กกต.เปิดค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง 67 พรรคการเมือง พบ ‘ก.ก.’ใช้มากสุด 40.9 ล้าน โดยทุ่มโฆษณาในสื่อต่างๆกว่า 4.7 ล้าน หาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์แค่หลักหมื่น ตามมาด้วย ‘รทสช.’ 40.6 ล้าน และ ‘พท.’40.2ล้าน
20 กันยายน 2566 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เผยแพร่สรุปรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามที่มาตรา 67 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส 2561 ประกอบข้อ 9 ของระเบียบกกต. ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งส.ส 2566 กำหนดไว้ พบว่าในจำนวน 67 พรรคที่ส่งผู้สมัครสส. แบบบัญชีรายชื่อ 10พรรคที่มีรายจ่ายในการเลือกตั้งส.ส.มากที่สุดเรียงตามลำดับได้แก่
1. พรรคก้าวไกล มีรายรับและรายจ่ายเท่ากันคือ 40,973,623 บาท
2.พรรครวมไทยสร้างชาติ มีรายรับรวม 30,796,788 บาท รวม 40,697,861 บาท
3.พรรคเพื่อไทยมีรายรับ 36 ล้านบาทมีรายจ่าย 40,212,647 บาท
4.พรรคภูมิใจไทยมีรายรับรวม 44 ล้านบาทมีรายจ่ายรวม 38,452,473 บาท
5.พรรคประชาธิปัตย์มีรายรับรวม 38,870,363 บาท มีรายจ่ายรวม 34,423,909บาท
6.พรรคชาติไทยพัฒนามีรายรับรวม 25,986,960 บาทมีรายจ่ายรวม 29,640,076 ล้าน
7.พรรคเสรีรวมไทยมีรายรับรวม 26,789,260 บาทมีรายจ่ายรวม 26,644,804 บาท
8.พรรคพลังประชารัฐมีรายรับรวม 44,069,500 บาท มีรายจ่ายรวม 24,232,915 บาท
9.พรรคไทยสร้างไทยมีรายรับและรายจ่ายเท่ากันคือ 20,935,880 บาท
10.พรรคชาติพัฒนากล้า มีรายรับรวม 18, 485,256 บาท มีรายจ่ายรวม 19,231,333 บาท
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมากกต.กำหนดค่าใช้จ่ายของส.ส.กรณียุบสภาโดยส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตัังใช้จ่ายไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือพรรคการเมืองไม่เกิน 44 ล้านบาท ซึ่งจากแบบรายงานรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งของ 67พรรคการเมืองที่ยื่นต่อกกต.นั้น พบว่าสิ่งที่ทุกพรรคใช้จ่ายมากที่สุด คือ ค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์ ค่าเช่าและตกแต่งสถานที่ รวมถึงการค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ และการโฆษณาในสื่อต่างๆ
โดยพรรคภูมิใจไทยระบุว่ามีค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์สูงถึง 29,824,008 ล้าน ค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ 1,141,300 ล้าน ค่าเช่าสถานที่และตกแต่งสถานที่3,325,713บาท
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ระบุค่าจัดทำป้ายหาเสียง25, 802,921บาท ค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ 1,885,500 บาท
ส่วนพรรคก้าวไกล ระบุค่าจัดทำป้ายและสิ่งพิมพ์ 17,040,299 บาท ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ 4,712,488 บาท ค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ 13,177 บาท เป็นต้น