ส่อลากยาว!!! คกก.แก้รธน.ชุด"ภูมิธรรม"ชงพรรคการเมือง-สภา ส่งศาลรธน.ตีความปมขัดแย้งทำประชามติกี่ครั้ง หลังเห็นต่าง ทำ 2 หรือ 3 ครั้ง พร้อมมอบหมายคณะอนุชุด"วุฒิสาร"ไปศึกษากฎหมายให้ใช้เทคโนโลยีเลือกตั้ง-พร้อมครอบคลุมเลือกตั้งท้องถิ่น เตรียมส่งหนังสือ กกต.ชุดใหญ่ สอบถามขั้นตอนชัดเจน ปัดซื้อเวลา หากหลุดไทม์ไลน์ สรุปเข้า ครม.ต้นปีหน้าไม่ทัน เชื่อ ปชช.เข้าใจข้อจำกัด
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 60 เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว ว่า วันนี้ได้มีการรายงานความคืบหน้า โดยเริ่มจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่มี นายนิกร จำนง เป็นประธาน ได้ดำเนินการไปพอสมควร เหลือการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคเหนือ และภาคใต้ และอีกส่วนรอรัฐสภาเปิดเพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส.หลังจากที่ฟังจาก สว.มาแล้ว เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นครบถ้วน โดยเราจะเร่งสรุปความคิดเห็นทั้งหมด ส่วนความเห็นต่างเราจะบันทึกข้อคิดเห็นนั้นด้วยเพื่อให้ ครม.รับทราบข้อมูลทั้งหมด เพื่อตัดสินใจ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ทีมี นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน ที่ได้ศึกษาว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง จะเลือกทางเดินในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เกี่ยวกับวิธีการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก เราจึงสรุป และเชื่อมโยงข้อกฎหมายต่างๆ และกฎหมายประชามติที่เราจะเข้าไปทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการการแก้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย และมีรัฐธรมนูญใหม่เป็นเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีในการออกเสียงประชามติได้ และทำให้ พ.ร.บ.ประชามติ ทำประชามติได้กว้างขวางขึ้น สามารถทำร่วมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และจะให้อนุกรรมการชุดนายวุฒิสาร ไปศึกษาให้ได้ข้อสรุปให้ชัดเจน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ตนทำจดหมายไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหญ่ เพื่อสอบถามความเห็นเรื่องเกี่ยวกับการทำประชามติ เพราะก่อนหน้านี้คุยกับเลขาธิการ กกต.ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในทางกฎหมาย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องการทราบว่าองค์กรใดมีอำนาจที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับการทำประชามติ เพราะหากไม่ชัดเจนอาจจะทำให้ศาลไม่สามารถตีความได้ จึงมีความเห็นบางอย่างเสนอขึ้นมา อยากให้สภาฯ เสนอตีความตรงนี้ โดยปรึกษาประธานสภาฯ ให้ใช้เป็นเงื่อนไข ซึ่งเราจะเสนอผ่านพรรคการเมืองที่อยู่ในที่ประชุมของเราไปปรึกษาหารือกัน และหากกระบวนการนี้จะเกิดขึ้น สภาจะเป็นผู้เสนอหากเห็นว่ามันขัดแย้งกันและเห็นว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ศาลก็มีอำนาจตีความให้เกิดความชัดเจน ซึ่งทุกประเด็นในวันนี้จะประมวลและมีความชัดเจนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ว่าจะไปถึงระดับไหน
เมื่อถามว่า นายนิกรเสนอให้แก้กฎหมายประชามติเพื่อลดเงื่อนไขผู้มาใช้สิทธิ์ให้น้อยลง จากเดิมต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และคะแนนเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ได้นำไปพิจารณาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็มอบหมายให้ไปศึกษาพร้อมกับเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเราอยากเห็นกฎหมายประชามติกว้างกว่าการมาแก้ไขเรื่องกฎหมาย และ พ.ร.บ.ประชามติก็ไม่เคยถูกใช้ เราจึงอยากรู้ว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะใช้ในมิติอื่นๆ ได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยที่สุด
เมื่อถามว่า ที่เสนอให้สภาฯ เสนอศาลรัฐธรรมนูญนั้นคือประเด็นอะไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับความชัดเจนในการทำประชามติ และกฎหมายประชามติจะต้องทำกี่ครั้ง และทำอย่างไร รวมถึงทำกับกฎหมายเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ และทำประชามติผ่านเทคโนโลยีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการคุยกันในสภา ถ้าสภามีข้อมูลชัดเจน แต่ถ้าไม่มีความชัดเจน มีปัญหาอุปสรรคว่าตจะทำประชามติกี่ครั้ง สภาก็จะทำหน้าที่ไปถามศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
"ประเด็นสำคัญคืออยู่ที่ว่าถ้าจะทำรัฐธรรมนูญต้องถามองค์ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก่อน ซึ่งนำมาสู่จะต้องทำประชามติ 2 - 3 ครั้ง ถือเป็นประเด็นสำคัญ"
เมื่อถามย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีหน้าที่เป็นที่เป็นที่ปรึกษา นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้ามีความขัดแย้งในสภาว่าจะทำ 2 หรือ 3 ครั้ง แล้วยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นอำนาจหน้าที่ที่สภาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เราไม่ได้คิดว่าท่านเป็นที่ปรึกษา แต่เราคิดว่าหากเป็นข้อขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้ ก็ต้องเสนอ
เมื่อถามต่อว่า กระบวนการต่างๆ ที่ตั้งเพิ่มขึ้น จะกระทบไทม์ไลน์ที่จะสรุปข้อเสนอให้ ครม.ในต้นปีหน้าหรือไม่ นายภูมิธรรมอ กล่าวว่า คณะกรรมการฯมุ่งมั่นตามไทม์ไลน์เดิมที่เราประกาศ และพยายามทำให้ถึงเงื่อนไขตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้วถ้ามีปัญหาอะไรเราก็จะชี้แจงให้ทราบ และถ้าเป็นเรื่องที่จำเป็น และเป็นข้อจำกัดที่ฟังได้ ตนคิดว่าประชาชนก็เข้าใจ ส่วนทีมีการมองว่ารัฐบาลจะดึงเรื่องให้เกิดความล่าช้า ตนขอยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องนี้รัฐบาลตั้งใจทำให้สำเร็จ เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกส่วน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี