‘ป.ป.ช.’แจงแนวทางการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจาก‘ประยุทธ์’ไปเป็นรัฐบาล‘เศรษฐา’ เร่งชี้แจงหลังพ้นตำแหน่ง 60 วัน
15 กันยายน 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 102 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง หรือวันพ้นจากตำแหน่ง สำหรับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี การยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง และการยื่นบัญชีฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ให้ถือวันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ฯ เป็นวันพ้นจากตำแหน่ง
นายนิวัติไชย กล่าวถึงกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอชี้แจงรายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบของคณะรัฐมนตรีทั้งสองคณะ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีฯ ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีฯ ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
ทั้งนี้หากมีรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ภายใน 30 วัน หลังพ้นจากตำแหน่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
กรณีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามมาตรา 102 (9) และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 102 (1)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี