สภาฯถก‘สมรสเท่าเทียม’วาระ 2-3 ‘ประธานกมธ.ฯ’วอนเพื่อนสส.ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ แจงกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้สิทธิ์ แต่เป็นการ‘คืนสิทธิ์ LGBT’ลั่นเลือกเกิดไม่ได้-ทุกพรรคก็หาเสียงเรื่องนี้ ระบุหากไฟเขียวไทยจะยืนอยู่บนเวทีโลกอย่างภาคภูมิใจ
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่... พ.ศ. ... (สมรสเท่าเทียม) วาระที่ 2 และ 3 ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งหมด 68 มาตรา มีผู้สงวนความเห็น 14 มาตรา รายละเอียดสำคัญมีการปรับแก้โดยเฉพาะเนื้อหาการหมั้นและสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ
เมื่อเริ่มเข้าสู่วาระ นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ได้กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน เพราะหลังจากมีการผ่านวาระ 1 เราได้ฟังเสียงรอบด้าน เราพูดคุยถกเถียงกันว่ากฎหมายฉบับนี้ ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเราพิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ชายหญิงทั่วไปเคยได้รับสิทธิ์อย่างไร ทุกคนจะไม่เสียสิทธิ์แม้แต่น้อย สิทธิในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และในทางเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น LGBT ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ
“ผมเชื่อว่าทุกคนในที่นี้ รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวบ้านทราบดี ว่าเราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชายเพศหญิงเท่านั้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้ เขาเลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้ เราต้องการที่จะคืนสิทธิ์ให้คนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิ์เขา” นายดนุพร กล่าว
นายดนุพร ย้ำว่า สิทธิ์การรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษีต่างๆ การเสียภาษี รวมถึงการลงนามยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิ์แบบนี้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ์ และทุกพรรคการเมือง ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เราเคยบอก ว่าจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม
“พวกเราเข้าใจอย่างดี ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม วันนี้ฝาก สส. ทุกท่านร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกที่ประเทศไทยวันนี้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเพศ” นายดนุพร กล่าว
จากนั้นเป็นการเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายรายมาตรา
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี