"วุฒิสภา"เริ่มถกงบฯเพิ่มเติมปี 67 หนุนดิจิทัลวอลเล็ต 1.22 แสนล้าน "นายกฯ"มาแจงเอง ยัน"หนี้สาธารณะ"ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ด้าน"สว.บุญจันทร์"ประเดิมซัด แจกหมื่น"กระตุ้นเศรษฐกิจ"หรือ"หาเสียงล่วงหน้า" โวยคนสูงอายุต้องจ่าย 4 พันบาท เพื่อซื้อโทรศัพท์มาขอเงินหมื่น เกทับ"คนละครึ่ง"รัฐบาลที่แล้วเข้าท่ากว่า
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี , นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง , นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.สำนักนายกฯ เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญมาพิจารณา แต่ให้ตั้งคณะ กมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 3 วาระรวด
โดย นายเศรษฐา กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท
นายเศรษฐา ย้ำว่า ประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ.2567 มีดังนี้ คือ 1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท โดยภาวะเศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค การลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
"ฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เม.ย.2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พ.ค.2567 มีจำนวน 3.9 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด" นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.60 ล้านล้านบาท จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 9.76 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 8.07 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายกฯ ชี้แจงเสร็จ ได้เดินทางออกจากรัฐสภาไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อทันที
ต่อมาเวลา 10.10 น. พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย สว.อภิปรายว่า นายกฯ บอกว่ามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ แต่ปรากฎว่ามีเงินกู้มา 1.1 แสนล้านบาท นี่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือโครงการเพิ่มหนี้ให้ประชาชนทุกคน การบอกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจนั้นกระตุ้นใคร กระตุ้นที่ไหน เพราะตนให้ทีมงานลงพื้นที่ที่จ.สุรินทร์ ทั้งร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง บ่นว่าจะให้เงินดิจิทัล อย่างไร สมมติว่าบางคนเลี้ยงไก่ มีคนเอาเงินดิจิทัลมาซื้อไข่ไก่ แล้วเจ้าของฟาร์มไก่เล็กจะเอาเงินไปซื้อของที่ไหน ตนจึงสงสัยว่ากระตุ้นนายทุนใหญ่หรือไม่ ซึ่งประชาชนรอฟังคำตอบอยู่ ว่าโครงการนี้ทำเพื่อกระตุ้นจริงหรือไม่ หรือเป็นการหาเสียงล่วงหน้า
"ท่านอย่าหลงไหลได้ปลื้มกับคนลงทะเบียนกว่า 24 ล้านคน ไม่ทราบว่า 24 ล้านคนนี้จะได้สิทธิ์หมดทุกคนหรือไม่ และมีหลายคนที่ไม่กล้าไปลง กลัวมาหลอกให้ดีใจเล่น พอถึงเวลาก็ไม่ให้ โดยอ้างโน้นอ้างนี้ และยังมีคุณยายที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ให้หลานไปซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ลงทะเบียนได้ ราคา 4 พันบาท ซึ่งเงินหมื่นบาทหายไปแล้ว 4 พันบาท อย่างนี้จะกระตุ้นตรงไหน โทรศัพท์ก็ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย และคนที่มีโทรศัพท์รุ่นเก่าก็ไม่มีความพร้อมในการลงทะเบียน กลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีความพร้อมมาก ประชานจึงสงสัยว่า โครงการนี้กระตุ้นใครกันแน่" พล.ต.ท.บุญจันทร์ กล่าว
พล.ต.ท.บุญจันทร์ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านบอกว่าตอนหาเสียงบอกจะได้เงินหมื่น ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีขั้นตอนเยอะขนาดนี้ หลายคนบอกว่าไม่เอาแล้ว ทำไมไม่จ่ายเงินสดให้พี่น้องประชาชนเลย เพราะประชาชนในพื้นที่เคยคุ้นชินกับโครงการคนละครึ่ง ตอนแรกก็บอกว่ารัฐบาลเอาเงินมาแจกได้อย่างไร แต่พอใช้ไปก็เข้าท่าเหมือนกัน เพราะคนที่ใช้ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบบ้าง ไม่ใช่แบมือรับจากรัฐบาลอย่างเดียว จะสร้างนิสัยเสียให้คนทางอ้อม ดังนั้นขอเรียนว่าประชาชนอยากได้เงินสด และขอลดเงื่อนไขและกระบวนการลงเพื่อให้ง่ายขึ้น
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี