'ธรรมนัส'เดินหน้าโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หวังยกระดับราคาข้าวเกษตรกร ขออย่าโยงมั่ว ยันไม่โละทิ้งโครงการไร่ละ 1,000 บาท ลั่นชาวนาเกิดวิกฤตรัฐพร้อมดูแล
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีเสียงวิจารณ์โครงการปุ่ยคนละครึ่ง ที่ชาวนาบางส่วนไม่เห็นด้วย ว่า โครงการนี้เป็นมติที่เห็นชอบโดยคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชาวนา มีผู้แทนจากนายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการสมาคมของเขา ผู้แทนจากเกษตรกร การคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ออกมาเป็นมติ และนำส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นการเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกรชาวนา ตามที่ตนได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ เราจะนำไปสู่โครงการปุ๋ยแม่นยำ ถูกสูตร ถูกที่ ถูกเวลา เพื่อต้องการเพิ่มผลผลิต และให้ข้าวมีคุณภาพ เมื่อคณะกรรมการนโยบายข้าวเห็นชอบ กรมการข้าวในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ เสนอครม.เรียบร้อยแล้ว
หลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ฉะนั้นถามว่าพี่น้องชาวนาต้องการหรือไม่ ต้องดูว่า ธ.ก.ส.และกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดโอกาสให้เกษตรกรลงทะเบียนว่าสนใจโครงการนี้หรือไม่ ต้องดูตรงนี้ไม่ใช่ไปบังคับยัดปุ๋ยให้ชาวบ้านมันไม่ใช่ การสื่อสารต้องทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เกษตรกร และชาวนาต้องลงทะเบียนเอง ว่ายินดีจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ตรงนี้ต้องแยก บางคนไปวิพากษ์วิจารณ์มันเสียหาย ว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกร เกษตรกรไม่เข้าร่วม ก็ไม่ได้บังคับ
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า เมื่อเกษตรกรชาวนาลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ก็จะต้องไปเข้าแอปพลิเคชัน ของธ.ก.ส.ด้วย สิ่งสำคัญ หลายท่านมองว่าล็อคสเปคปุ๋ยหรือเปล่า ล็อคสูตรปุ๋ยหรือเปล่า และล็อคบริษัทหรือเปล่า บอกเลยว่าไม่ แต่เป็นการเปิดโอกาสประกอบการให้ทุกบริษัทผู้ประกอบการ และทุกยี่ห้อเข้าร่วมโครงการ ไม่ได้ไปล็อคสเปคสูตรนั้นสูตรนี้ เป็นการเปิดโอกาสทั้งหมดขอให้เข้าใจตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพผลิตผลการเกษตรประเภทข้าว
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หลายท่านถามว่าหากชาวนาไม่ต้องการปุ๋ย แต่ต้องการไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐเอาไว้ใช้เมื่อเกษตรกรมีปัญหา จากการปลูกข้าวที่ไม่มีคุณภาพซึ่งเกิดจากความแล้งหรือน้ำท่วม ส่งผลให้ข้าวเกิดความเสียหาย รัฐต้องเข้าไปเยียวยา ประเด็นสำคัญคือราคาข้าวปีไหนที่ตกต่ำมาก ตันละ 7-8 พันบาทชาวนาอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่า รัฐก็จะเข้าไปสนับสนุน โดยดูแลค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งรัฐบาลนี้ประกาศชัดเจน เราจะต้องพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่มปริมาณต่อไร่ และราคาข้าวต้องสูง ไม่ควรจะต่ำ กว่า 1.1 หมื่นบาท ถึง 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งแล้วแต่พันธุ์ข้าว และเมื่อข้าวราคาสูง รัฐจะต้องเข้าไปสนับสนุนอีกหรือ แต่ถ้าเข้าราคาต่ำ รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน ตรงนี้มันคนละเรื่องกันต้องแยก ยืนยันว่าไร่ละ 1,000 บาทนั้น รัฐยังสนับสนุนหากเกิดวิกฤตกับพี่น้องชาวนา โครงการนี้ยังมีอยู่ไม่ได้ยกเลิก
"การวิพากษ์วิจารณ์โดยนำไปโยงกันถือเป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน มันคนละเรื่องอย่าเอา 2 เรื่องมาผูกให้เป็นเรื่องเดียวกัน"
เมื่อถามว่า นายกฯ บอกว่าให้มีการทบทวนโครงการนี้ ตรงนั้นคือส่วนไหน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตอนนี้กระบวนการดำเนินการจะต้องไม่ให้เปิดช่องทางให้ข้าราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแสวงหาประโยชน์ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าต้องการให้เกษตรกรได้มีปุ๋ยใส่ในนาข้าวตัวเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าว และเพิ่มปริมาณ นายกฯ มีวัตถุประสงค์ตรงนี้ ส่วนผู้ประกอบการปุ๋ยก็จะต้องไปลงทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร เพราะเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ย เพราะเดี๋ยวจะได้ปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพอีก เมื่อลงทะเบียนกรมวิชาการเกษตรก็จะต้องให้บริษัทนำตัวอย่างมาทดสอบ ซึ่งปุ๋ยที่ใช้แต่ละแปลงนาก็ไม่เหมือนกัน โดยนายกฯ สั่งให้ทำให้ละเอียด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี