้นเป็นเกมถูกลอยแพ “เพื่อไทย” ตอบโต้“ก้าวไกล” ชี้ตำแหน่ง ประธานสภาฯมีหน้าที่ต้องผลักดันทุกนโยบายพรรคร่วม ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่งซัดเป็นรัฐบาลผสมควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน
เมื่อวันที่ 26พฤษภาคม2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณีข้อพิพาทเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า “เรื่อง #ประธานสภา ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่เล็กมาก ถ้าหากเทียบกับภารกิจที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้พวกเรามา ดังนั้นพรรคร่วมต้องจับมือเกี่ยวแขนกันไว้ให้มั่นคง ทำภารกิจยุติสืบทอดอำนาจรัฐประหาร พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยให้สำเร็จจงได้ พวกเราต่างก็รับทราบวิธีคิด หลักการ เหตุผลของทุกฝ่ายชัดเจนแจ่มแจ้งในประเด็นนี้แล้ว ดังนั้นผมขอให้เรื่องตำแหน่งประธานสภานี้ ให้พรรคร่วมไปพูดคุยกันผ่านตัวแทนแต่ละพรรคในวงเจรจาจะดีที่สุด ตอนนี้ ขอให้ทุกพรรคเดินหน้าทำงานปรับจูนนโยบายร่วมกัน ตั้งรัฐบาลให้สำเร็จตามความคาดหวังของประชาชนครับ”
‘พิธา’ให้ก.ก.-พท.คุยชิงเก้าอี้ปธ.สภา
เวลา 13.00น. ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า คิดว่าทั้ง 8พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลต้องร่วมมือกัน และมีการพูดคุยกัน โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาใน 2-3วันนี้ ทั้งตนและประชาชนต่างก็ได้ยินมาแล้วว่ามีความต้องการอย่างไร ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ การพูดคุยกันในทีมเจรจาที่เราได้ตั้งเอาไว้และปรับเรื่องของนโยบายในช่วงเวลาอีก 1-2เดือนข้างหน้า ที่จะทำนโยบายร่วมกันและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับไปพูดคุยกันในทีมเจรจา ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีทางออกในเรื่องประธานสภาฯแล้วหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่าคิดว่าทุกท่านก็มีทางออก ไม่ใช่แค่ตนคนเดียว ซึ่งต้องให้เกียรติพรรคร่วมอีก 7 พรรคที่เหลือ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพูดคุยกันอย่างไร แสดงเหตุและผลกันอย่างไร ทำให้ประชาชนไม่เสียกำลังใจและเสียความหวังและไม่เสียสมาธิในเรื่องใหญ่ๆของประเทศ เมื่อถามว่า จะต้องมีการโหวตเพื่อชิงตำแหน่งประธานสภา กันในสภาหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ต้องไปถึงจุดนั้น
แจงด้วยเหตุผล-สมานรอยร้ายได้แน่
เมื่อถามว่าเชื่อใจว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถอนตัวจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เชื่อใจ เวลาทำงานการเมืองก็ต้องเริ่มต้นจากการเชื่อใจซึ่งกันและกัน ถามว่ารอยร้าวของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะสมานได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ได้แน่นอน เป็นเรื่องปกติของการทำงาน ซึ่งอาจจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันแต่ถ้าเรานำประชาชนมาเป็นที่ตั้งและกลับมาพูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล ทุกอย่างมีทางออก เมื่อถามว่ามีความกังวล หรือไม่ กรณีที่แฟนคลับพรรคเพื่อไทยเตรียมจัดชุมนุมในวันอาทิตย์นี้ (28 พ.ค.) ให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล นายพิธา ตอบว่า ไม่ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แต่กระบวนการสำคัญคือการพูดคุยกันการปรับจูนเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้เหมือนอย่างที่ประชาชนได้ไว้วางใจเรา
‘โรม’ยังเชื่อใจพท.ไม่แตกคอพรรคร่วม
นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นตำแหน่งประธานสภาฯหลังเกิดกระแสความขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยว่าตอนนี้มีหลายความเห็น แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล เชื่อมั่นว่า การมีตำแหน่งประธานสภาฯจะเกิดประโยชน์ หากเป็นคนของพรรคก้าวไกล
“หากให้พูดตรงไปตรงมา พรรคก้าวไกลมีหลายวาระที่ต้องการผลักดันซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสังคมเช่นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การทำให้กฎหมายเปลี่ยนประเทศสามารถดำเนินการได้ รวมถึงกลไกที่จะทำให้โครงสร้างของสภามีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอย่างเรื่องของงบประมาณของสำนักงบสภาฝ่ายกฎหมายที่เราอยากจะยกระดับพรรคก้าวไกลยังมีโครงการที่จะผลักดันสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลไกที่อยากทำให้การเมืองเปลี่ยนไป ยืนยันว่าก้าวไกลไม่ต้องการทำร้ายใครหรือเอาเปรียบใคร ส่วนที่ทำไปทั้งหมดต้องการทำเพื่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ หากไม่ได้ทำ ประชาชนก็ลงโทษเราได้ผ่านการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นกลไกของวิถีประชาธิปไตย “เราต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง เรามีตำแหน่งไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่มีตำแหน่งเพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งประธานสภาฯมีความสำคัญและที่สำคัญคือความเป็นกลางและทำให้เสียงข้างน้อยมีสิทธิมีเสียงเกิดความราบรื่นในการตรวจสอบถ่วงดุล”นายรังสิมันต์ ย้ำ
เมื่อถามว่า ยืนยันหนักแน่นหรือไม่ว่าหลักการตำแหน่งประธานสภาต้องมาจากพรรคอันดับ1 นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรามองหลายมิติ ถ้าพรรคก้าวไกลได้ที่นั่ง141ที่ แล้ว เพื่อไทยได้กลับกันเป็น151ที่นั่ง พรรคก้าวไกลจะไม่บอกเลยว่า จะขอตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะเราเข้าใจดีว่า พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯด้วย คิดว่าถึงที่สุดอายุหรือสมัยสส.ไม่ได้เป็นตัวชี้วัด จำนวนสมัยของพรรคก้าวไกลที่ได้เป็น สส.อาจจะไม่เท่าพรรคการเมืองอื่น แต่สามารถทำได้
ส่วนเก้าอี้ประธานสภาฯ จะเป็นตัวการันตีความเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกลด้วยหรือไม่ เนื่องจากหลายคนกังวลว่าก้าวไกลจะถูกลอยแพ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยังไม่คิดถึงขั้นนั้น บนพื้นฐานที่ทำงานอยู่ ทุกคนที่เข้ามา เราให้ความไว้วางใจอย่างเต็มที่ เพราะท้ายที่สุดต้องคุยกันหลายเรื่อง ยืนยันว่าข้อกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกล กินรวบทุกตำแหน่ง ไม่เป็นความจริง
ชู45ร่างกม.เปลี่ยนประเทศดันถกในสภา
เฟซบุ๊กเพจของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ประเด็น 45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลพร้อมผลักดันในสภา โดยระบุว่า ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน โดยเรามีร่างกฎหมายอย่างน้อย 45ฉบับ เตรียมยื่นต่อสภาฯ แบ่งเป็นด้านต่างๆ อาทิ 1.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเมือง 11ฉบับ เป็นร่างกฎหมายที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ปฏิรูปกองทัพ เอาทหารออกจากการเมือง และป้องกันรัฐประหาร เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด 2.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ8 ฉบับแก้ไขกฎหมายเพื่อลดโทษทางอาญาในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เช่น การหมิ่นประมาท การฟ้องปิดปาก ความผิดตามมาตรา 112 และ 116 รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ให้เป็นการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ตามเจตนารมณ์เดิม ไม่ใช่นำมาใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ และการกำหนดโทษแก่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่จงใจบิดเบือนข้อกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้บุคคลทุกเพศสามารถแต่งงานกันได้ และการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สิทธิในการเลือกคำนำหน้านาม และสิทธิของคนข้ามเพศ
กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น-เร่งปฎิรูปที่ดิน
3.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ4ฉบับ ปลดล็อกอำนาจท้องถิ่นในการให้บริการสาธารณะอย่างมีอิสระมากขึ้น เช่น อำนาจในการดูแลถนนและสะพานทุกเส้นในพื้นที่ ที่ไม่ใช่ถนนเชื่อมระหว่างเมือง, การอนุญาตการเดินรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่, การอนุญาตกิจการประปาขนาดเล็กในพื้นที่ รวมไปถึงการมีกลไกควบคุมคุณภาพน้ำประปาและบทลงโทษผู้ให้บริการประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน 4.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ 6 ฉบับยกเครื่องประสิทธิภาพของระบบราชการ ให้เป็น ‘ราชการเพื่อราษฎร’ ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างรัฐโปร่งใส ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลแทบทุกชิ้นที่รัฐมีอยู่ได้, การทำให้คนโกงวงแตก ด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อนให้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน, การแก้ไขปัญหาการรอการอนุญาตที่ยาวนานของทางราชการ โดยกำหนดให้ใบอนุญาตเกือบทุกประเภทต้องสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายใน 15 วันหลังยื่นขอ 5.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับปัญหาการจัดสรรที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนซึ่งถูกกล่าวหาว่ารุกที่ป่า ทั้ง ๆ ที่บริเวณนั้นไม่ได้มีสภาพเป็นป่ามานับร้อยปีแล้ว เช่น ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. โดยการเปลี่ยนที่ดิน สปก.ให้เป็นโฉนด อย่างเป็นธรรม คืนให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ และแก้ไขปัญหา ‘ปลูกมะนาวกลางกรุง’ ด้วยการแก้ไข พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ผลักดันกม.เศรษฐกิจ4ฉบับ-กม.ประมง
6.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 4ฉบับ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดในธุรกิจผูกขาด โดยเฉพาะธุรกิจสุรา ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถผลิตสุราได้, เพิ่มเงื่อนไข สร้างกลไกป้องกันทุนใหญ่กินรวบผูกขาดทางการค้า, ปรับบทลงโทษ ลดเงื่อนไข แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออก พ.ร.ก.ประมง สมัย คสช.ที่ทำให้การประมงไทยตกต่ำ และการเก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนที่มีทรัพย์สินรวมเกิน 300ล้านบาท 7.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับสิทธิในการหายใจด้วยอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน จึงต้องมีกฎหมายเพื่อรับประกันสิทธิและสร้างเครื่องมือในการลงโทษผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียงได้ตระหนักเตรียมพร้อมรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ต้องมีการสร้างกลไกการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง เช่น การสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตภาคบังคับสำหรับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก
แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน
8.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน 2ฉบับประกันสิทธิในการรวมตัวกันของแรงงานทุกประเภท เสริมสร้างสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องแรงงานทุกคน อาทิ การกำหนดให้ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ (หยุดเสาร์-อาทิตย์) หากเกินต้องมีOTการลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง 180วัน แบ่งวันลากันได้ระหว่างพ่อ-แม่ การห้ามเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน เช่น การห้ามบังคับตรวจโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราเดินบนเส้นทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กฎหมายทั้ง 45 ฉบับนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยมีการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต
พท.ย้ำประธานสภาของประชาชนทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อคืนวันที่ 25 พฤษภาคม พรรคเพื่อไทยถึงกรณีเก้าอี้ประธานสภาฯ โดยระบุว่าประธานสภามีหน้าที่ควบคุมการประชุมสภา และเปิดทางผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลผสมมีภารกิจสำคัญในเอ็มโอยูร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก หากจะยกกรณีที่ พท.ชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกรัฐมนตรี และประธานสภามาโดยตลอด ไม่มีพรรคอันดับสองได้ นั่นเป็นเพราะ พท.ชนะเลือกตั้งเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุน กรณีนี้เราชนะมาด้วยกันก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
แฟนคลับแห่หนุน-เชียร์ดัดหลังถอนตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุด“พรรคเพื่อไทย”โพสต์เรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ผ่านทางเฟซบุ๊กของพรรคเพื่อไทยมีเนื้อหาดังนี้ “ประธานสภา ควรเปิดทางผลักดัน ‘ทุกนโยบาย’ ของ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้นปัจจุบันที่เป็น ‘รัฐบาลผสม’ มีภารกิจสำคัญใน MOU ร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย หากจะพิจารณากันอย่างถ่องแท้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา116และ119ประธานสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยเป็นประธานของ สส.ทั้งสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รัฐธรรมนูญมาตรา116 จึงบัญญัติว่าประธานและรองประธานสภาผู้แทนจะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองในเวลาเดียวกันไม่ได้ ประธานสภาจึงต้องผลักดันญัตติใดๆไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือประชาชนเข้าสู่สภา ไม่เลือกปฏิบัติ และหาทางลดอุปสรรคทั้งหลาย ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก
หากจะยกกรณีที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกฯ และประธานสภามาโดยตลอด ไม่มีพรรคอันดับสองได้ นั่นเป็นเพราะเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุนในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด” ทั้งนี้ หลังพรรคเพื่อไทยได้โพสต์เรื่องดังกล่าวได้มีผู้สนับสนุนพรรคแชร์ข้อความออกไปเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ พท.และบางส่วนเชียร์ให้พรรคเพื่อไทย“ถอนตัว”จากการร่วมรัฐบาล
‘ภูมิธรรม’ชี้ต้องคุยในทีมเจรจา2ฝ่ายให้จบ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงย้ำถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า จะต้องเป็นของพรรคก้าวไกล เพื่อความรวดเร็วในการผลักดันกฎหมาย 45ฉบับตามนโยบายพรรค รวมทั้งกฎหมายของพรรคอื่นและกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนว่า เดิมทีทั้งสองพรรคมีการตั้งทีมเจรจาในเรื่องต่างๆ อยู่ รวมถึงเรื่องของตำแหน่งประธานสภาด้วย ซึ่งทีมเจรจาของพรรค พท.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ควรเป็นของพรรค พท.เพราะพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว ทางทีมเจรจาของพรรคก้าวไกลได้ระบุว่าจะรับไปพิจารณาหารือกันภายในแล้วจะประสานกลับมา ซึ่งทางเราก็รออยู่จนถึงตอนนี้และยังไม่ได้รับการประสานกลับมา เพื่อเชิญเราพูดคุยถึงเรื่องนี้ ดังนั้นการแถลงหรือพูดเรื่องดังกล่าวของสมาชิกพรรคก้าวไกลถือเป็นเสียงสะท้อนของบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่ตัวแทนของทีมเจรจา
“ทุกพรรคมีสิทธิ์คิดได้ แต่ควรหารือกันด้วยเหตุผลจนได้ข้อสรุปผ่านทีมเจรจาของทั้งสองฝ่ายก่อนที่ใครจะมาแถลงต่อสาธารณะ หากตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรค พท.การเดินหน้าผลักดันกฎหมายต่างๆ ย่อมว่ากันไปตามกฎหมาย กฎระเบียบวาระของสภาฯ ไม่มีอะไรที่ต้องขัดแย้งหรือต้องวิตกกังวล อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ ทุกเรื่องว่ากันไปตามกฎระเบียบข้อบังคับ ไม่ใช่ว่ากันตามอำเภอใจของใครหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง” นายภูมิธรรม กล่าว
‘สุธรรม’เชื่อไม่กดดันถอนตัวร่วมรบ.
นายสุธรรม แสงประทุม ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท.ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในทิศทางที่ถูกต้อง โดยให้ความไว้วางใจฝ่ายประชาธิปไตย 30ล้านเสียงเป็นอย่างน้อยและขอชื่นชมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์พอสมควร แต่อยากให้กกต.ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการให้ชัดเจนเพื่อให้กลไกทางสภาฯที่ประชาชนคาดหวังสามารถเดินหน้าต่อไป
เชื่อตกลงกันได้เรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ
เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่บ้างนั้น นายสุธรรม กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยปรึกษาหารือกันซึ่งยังมีเวลาอีกประมาณ 15วัน ยังทันที่จะหาคนที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่ดีที่สุดสำหรับพรรคใดพรรคหนึ่ง อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ โดยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯเป็นกลไกสำคัญในการจะต้องมาทำงานไม่อยากให้กลไกลนอกสภาฯมาพลิกผันเจตนาลวงจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าทุกฝ่ายตกลงกันได้ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ โดยเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง
เชื่อปม‘ปธ.สภาฯ’ไม่ทำ‘พท.’ถอนตัว
เมื่อถามว่า ปัญหาเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯจะเป็นแรงกดดันถึงขั้นให้ พท.ถอนตัวจากการจัดตั้งรัฐบาลเลยหรือไม่ นายสุธรรม กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเชื่อว่าพรรค พท.มีวุฒิภาวะ ทางการเมืองผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะประสบความสูญเสียที่หนัก การยึดอำนาจแต่ละครั้ง การทำลายพรรค หลายหนทุกรูปแบบทำให้เราทนทานและมีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอจึงเชื่อว่าพรรค พท.จะรับรู้ความรู้สึก ความคาดหวังของประชาชนและเป็นผู้ใหญ่ที่จะนำพาเจตนารมณ์นี้ให้ประสบความสำเร็จได้ และเชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรคมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองและคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน“
โยนที่ประชุมสภาฯชี้ขาดเลือกปธ.สภา
เมื่อถามถึงข้อเสนอที่จะให้คนของพรรคการเมืองอื่นเช่นพรรคประชาชาติ (ปช.) ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แทนนั้น หากสองพรรคตกลงกันไม่ได้ นายสุธรรม กล่าวว่า ต้องให้สภาฯ เป็นผู้หาคำตอบ เข้าใจว่าความคาดหวังมีหลายแบบแต่ท้ายที่สุด ที่ลงทุนเลือกตั้งใช้งบประมาณมหาศาลและรอคอยกันมาอยากเห็นดอกผลนี้ปรากฏเป็นจริงไม่อยากให้มีคำว่าเสียของเสียโอกาส เพราะถ้าเสียโอกาสครั้งนี้จะน่าเสียใจมาก ไม่อยากทำให้ประชาชนเสียใจอยากให้เดินไปอย่างราบรื่น เพราะหนทางข้างหน้ายังมีอีกเยอะที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน เชื่อว่าเรื่องจุกจิกต่างๆ จะคลี่คลายได้ถ้าร่วมมือร่วมใจกัน
เมื่อถามถึง กรณีที่มีการเทียบตัวเต็งว่าที่ประธานสภาฯ ระหว่างสองพรรคการเมือง เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. หรือนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.นั้น นายสุธรรม กล่าวว่า ไม่ขอให้ความเห็น เรื่องความเหมาะสมขอให้สภาฯ เป็นผู้ตัดสิน เพราะรอบคอบกว่า แต่ฟังความเห็นจากหลักหลายคนก็อาจจะแตกต่างกัน เช่นนายชวน หลีกภัย ก็อาจจะมีความเห็นดีๆเพียงแต่ไม่ได้แสดงความเห็นมาและเชื่อว่าสภาฯจะมีครรลองในการหาทางออกที่สงบสันติที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นทางออกที่ดีมากกว่าต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างแสดง
‘วันนอร์’ แนะเคลียร์ใจปมร้อนชิงเก้าอี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองคุณสมบัติประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรและในฐานะประธานรัฐสภาต้องทำหน้าที่ประสานงานกับสมาชิกทุกพรรคการเมือง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม และเป็นตัวแทนของรัฐสภาทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องมีความเหมาะสมในหลายประการ เพราะเป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องประสบการณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความตั้งใจย่อมสำคัญกว่า ไปจนถึงความเหมาะสม บุคลิกภาพการวางตัวก็สำคัญ ส่วนวัยวัยอายุนั้น ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับยุคสมัยนี้ เดี๋ยวนี้คนหนุ่มคนเก่งเยอะ อาจจะดีกว่าผู้สูงอายุด้วยซ้ำไป
เมื่อถามว่า การที่มีความพยายามต่อรองของพรรคอันดับ 2 จะทำอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนก็อยากให้ คุยกัน ซึ่งยังมีเวลาจนกว่าจะมีการรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน ควรจะคุยกันภายในให้ตกลงกันได้ระหว่างหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคทั้งสองฝ่าย ไม่ควรจะเอาความขัดแย้ง ไปกระจายออกข้างนอก เพราะประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศและต่างประเทศได้ ถ้ามัวทะเลาะกันความเชื่อมั่นก็จะลดไป ดังนั้นไม่ควรเอาความขัดแย้งแสดงออกข้างนอก การสร้างความเข้าใจหาข้อตกลงที่ดี ควรทำเป็นการภายในจะดีกว่า
‘ศิธา’ซัด’ชลน่าน’แย่งเก้าอี้บบไม่อายลุง
น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนา และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า”คือกุ 6เสียง ผู้เชียร์พรรคฝ่าย ปชต.ยิ่งกว่าเชียร์พรรคตัวเองมาตลอด พอออกมาพูด อยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้รักกัน, หมั้นกัน, แพ็คกัน ให้แน่นเท่านั้นแหละ ด่ากุไม่มีมารยาท จะต่อยกุ ให้กุไปพูดหลังบ้าน, ห้ามออกสื่อ ไม่งั้น141 จะทบทวนตัวเอง ทั้งที่กุไม่ได้พูดเพื่อพรรคตัวเองสักนิด แต่พอตัวเองอยากเป็นปธ.สภาฯ ปล่อยลูกน้องออกมาโต้ผ่านสื่อพรึ่บ เต็มฟีดทุกแพลตฟอร์ม แย่งชิงตำแหน่งกันแบบไม่อายลุง มัยไม่ถามหา #มารยาท บ้างอ่ะ”