‘พิธา-ชัชชาติ’จับมือตั้งคณะทำงานรับ 21 ข้อเสนอ แก้ปัญหากทม.‘น้ำท่วม-รถติด-ฝุ่น’
6 มิถุนายน 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมหารือความร่วมมือระหว่าง กทม. กับว่าที่ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล
นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี การขับเคลื่อนหลายๆอย่างไปข้างหน้าความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ การได้มาพบปะหารือกันตั้งแต่เริ่มทำให้มีความเข้าใจร่วมกันแล้วจะได้ร่วมเดินกันไปไม่ว่าจะบทบาทอะไรก็ตามในอนาคต เชื่อว่าวันนี้ก็เป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล แต่มีจุดหมายเดียวกัน ก้าวให้ไกลต้องก้าวด้วยกัน จุดหมายเดียวกันทั้งกทม.และพรรคก้าวไกล คือทำประโยชน์เพื่อประชาชน
ด้านนายพิธา กล่าวว่า ขอบคุณผู้ว่าฯกทม.ที่ได้กล่าวว่าจะก้าวไปให้ไกลต้องก้าวไปด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกล คิดมาตลอดในการทำงานไร้รอยต่อ กับปัญหาหลายเรื่องในกทม. ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเก่าที่คาราคาซังมานาน หรือปัญหาใหม่ที่เป็นความท้าทายและเกิดขึ้นใน2-3ปี ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร้ร้อยต่อตั้งแต่ระดับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี มาที่สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯกทม. สภากรุงเทพมหานคร การแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัด งบประมาณ กฎหมาย การประสานงาน จะทำให้การทำงานของ กทม.ได้อย่างไร้ร้อยต่อคล่องตัวมากขึ้น
นายพิธา ระบุว่า วันนี้รับข้อเสนอผู้ว่าฯกทม. 21 ข้อ ที่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องผ่านส.ส.กทม. และส.ก. ในการผ่านกฎหมายให้ผู้ว่าฯกทม.ทำงานได้ เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ต้องแก้กฎหมาย เป็นต้น การทำงานแบบไร้รอยต่อหรือที่เรียกว่า Seamless Bangkok จะแก้ไขปัญหาในกรุงเทพมหานครได้ ประเด็นที่ 2 กฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคก้าวไกลต้องการจะนำเสนอ มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ที่กรุงเทพมหานครนั้นก็คือการทำ พ.ร.บ.กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งผู้ว่าเขต ก็ได้นำเสนอให้ผู้ว่าฯ ได้รับทราบไว้ ประเด็นที่ 3 คือการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างกรุงเทพมหานครกับพรรคก้าวไกล หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bangkok Transition team
ทั้งนี้ ทางพรรคก้าวไกลเสนอ นายพิจารณ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นประธานฝั่งพรรคก้าวไกล ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ ให้ประธานที่ปรึกษาฯต่อศักดิ์เป็นประธาน ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่ออย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การประชุมวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่การประชุมเสร็จแล้วก็เลิกกันไป ซึ่งได้กำหนดประเด็นพิจารณาแล้วจะประชุมครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ได้อย่างมีเนื้อมีหนัง เพื่อประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครทุกคน
“ประเด็นข้อเสนอ 21 ข้อของผู้ว่าฯ เห็นด้วยทั้ง 21 ข้อ จริงๆ แล้วตรงกับนโยบาย 300 นโยบายและกฎหมาย 45 นโยบายที่เราได้เตรียมเอาไว้ ต่อไปจะเรียงลำดับความสำคัญในการที่จะปฏิบัติ ไม่ว่าทางฝั่งเราจะยื่นกฎหมายใดก่อนก็จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ว่าฯ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็สามารถจะทำให้ผู้ว่าฯ ทำงานได้โดยเร็วเช่นเดียวกัน ซึ่งทางประธานทั้ง 2 ฝั่งจะไปกำหนดประเด็นประชุม พิจารณาเป็นเรื่องๆไป และจะเชิญคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือคนที่มีความรู้ในแต่ละเรื่องเข้ามาให้มีโอกาสได้เจอได้แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานกัน” นายพิธากล่าว
สำหรับข้อเสนอเพื่อพัฒนากรุงเทพสู่เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน จำนวน 21 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน 2.ร่วมผลักดันโครงการตามวาระแห่งชาติเรื่อง ฝุ่น PM2.5 3.ทบทวน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4.ร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาจราจร 5.ศึกษาแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำทะเลขึ้นสูง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน 6.หาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความเป็นจริง 7.นำสายสื่อสารลงดิน โดย กสทช กทม กฟน และ ผู้ประกอบการ 8.หาข้อสรุปร่วมกันสำหรับโครงการรถไฟฟ้า 9.สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารร่วม รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ให้เป็นระบบเดียว 10.ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง
11.พัฒนา Open Bangkok โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐ 12.ส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมือง 13.ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ 14.แก้ พรบ. กทม ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น 15.เร่งรัดโครงการค้างอยู่ที่ต้องอาศัยเงินจากรัฐบาล 16.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่องเที่ยว ในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
17.ส่งเสริมกลไกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงพยาบาล Bangkok Health Zones 18.ยกระดับระบบการป้องกัน บรรเทาสาธารณภัยและการบริหารเรื่องฉุกเฉินตั้งแต่การเผชิญเหตุไปจนถึงการชดเชยค่าเสียหาย 19.ทบทวนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขและสาธารณภัย 20.ทบทวนแนวทางการจัดทำความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของเมืองให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น และ 21.ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นายพิธา กล่าวอีกว่า วาระเร่งด่วนที่ได้คุยกันวันนี้ คือ การบริหารจัดการน้ำท่วม การคมนาคมรถติด ที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และ ฝุ่นPM2.5 ซึ่งการทำงานเป็นเชิงมหภาค หลายเรื่องอาจจะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเอง และมีฝุ่นที่มาจากทางประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค เป็นระดับท้องถิ่น ระดับโลก ต้องมีกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาดรวมถึงการทำงานของกระทรวงต่างประเทศการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมดูแล รวมถึงการประสานงานกันภายในพื้นที่ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร ที่ต้องวางแนวทางร่วมกัน
นายพิธา ยังกล่าวถึงกรณีการแก้ปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า มีความตั้งใจจะบรรเทาให้ได้มากที่สุด ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาใช้ และการเดินทางที่มีรอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้รถไฟฟ้าที่ หลายครั้งต้องไปต่อแถวเอาใหม่ ก็ต้องการให้เป็นตั๋วไปเที่ยวให้ได้ในราคาที่ย่อมเยา การที่จะให้มีขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ไฟฟ้า ที่เป็นข้อบัญญัติ ของส.ก.พรรคก้าวไกลเสนอให้ กทม. เพื่อให้สะดวกมากขึ้น สะอาดมากขึ้น และราคาดีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ตนมั่นใจว่าหากทำได้จะลดการจราจร และ ลดการใช้พลังงานที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ ถ้าจะทำ Sandbox เรื่องนี้ในกทม. ก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด แต่ว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้จบแค่ กทม. เท่านั้น จะรวมไปถึงพื้นที่ปริมณฑลด้วยไม่ว่าจะเป็น จ. นนทบุรี / จ.ปทุมธานี / จ. สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นแนวร่วมที่ตนมองว่าเป็น Bangkok Plus จึงต้องทำงานในรอบนอกเพื่อจะให้ผู้ว่าฯชัชชาติ ทำงานได้ด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่าในส่วนของตั๋วร่วมที่ผ่านมา 10-20 ปี แทบทุกรัฐบาลยังทำไม่สำเร็จ รอบนี้มองอย่างไร นายพิธา ระบุว่า ทางพรรคก้าวไกลมอบหมายให้นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นคนทำ ซึ่งมีโมเดลที่คิดมาแล้วหลายเรื่องพอสมควร และได้คิดมาแล้ว ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ในราคาที่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน แต่ต้องมี 2 คณะกรรมการมาทำงานประสานงานร่วมกัน โดยให้นายสุรเชษฐ์ เป็นแกนกลาง คือ คณะเปลี่ยนผ่านด้านคมนาคมและพรรคร่วมอีก 7 พรรคที่เหลือ เพราะเรายังไม่มีโผออกมาชัดเจนว่าใครดูแล ครม.ใด จึงต้องเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้งก่อน ดังนั้นคณะกรรมการเปลี่ยน และคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพมหานคร ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อจะให้ตั๋วร่วมเกิดขึ้นได้
ด้านนายชัชชาติ กล่าวในส่วนของตั๋วร่วม ตนมองว่าไม่ยากเพราะใช้บัตรใช้เทคโนโลยี แต่หัวใจสำคัญคือ โครงสร้างราคาร่วม ทำอย่างไรให้ราคาทั้งหมดเชื่อมและราคาถูกที่สุดสำหรับประชาชนนี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากกว่า ซึ่งกทม.ทำเองไม่ได้ เพราะ กทม. มีแค่ BTS เจ้าเดียว แต่ถ้าเป็นโครงสร้างราคารวมมันต้องหมายถึงรถเมล์ / เรือ และระบบฟีดเดอร์ต่างๆด้วย ซึ่งตนมองว่านายสุรเชษฐ์ จากทางพรรคก้าวไกลก็มีไอเดียเยอะอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงเรื่องปัญหาส่วย นายพิธา กล่าวว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ทำหน้าที่ได้ดี และอยู่ระหว่างตรวจสอบซึ่งพบว่ามีหลายเรื่องทั้งส่วยรถบรรทุก ส่วยรถนักเรียน ซึ่งนายวิโรจน์ เป็นตัวแทนในการบริหารจัดการเรื่องนี้โดยตรง และคงจะไม่ได้ดูแค่ในกรุงเทพฯ แต่จะดูภาพใหญ่ด้วย รวมทั้งการลดกระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
สำหรับข้อเสนอผู้ว่าฯกทม. ที่จะย้ายท่าเรือคลองเตย ไปอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายพิธากล่าวว่า ต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันว่าที่สส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจ ก็พบว่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน จึงไม่อยากสร้างปัญหาในพื้นที่เพิ่ม จากนี้ต้องกลับไปดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-005