วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
ห้าว VS เขี้ยว!!!จับสัญญาณร้าวๆรัฐบา(น)ล‘ก้าวไกล’ ไปต่อหรือพอแค่นี้??

ห้าว VS เขี้ยว!!!จับสัญญาณร้าวๆรัฐบา(น)ล‘ก้าวไกล’ ไปต่อหรือพอแค่นี้??

วันอาทิตย์ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 12.55 น.
Tag : MOU8พรรคร่วมรัฐบาล ตั้งรัฐบาล MOU 23 ก้าวไกล ประธานสภา เพื่อไทย
  •  

ห้าว VS เขี้ยว!!!จับสัญญาณร้าวๆรัฐบา(น)ล‘ก้าวไกล’ ไปต่อหรือพอแค่นี้??

ศึกเกาเหลาร้าวลึก! ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ในเมื่อตำแหน่ง ‘ประธานสภาฯ’ มีเก้าอี้เดียว ส่องเหตุผลทำไมต้องแย่งชิง


“ปมร้อน” การเมืองในช่วง “จับขั้วตั้งรัฐบาล” ขณะนี้ คงหนีไม่พ้น “ศึกชิงประธานสภาฯ” ที่ดูไปดูมากลายเป็นประเด็น “ขัดแย้งร้าวลึก” โดยเฉพาะ “2พรรคใหญ่” อย่าง “พรรคก้าวไกล” ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับ1 ในฐานะ “ผู้ได้รับสิทธิ์” ในการดีลตั้งรัฐบาลก่อน กับ “พรรคเพื่อไทย” คะแนนเสียงมาลำดับ2 พรรคหลักรอวันสะเด็ดน้ำร่วมรัฐบาล

ในเมื่อตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” หรือประธานรัฐสภา มีเพียง “เก้าอี้เดียว” เหตุไฉนจึงกลายเป็น “ชิ้นปลามัน” ที่ทั้ง “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ต่างฝ่ายต่างดูไม่ยอมกัน ที่จะปล่อยตำแหน่งนี้ไปเป็นของคนอื่นนอกจากฝั่งตัวเอง ดังจะเห็นได้จากห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาคนในพรรคของทั้ง2พรรค ต่างออกมา “ฮึ่มๆ” ใส่กัน “เก้าอี้ตัวนี้ของเป็นของข้า”

แต่ก่อนที่จะไปลงรายละเอียด “เรื่องร้อนฉ่า” นี้ ขอคั่นด้วยไทม์ไลน์จาก “รัฐบาลรักษาการปัจจุบัน” เพื่อส่งต่อมายัง “รัฐบาลชุดใหม่” จากปากคำของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรักษาการ เผื่อจะได้เห็นอะไรได้ “ชัด” ขึ้นจากรอบเวลาดังกล่าว เพราะจุดสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ในสภาฯ

อาจารย์วิษณุ ชี้แจงเกริ่นว่า ไทม์ไลน์ฉบับนี้เป็นไทม์ไลน์ “อย่างเร็ว” ที่ไม่มีทางจะเร็วไปกว่านี้ได้แล้วในแง่ของ “กรอบเวลาทางการเมือง” แต่สามารถ “เปลี่ยนได้” ทุกเมื่อ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ เปลี่ยนได้ทุกเมื่อ มีทางเดียวก็คือ “ล่าช้า” ออกไปนั่นเอง

ในเนื้อหาไทม์ไลน์ระบุว่า ครม.จะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาฯ ซึ่งวันที่ 20ก.ค.66 จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ส.ส.รายงานตัว จากนั้นวันที่ 24 ก.ค.66 จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา 25ก.ค.66 จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร 26ก.ค.66 จะมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภาฯ

ก่อนลากยาวไปอีกทีจนถึง 3ส.ค.66 จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่วันที่ 10ส.ค.66 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวันที่ 11 ส.ค.66 จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณของครม.ชุดใหม่ ซึ่งถือเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ และส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่

เมื่อยึดไทม์ไลน์ฉบับอาจารย์วิษณุ ถ้าหากเป็นไปตามนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อโยงกับปมร้อนชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ 25ก.ค.นี้ จะถือเป็นวันโหวตเลือกประธานสภาฯ หลังจากมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็นต้นไทม์ไลน์เลยที่จะต้องมีตำแหน่งนี้เป็น “สารตั้งต้น” ก่อนใครเพื่อน

แล้วทำไมก้าวไกล-เพื่อไทย 2พรรคร่วม ถึงต้อง “แยกเขี้ยว” ใส่กัน กับเวลาที่เหลือไปจนถึง25ก.ค.66 ตีกลมๆก็อีกประมาณ “2เดือน” นั่นเป็นเพราะว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ที่จะต้องโหวตเลือกก่อนใคร จะทำให้เห็น “ทิศทางสำคัญ” ของซีกพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะเดินไปทางใด รวมถึงการยืนหนึ่งเป็น “ผู้คุมเกม” ฝ่ายนิติบัญญัติ

ทั้งในแง่ “เสถียรภาพ การเดินแนวนโยบายรัฐบาล ไปจนถึงกรอบแนวนโยบายของรัฐสภาในมือ “ประมุกฝ่ายนิติบัญญัติคนใหม่” ที่สำคัญ การเดินหน้า “ทำกฎหมาย” ต่างๆที่จะบรรจุเข้าสู่สภาฯให้ถกเถียงกัน มันเชื่อมโยงกับ “MOU 23 ข้อ 5 กฎเหล็ก”

ที่พรรคร่วมสลักกันไว้ทับ “ฤกษ์รัฐประหาร2557” เมื่อ22พ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่นับรวมนโยบายของแต่ละพรรคร่วม ที่มีบางพรรค “เต็มเพดาน” แบบ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” มาตั้งแต่แรก

นั่นจึงเป็นการตอกย้ำความชัดเจนที่ทำไมถึงต้องบอกว่าตำแหน่งประธานสภาฯสุดสำคัญมากในศึกแย่งชิงรอบนี้ของก้าวไกลกับเพื่อไทย ลงรายละเอียดกันอีกซักหน่อยเป็นความรู้ประดับมันสมอง กับรายละเอียดขั้นตอนการเลือกประธานสภาฯในวันประชุม (ถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์คือวันที่25ก.ค.66) ยึดตาม “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562” หมวด1

โดยสรุป ระบุว่า การเลือกประธานสภา ครั้งแรกให้เลขาธิการสภาฯ เชิญ “สมาชิกผู้มีอายุสูงสุด” ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินการเลือกประธานสภา และรองประธานสภา และดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้อง ประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วย

ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภา หรือ รองประธานสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม

สำหรับขั้นตอนการเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ โดยการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน จากนั้นให้ผู้ถูกเสนอชื่อกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุมภายในระยะเวลาที่ประธานกำหนด โดยไม่มีการอภิปราย

ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ แล้วให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม

แถมให้ซักหน่อยกับอำนาจ หน้าที่ ของประธานสภาฯ ประมุขเบอร์1 ฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องเป็นประธานของที่ประชุม วางตน “เป็นกลาง” ในการปฏิบัติหน้าที่ กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมตลอดจนถึงบริเวณทั้งหมดสภา

ขณะเดียวกันยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ

ทีนี้เรามาดูปรากฏการณ์ตามหน้าสื่อที่กำลังฮอตร้อนแรงในขณะนี้ มีรายงานข่าวเปิดเผยมาแล้วสำหรับ “แคนดิเดตประธานสภาฯ” ของทั้งฝั่งก้าวไกล และเพื่อไทย ที่กำลังเดินเกมขับเคี่ยวแย่งชิงตำแหน่งนี้ จนกลายไฟขัดแย้งรอประทุ กลั่นออกมาได้ทั้งสิ้น 4 คน คือ

1.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ว่าที่ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

2.ธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล

3.ณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

4.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล

แม้ก่อนหน้านี้จะมีชื่อของ “รังสิมันต์ โรม” ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล อีกคนหนึ่งมาคั่วด้วยก็ตาม

ก็อยู่ที่สังคมจะพิจารณาแล้วว่าใครเหมาะสมหรือไม่อย่างไร กระนั้นก็ตาม ก็มีอีกกระแสหนึ่งจากบรรดาคนในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง เล็ดลอดออกมาแนะนำให้เลือกผู้อาวุโสในหนึ่งพรรคร่วม

อย่าง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภา จะถือเป็นการเคลียร์ปมดับร้อนได้ในระดับหนึ่ง ด้วยวัยวุฒิ ประสบการณ์ที่ผ่านมา และเป็นจุดระหว่างกลางในพรรคร่วม

อาจารย์วันนอร์ ก็ยังอาสาออกมาแนะนำเป็น “กาวใจ” ให้ทั้ง2พรรคมีการเคลียร์ใจกันหลังฉาก อย่ามัวแต่ทะเลาะกัน จนความขัดแย้งบานปลายออกนอกมุ้ง แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นโควตาของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่1 นั่นก็คือพรรคก้าวไกล

แม้ในความเป็นจริงอาจไม่เสมอไปกับตำแหน่งประธานสภาฯ โควตาพรรคลำดับ1 เห็นได้จาก ประธานสภาฯคนที่แล้ว อย่าง “ชวน หลีกภัย” จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อเสนอเล็กๆนี้ จะโดนใจ2พรรคร่วมใหญ่อย่าง ก้าวไกล-เพื่อไทย ที่กำลังขับเคี่ยวแย่งตำแหน่งนี้กันโดยตรงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

ด้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขวัญใจชาว “ด้อมส้ม” ที่ขณะนี้กำลังเดินสายทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ เสมือนเป็นการ “แต่งตัวรอ” พร้อมเป็นนายกฯคนที่30ของประเทศไทย ก็ออกมาพยายามสยบข่าวเกาเหลาประธานสภาฯว่า เรื่องเล็ก งานใหญ่ยังรออยู่อีกมาก ขอให้จับมือให้มั่นคง เรื่องที่กำลังขัดแย้งก็ขอให้เคลียร์กันให้ยุติในวงเจรจา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันกระทบความเชื่อมั่นในพรรคร่วมถึงไม้มากก็น้อย แม้ทั้ง อาจารย์วันนอร์ หรือพิธา จะพยายามส่งสัญญาณว่า มีอะไรให้หลบไปเคลียร์ในมุ้ง อย่ามาโพล่งพล่างขยายแผลให้ไฟลามทุ่ง เพราะอาจกระทบกับเจตจำนงที่ประชาชนเลือกมาได้

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตำแหน่งประธานสภาฯที่มีเพียงเก้าอี้เดียว ก็จะต้องได้ข้อสรุปว่าเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ดี จากนี้อีกประมาณ2เดือน คงต้องจับตาดูกันให้ดีกับศึกครั้งนี้ ระหว่าง ก้าวไกล ที่ “ใหม่ทางการเมือง” กับการตั้งรัฐบาล กับ “เพื่อไทย” ที่เขี้ยวลากดินทางการเมือง ผ่านมาทุกรูปแบบสมรภูมิการเมือง ใครจะแน่กว่ากัน แล้วมันจะกระทบต่อการตั้งรัฐบาลหรือไม่

ล่าสุดมีรายงานว่า ในวันที่ 30พ.ค.นี้ ทั้ง “8 พรรคร่วมรัฐบาล” นัดหารือกันอีกครั้งหลังทำเอ็มโอยู โดยใช้ที่ทำการพรรคประชาชาติ เป็นจุดในการวางแนวทาง-แผนงานการทำงานร่วมกัน ในเวลา 14.30 น.

มีการมองกันว่าจะหาทางออกจากปมปัญหาชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ที่กำลังครุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหลังการประชุมดังกล่าวแล้วเสร็จคงน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าตำแหน่งประธานสภาจะเป็นของพรรคใด

แต่เมื่อมองที่การใช้ “พรรคประชาชาติ” เป็นจุดในการหารือรอบนี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการเชิญ “อาจารย์วันนอร์” มารับหน้าที่ประมุขนิติบัญญัติ เพื่อสลายข้อขัดแย้งลง แล้วเดินหน้าดีลตั้งรัฐบาลต่อ แต่ก้าวไกล-เพื่อไทย จะโอเคหรือไม่ จะได้รู้กัน

งานนี้จะเคลียร์กันจนจับมือไปด้วยกันได้หรือไม่

หรือจะร้าวลึกจนทำส้มหล่น พลิกขั้วเปลี่ยนข้าง

จนการจับขั้วตั้งรัฐบาลเกิดการสวิงกลับมาที่อีกฝั่งหรือไม่

เลาะไปตามไทม์ไลน์จากนี้ในห้วง 2 เดือน “ห้ามพลาด” ด้วยประการทั้งปวง การันตีได้เลยว่าจะเป็นอีกครั้งที่การเมืองไทยรอบนี้จะร้อนแรงติดอันดับในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย

#ทีมข่าวการเมืองแนวหน้า

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved