‘โภคิน’ หนุนแก้ ‘มาตรา256’ บ่งเสี้ยนหนามแก้รธน. เห็นต่าง ‘ก้าวไกล’ ชงคำถามพ่วงประชามติ ‘ที่มา ส.ส.ร.-ไม่แตะหมวด1หมวด2’ เตือนคิดซับซ้อน ระวังจะไม่ได้ทำ
วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมองรัฐสภา ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคก้าวไกลมองประเด็นการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นควรทำ 2 ครั้งตามกติกา แต่ขณะนี้ยอมรับว่ามีผู้ที่เห็นต่างและมองว่าควรทำประชามติ 3 ครั้งซึ่งเป็นเหตุผลทางการเมืองและอาจจะทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมมนูญต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอว่า หากจะทำประชามติในครั้งแรก ควรทำ 1 คำถามหลักและมี 2 คำถามพ่วง โดยคำถามหลักต้องเป็นอย่างกว้าง เช่น เห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ส่วนคำถามพ่วง 2 คำถามนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาความเห็นต่าง คือ ประเด็น ส.ส.ร. ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และ ประเด็นการไม่แก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ หมวด 2
“ผมเชื่อว่าเมื่อผลประชามติที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จะทำให้เกิดการยอมรับ และการปฏิบัติตามของสมาชิกรัฐสภา เช่น กรณีที่ประชามติระบุว่าไม่แก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ หมวด 2 พรรคก้าวไกลพร้อมจะเดินตามมติของประชามติดังกล่าว” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตนขอสนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่กำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่จะได้รับความเห็นชอบ เพราะกังวลว่า ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่านจะได้เปรียบเพราะไม่ต้องออกมารณรงค์ใดๆ
ขณะที่นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า ความยากของการประชามติ คือ ต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ ผู้มาออกเสียงเห็นชอบ ดังนั้นจึงไม่ง่าย และอาจจะไม่ผ่านแต่หากมีคำถามพ่วง เช่น ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ต้องระวัง เพราะอาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ออกมาใช้สิทธิ หากไม่มีคำถามพ่วงประเด็นดังกล่าว ก็จะเกิดการรณรงค์ให้คนไม่ออกไปใช้สิทธิ ดังนั้นสิ่งที่กำลังคิด คือ การคิดมากด้วยกันทั้งสิ้น คิดไปคิดมา คิดเชิงซับซ้อน ตนมองว่าอาจจะไม่ได้แก้ไข
“ต้องเอาเสี้ยนตรงนี้ออกไปก่อน หากจะคิดถึงชนวนปัญหาที่ทำให้คิดมาก อาจจะคิดแล้วก็ยังอยู่ที่เดิม ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ หากคิดในเชิงซับซ้อน ต้องทำประชามติอย่างไร ผมมองว่าหากไม่แก้มาตรา 256 ให้เป็นปกติ ประเทศนี้ไปไม่ได้ ชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องไปไม่ได้ ดังนั้นควรเสนอว่าควรแก้ มาตรา256 ให้เป็นปกติ ที่เหลือทำอะไรก็ได้หมด” นายโภคิน กล่าาว
ขณะที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า กรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติของรัฐบาลเตรียมจะสรุปและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในช่วงต้นปี 2567 อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่มีประเด็นการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ กรรมการเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่มีข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลพยายามยื้อกลไกประชามติหรือไม่ ตนขอชี้แจงว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกิดข้อถกเถียงในสังคมจำนวนมาก เช่น ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอของพรรคก้าวไกลแต่ระยะหลังได้เปลี่ยนแปลงตามเสียงสะท้อน และแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ตอบรับเข้าร่วมเป็นกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาล แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับจูน แสดงให้เห็นว่าเกิดการผสานปรับความร่วมมือเข้าหากัน
“ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะสอดคล้องและการทำประชามติจะเห็นพ้องจากทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายค้าน ขอให้มั่นใจการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้เตะถ่วง ใช้เวลาเท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงการใช้งบประมาณของรัฐที่ไม่เปล่าประโยชน์ ซึ่งหวังว่าจะเกิดกระบวนการขับเคลื่อนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายชนินทร์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี