วันที่ 11 มกราคม 2567 นายวีรภัทร คันธะ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นการเล่นสาดน้ำในเทศกาลวันสงกรานต์ในพื้นที่ อ.พระประแดง ว่า สงกรานต์เป็นประเพณีที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก เป็นประเพณีที่มีวัฒนธรรมอันดีและมีมาอย่างยาวนาน แต่อีกด้านหนึ่ง ในสายตาของคนในพื้นที่หรือคนที่ต้องอยู่กับสงกรานต์พระประแดง มองเทศกาลนี้แบบมีชื่อเสียไม่ใช่ชื่อเสียง กล่าวคือ มีแต่ภาพความโหดร้ายป่าเถื่อน
ซึ่งสงกรานต์พระประแดงจะเป็นสงกรานต์คนมอญ ในอดีจจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวมอญ แต่ปัจจุบันสงกรานต์พระประแดงนอกจากจะมีภาพความโหดร้ายป่าเถื่อนแล้วยังส่งผลกระทบต่อการจราจรอย่างมาก โดยกิจกรรมสงกรานต์พระประแดงจะจัดหลังจากเทศกาลสงกรานต์ที่อื่นๆ ทั่วประเทศประมาณ 1 สัปดาห์ และมีการเล่นสาดน้ำเพียงวันเดียว ตัวอย่างในปี 2566 จัดขึ้นวันที่ 23 เม.ย. 2566 ตนยังเป็นเพียงว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล ก็ได้รับการร้องเรียนเข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์
“ประมาณร้อยกว่าคนที่พูดถึงสงกรานต์พระประแดง ในฐานะเป็นสงกรานต์ที่สร้างผลกระทบไปจนถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนไม่ใช่แค่ จ.สมุทรปราการ แต่ลามเข้าไปถึงกรุงเทพฯ รถติดหนักมาก สงกรานต์พระประแดงเป็นสงกรานต์ที่จัดอยู่บนถนนหลายเส้นทางใน อ.พระประแดง ไม่ได้จัดแค่โซนนิ่งเดียวในเทศบาลเมืองพระประแดง แต่ปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนใช้ ถ.สุขสวัสดิ์ ถ.ปู่เจ้าสมิงพราย และถนนเส้นอื่นที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงมากๆ ข่าวที่ลงเขียนว่าติดลามไปถึงหน้าเซ็นทรัลพระราม 2 ห่างออกไปหลายสิบกิโล” นายวีรภัทร กล่าว
นายวีรภัทร กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้การเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์พระประแดง ของปี 2566 มาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ บน ถ.สุขสวัสดิ์ ประกอบกับเป็นการกลับมาเล่นสาดน้ำเป็นครั้งแรกนับจากผ่านพ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้คนออกมาเล่นสาดน้ำ ไม่เฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้นแต่มาไกลจากหลายแห่งแล้วมารวมตัวกันที่ ถ.สุขสวัสดิ์ และ ถ.ปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งเมื่อดูความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยตนใช้แฮชแท็ก #สงกรานต์พระประแดง จะพบความเห็นที่สะท้อนปัญหา ว่าไม่สามารถควบคุมการเล่นสาดน้ำได้
มีรถจอดขายเครื่องดื่มกลางถนนแบบเปิดท้าย เดินกินเบียร์กลางถนน แล้วลองนึกสภาพถนนที่ไม่ได้ปิดเพื่อให้เล่นสาดน้ำ ไม่เห็นมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยดูแล ยังไม่นับปัญหาการเปิดเครื่องเสียง มอเตอร์ไซค์เบิ้ลเครื่อง การทะเลาะวิวาท รวมถึงบ่นปัญหาการจราจรติดขัด ใช้เวลาบนถนนยาวนานหลายชั่วโมง ไม่มีการกำหนดพื้นที่และเวลาจัดงานที่ชัดเจน อยากให้จัดโซนนิ่งหรือเลิกไปเลย เพราะไม่ใช่วันหยุดปกติที่รัฐบาลหยุดให้ หลายคนต้องไปทำงานหรือมีธุระก็ต้องเจอกับรถติดหนักมาก อยากให้กำหนดเวลาด้วยเพราะยังมีคนที่ต้องการพักผ่อนไม่ใช่เปิดเครื่องเสียงจนดึกดื่น
นอกจากนั้นยังมีความเห็นทีระบุว่าเป็นคนในพื้นที่ อยากให้เล่นเฉพาะสามแยกไปถึงท่าน้ำ และเป็นการปิดถนนไม่อนุญาตให้ใช้ยานพาหนะในการเล่นสาดน้ำ ให้ทำแบบ ถ.ข้าวสาร หรือ ถ.สีลม ขณะที่ตนก็เคยสอบถามคนขับรถเมล์สายที่วิ่งจาก อ.พระประแดง เข้าเมือง ทราบว่าระยะทาง 10 กิโลเมตร ต้องใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงกว่าจะออกมาได้ และตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เข้า-ออกบ้านไม่ได้ รถพยาบาลก็ผ่านไม่ได้ ดังนั้นตนอยากฝากคำถามถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีแนวคิดจัดงานสงกรานต์ 77 จังหวัด เล่นกันทั้งเดือน
“จากตัวอย่างที่เกิดขึ้น นี่เพียงวันเดียวเท่านั้น การจัดการยังเละตุ้มเป๊ะขนาดนี้เลย ผมก็เลยเห็นว่านับจากนี้อีก 90 วัน 3 เดือน จะถึงเทศกาลสงกรานต์ที่รัฐบาลพยายามโปรโมท ผมก็เลยอยากทราบว่า ท่านได้วางมาตรการแนวทางอะไรแล้วหรือยัง? เพื่อที่จะจัดการปัญหานี้ ไม่ให้กระทบไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ พบไม่อยากเห็นอีกแล้วในพื้นที่นี้จะต้องมีคนขอออกไปนอนโรงแรมนอกพื้นที่ ขออยู่แต่ในบ้านเพื่อหลบสงกรานต์พระประแดง” นายวีรภัทร ระบุ
นายวีรภัทร ยังกล่าวอีกว่า ตนเห็นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็รู้สึกสงสาร เพราะแม้จะมีความร่วมมือกันของหลายสถานีตำรวจ เพื่อเข้ามาช่วยเหลืออำนวยความสะดวก แต่หากไม่มีมาตรการอะไรที่ชัดเจนจากรัฐบาล ตนคิดว่าก็น่าจะเป็นภาระพอสมควรกับเจ้าหน้าที่ในการจัดการปัญหานี้ คำถามแรกที่จะขอถามคือในอนาคตรัฐบาลจะจัดการปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร.
ด้าน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมาชี้แจงแทนนายกฯ เปิดเผยว่า ในปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สำรวจข้อมูลการเดินทางของผู้คน พบมีการเดินทาง 4.31 ล้านคน/ครั้ง เป็นคนไทย 3.3 ล้านคน/ครั้ง ชาวต่างชาติ 9.9 แสนคน/ครั้ง ขณะที่รายได้หมุนเวียนตามตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อยู่ที่ 24,671 ล้านบาทเศษ เราจึงมองว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทย เป็นประเพณีซึ่งสืบทอดกันมาและเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก
ขณะที่สงกรานต์พระประแดง เป็นเทศกาลทั้งของชาวไทยและคนเชื้อสายมอญ จะแตกต่างจากที่อื่นเพราะจัดงานช้ากว่า โดยสงกรานต์ที่อื่นๆ จัดงานระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี แต่สงกรานต์พระประแดงจะจัดในวันอาทิตย์ถัดมา เช่น ในปี 2566 จัดในวันที่ 23 เม.ย. 2566 แต่ในปี 2567 เท่าที่ตนได้รับทราบจากนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง จะจัดขึ้นในวันที่ 21 เม.ย. 2567 โดยสงกรานต์พระประแดงในทุกปีจะมีกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เช่น การสาธิตการเล่นสะบ้า มีขบวนรถบุปชาติ แห่นก-แห่ปลา ประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มกลอยชาย เป็นต้น
ส่วนที่ นายวีรภัทร มีความกังวลและห่วงใย เนื่องจากในปี 2566 เป็นสงกรานต์แรกหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากตัวเลขพบว่ามีผู้มาร่วมงานประมาณ 5 หมืนคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1,000 คน หากมองในแง่การท่องเที่ยวก็น่าดีใจที่คนสนใจท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากที่รับฟังก็มีประเด็น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับการควบคุมการเล่นสาดน้ำให้อยู่ในกรอบเวลา ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่
“ผมมีโอกาสได้สดับรับฟังผู้คนที่ไปเที่ยวงานสงกรานต์ เพิ่งมีตัวเลขที่โชว์มาประมาณ 5 หมื่นคน ส่วนใหญ่คนในพื้นที่เขารู้สึกว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ได้มีความต้องการที่จะให้เลิกการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นทุกปี ผมเรียนท่านประธาน เรียนท่านสมาชิก การจัดงานอะไรที่มีผู้คนมากแบบนี้ การที่จะกำกับควบคุมให้เป็นไปตามความพึงพอใจของทุกคนเป็นไปได้ยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่สมุทรปราการมันเป็นพื้นที่จัดงานแล้วก็มีเส้นทางคมนาคมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วย” นายทรงศักดิ์ กล่าว
รมช.มหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ในปีที่ผ่านมา มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บน ถ.สุขสวัสดิ์ ทำให้ผิวการจราจรมันหายไป จากมีหลานช่องจราจรก็เหลือเพียง 2 ช่องทั้งฝั่งขาไปและขากลับ ขณะที่ ถ.สุขสวัสดิ์ ก็มีทั้งทางแยก จุดกลับรถ ตลอดจนตรอกซอกซอยจำนวนมาก ตนเคยไปเดินสำรวจก็พบเมื่อมีรถเข้า-ออกซอยกับถนนใหญ่ ก็อาจทำให้การจราจรมีปัญหา และการที่สงกรานต์พระประแดงจัดหลังที่อื่นก็ทำให้มีประชาชนจากทั่วสารทิศหลั่งใหลมาเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ นายวีรภัทร กล่าวมา
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ได้มีการบูณาการกันเพื่อเตรียมสำหรับการจัดงานสงกรานต์พระประแดงประจำปี 2567 มีความร่วมมือทั้งจากจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด อำเภอ เทศบาลและประชาชน เช่น ให้เทศบาลเมืองพระประแดงติดป้ายประชาสัมพันธ์ว่าด้วยเส้นทางที่ปิดการจรจรในช่วงเวลาเล่นสาดน้ำอย่างน้อย 10 วันก่อนจัดงาน และให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ ช่วยแจ้งประชาชนผ่านสื่อออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการเดินทาง
“ประสานงานรถติดจอ LED โฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดป้ายเตือน ป้ายประกาศจัดงานสงกรานต์พระประแดง โดยแสดงพื้นที่ที่มีการจัดงาน เส้นทางควรหลีกเลี่ยง และนำเส้นทางหรือทางเบี่ยงอื่น รวมถึงช่องทางการร้องเรียน-ร้องทุกข์ตำรวจรับแจ้งเหตุ ศูนย์ดำรงธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเลขหมายโทรศัพท์ติดต่อให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน อันนี้เป็นข้อมูลที่มีการพูดคุยกันในระดับจังหวัด ที่จัดเตรียมความพร้อมในการจัดงาน” นายทรงศักดิ์ระบุ
รมช.มหาดไทย ยังกล่าวอีกว่า จะมีการนำข้อมูลเดิมเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการเล่นน้ำเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจ-จุดคัดกรองให้มากขึ้น ประสานงานทั้งตำรวจ เทศกิจ อปพร. และอื่นๆ ให้มากขึ้น บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่าด้วยการควบคุมการจำหน่ายและการดื่ม ตลอดจนการป้องกันผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น เหตุทะเลาะวิวาท ทั้งนี้ ตนสอบถามไปยังเทศบาลเมืองพระประแดง ได้รับคำยืนยันว่าจะมีการจัดงาน ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด เพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น และเห็นว่าเป็นเทศกาลที่ทำให้ผู้คนหรือคครอบครัวได้มีโอกาสได้มาร่วมกันอย่างมีความสุข
อย่างไรก็ตาม นายวีรภัทร ได้ลุกขึ้นชี้แจงเพิ่มเติมว่า รมช.มหาดไทย อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ตนไม่ได้ขอให้ยกเลิกการจัดงานสงกรานต์พระประแดง แต่พูดถึงการจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในงานสงกรานต์พระประแดง ทั้งนี้ ก่อนเป็น สส. ตนเคยทำงานมัคคุเทศก์ และปลิ้มใจที่เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากการรับฟังประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ อ.พระประแดง อย่างที่ทราบว่าการที่สงกรานต์พระประแดงจัดหลังที่อื่นๆ ส่งผลให้มีคนจากต่างพื้นที่เข้ามาเล่นสาดน้ำจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยว 5 หมื่นคน ที่ยกมานั้น ตนมองว่าเขาเข้ามาดูประเพณีอันงดงามในช่วงเช้า แต่สิ่งที่ตนพูดถึงคือช่วงบ่ายและช่วงเย็นที่มีการเล่นสาดน้ำโดยใช้รถกระบะหรือพื้นที่ถนน จนทำให้การจราจรติดขัด ตนเคยสอบถามไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอสถิคิอย่างละเอียด พบว่าข้อมูลไม่ได้ละเอียดเหมือนช่วง 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปกติ
จึงเสนอแนะว่า ในเมื่อสงกรานต์พระประแดงมีผู้เข้ามาใช้รถใช้ถนนมากกว่าปกติ และมีอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมากกว่าปกติ ก็ขอฝากรัฐมนตรีช่วยสั่งการให้เก็บข้อมูลเหมือนช่วง 7 วันอันตราย นอกจากนี้ ตนอยากถามเพิ่มเติมด้วยว่า ในอนาคตจะมีการจำกัดพื้นที่เล่นสาดน้ำหรือไม่ ซึ่ง รมช.มหาดไทย ก็ทราบว่ามีขบวนแห่ มีกาปรระกวดอะไรมากมาย ซึ่งเป็นประเพณีสวยงาม แต่ประชาชนยังกังวลเรื่องการเล่นสาดน้ำบนถนนที่ยังไม่มีข้อบังคับหรือข้อกำหนดเป็นการเฉพาะ จึงอยากให้กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาด้วย
ขณะที่ นายทรงศักดิ์ ก็ชี้แจงอีกว่า ที่ผ่านมาการเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์เวลาล่วงเลยไปเยอะ ไม่มีกรอบมาตรการกำหนดไม่มีกรอบเวลาชัดเจน แต่ทางทีมบูรณาการของจังหวัดได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเบื้องต้นและกำชับให้ดำเนินการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น ยุติการเล่นในเวลา 18.00 น. เรื่องนี้มีการประชาสัมพันธ์กันตลอด
ซึ่งต้องยอมรับว่า คนที่เล่นสงกรานต์ในพื้นที่ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ส่วนใหญ่ที่มีปัญหา เช่น การจราจรติดขัด คือคนที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น อยากมาเล่นที่พระประแดงเพราะจัดหลังที่อื่น แต่จะมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าๆง เพื่อดูแลการจราจรรอบพื้นที่ จัดช่องทางประสานหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ ตั้งกรวยยางจุดตัด-จุดกลับรถ ประกาศข้อบังคับห้ามรถบรรทุกถังน้ำและคนโดยสารเข้าพื้นที่ มีการตัดจุดคัดกรองบริเวณรอยต่อ อ.พระประแดง บริเวณ ถ.สุขสวัสดิ์ แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องเห็นใจ เพราะประชาชนก็อยากมาเล่นสาดน้ำ เพราะที่นี่มีตำนานของชุมชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี