รุมร้องปมคนนอกครอบงำ
ก้าวไกล-เพื่อไทย
เข้าข่ายผิด/โทษถึงยุบพรรค
‘สนธิญา’จี้กกต.เชือดเอาผิด
‘ศรีสุวรรณ’ยื่นหลักฐานเพิ่ม
‘ช่อ-ปิยบุตร’ปมยุยึดปธ.สภา
“สนธิญา” ยื่นคำร้อง กกต.ยุบก้าวไกล ปล่อย “ปิยบุตร” ครอบงำ พร้อมไล่เจาะยาง “เพื่อไทย” ปม “ทักษิณ” ชี้นำ ย้ำ “อุ๊งอิ๊ง” แคนดิเดต
นายกฯ บินไปเยี่ยม “แม้ว-ปู”แบบโฉ่งฉ่าง อาจมีปัญหาข้อกฎหมายได้ โทษถึงขั้นยุบพรรค ด้าน “ศรีสุวรรณ” รุกต่อยื่นหลักฐานเพิ่มให้ กกต.สอบ “ปิยบุตร-ช่อ” ครอบงำชี้นำ “ก้าวไกล” ปมยุชิงประธานสภาฯ เข้าข่ายครอบงำ พรรคตาม พรป.พรรคการเมือง โทษถึงขั้นยุบพรรค
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสนธิญา สวัสดี กล่าวว่าตนมาร้องเรียนวันนี้ มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1 กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กแสดงความคิดเห็นให้พรรคก้าวไกลจะต้องยึดมั่นในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งประเด็นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่จะเลือกกันเอง ทั้งนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าประธานสภาฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นหมายความว่าประธานรัฐสภาฯ ก็คือเป็นประธานวุฒิสภาด้วย ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการประชุมวุฒิสภา ซึ่งเหลืออายุอยู่ประมาณปีกว่าๆ
สิ่งที่ตนเป็นห่วง คือ นายปิยบุตร เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองพร้อมกับนายธนาธร เมื่อครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ที่ผ่านมา นายปิยบุตรได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง14 พ.ค.ที่ผ่านมาจนจบหน้าที่ และการโพสต์ข้อความกรณีประธานสภาฯนั้น โดยที่ผู้บริหาร กรรมการบริหารพรรคไม่ได้หืออือ หรือมีใครออกมาปฏิเสธการที่นายปิยบุตร จึงอนุมานได้ว่ายังพูดไปในทิศทางเดียวกันเห็นด้วยว่าประธานสภาต้องอยู่ในฝ่ายพรรคก้าวไกล จึงเป็นเรื่องที่อนุมานได้ว่านายปิยบุตร ชี้นำเรื่องประธานสภาฯ เข้าข่าย เข้าข่าย พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 มาตรา 29 และไปสู่การถูกยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 (3) จึงขอให้กกต.วินิจฉัย และตีความการกระทำของนายปิยบุตร เพื่อเป็นการชี้นำครอบงำพรรคก้าวไกลหรือไม่อย่างไร ส่วนพิจารณาแล้วจะส่ง สถานรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็สุดท้ายแต่กกต.จะพิจารณา
ส่วนประเด็นที่ 2 คือ กรณีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประเทศสิงคโปร์ ตนมองว่าการไปเยี่ยมบิดา หรือผู้มีพระคุณนั้นสามารถทำได้ แต่กลับไม่ได้ปกปิดและเปิดเผยต่อสาธารณะให้รับทราบ ทั้งที่นายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี ซึ่งจะเข้าข่ายส่งเสริมและสนับสุน แต่ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเพื่อไทยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงเข้ากรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 88ดังนั้น พฤติกรรมของว่าที่นายกฯ อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องของผลประโยชน์ หรือความทับซ้อนอะไรก็ตาม และตามพ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 45 และผูกพันไปถึง มาตรา 92 (3 )จึงขอให้กกต.พิจารณาว่าพฤติกรรมดังกล่าวของน.ส.แพทองธารนั้น ขัดต่อกฎหมายนี้หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้วอาจจะส่งคำร้องของตนเข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อโปรดพิจารณาวินิจฉัยเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หรือว่าที่นายกฯ ต่อไปในอนาคตด้วย
“โดยส่วนตัวผมยังมั่นใจว่าพรรคก้าวไกลโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สามารถที่จะทะลุผ่านเข้าไปสู่กระบวนการโหวตเป็นนายกฯได้ แล้วแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย คนที่ 1 ก็คือน.ส.แพทองธาร ซึ่งมีหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์กรณีน.ส.แพทองธาร เดินทางไปเยี่ยมพ่อ ในช่วงเวลาสถานการณ์อย่างนี้ ซึ่งโดยจริยธรรม คุณธรรมและมารยาท หรือกฎหมาย ก็ไม่น่ากระทำการโดยเปิดเผย ซึ่งการไปเยี่ยมพ่อหรือผู้มีพระคุณนั้นไม่มีปัญหา แต่การไปเยี่ยมในช่วงมีตำแหน่ง หรือเป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น อธิบายไม่ได้ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ที่ถูกศาลไทยพิจารณาให้จำคุกไปแล้ว ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นที่มาของการมาเพื่อร้องกกต.โปรดพิจารณา วินิจฉัย การกระทำของน.ส.แพทองธาร”นายสนธิญา กล่าว
เมื่อถามถึงการถือหุ้นสื่อของนายพิธา นั้น นายสนธิญา กล่าวว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าต้องถือจำนวนเท่าไหร่ แต่เขียนเพียงว่า ผู้ลงสมัครส.ส.ห้ามมีหุ้น จึงน่าเป็นห่วง และนายพิธา ก็เพิ่งมาแจ้งต่อป.ป.ช. จึงอยากวิงวอนนายพิธา และพรรคก้าวไกล เพราะตั้งแต่ที่ได้รับเงือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ตลาดหุ้นไทยตก ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศก็ถอนหุ้นออกไปเกือบแสนล้านบาท ด้วยความไม่ชัดจน ตนเป็นกำลังใจให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล แต่หลายเรื่องควรคลี่คลายให้ชัดเจน ก่อนที่นายพิธาจะรับตำแหน่งนายกฯ เพราะหากได้รับการโหวตเป็นนายกฯ แล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกล และประเทศ จึงต้องการให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้จบเสียก่อน
ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีเมื่อ 22 พ.ค.66ได้เคยเดินทางไปชี้ให้ กกต.ตรวจสอบ เอก-ป๊อก-ช่อ ครอบงำ ชี้นำพรรคก้าวไกล อันเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 แห่ง พรป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตนว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด พร้อมอธิบายเหตุผลมากมาย ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลต่างออกมาให้สัมภาษณ์และหรือโพสต์ข้อความแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ลงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ฯลฯ
การที่ว่าที่ ส.ส.ท่านใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเหล่า ส.ส.ทั้ง 500 คนที่ประชาชนได้เลือกตั้งให้ไปเป็น ส.ส. แล้วเข้าไปเลือกกันเองว่าท่านใดจะมีความเหมาะสม เพราะทุกคนน่าจะมีวิจารณญานที่จะตัดสินได้ได้เอง โดยไม่จำต้องมีใครมาชี้นำ แต่ทว่าการที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้สังคมมองไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการพยายามที่จะชี้นำความคิดและการกระทำของเหล่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ให้ต้องช่วยกันผลักดันหรือกดดันให้พรรคร่วมต่าง ๆ ยินยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยังได้ออกมาโพสต์สำทับถึงข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ก้าวไกลต้องการเป็น #ประธานสภา เพื่อผลักดันวาระก้าวหน้าในสังคม” อีกด้วย อันชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคก้าวไกล กลับมีพฤติการณ์หรือกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมหรือไม่ รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการชี้นำของบุคคลทั้งสอง จึงอาจเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ด้วยหรือไม่
“ด้วยเหตุเช่นนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต. เพื่อนำไปตรวจสอบ และวินิจฉัยประกอบคำร้องเดิมที่เคยชี้เบาะแสไว้แล้ว เพื่อดำเนินการตามครรลองของกฎหมายต่อไปจนถึงที่สุด เพราะถึงที่สุดแล้วหาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามการชี้เบาะแส ก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวได้ ตาม ม.92(3)”นายศรีสุวรรณย้ำ