2 นักเศรษฐศาสตร์ยกวิจัยยัน‘กาสิโนถูกกฎหมาย’เศรษฐกิจไทยได้ไม่คุ้มเสีย ข้องใจ‘ปล่อยกู้นักพนัน’หวังใครเล่น?
13 ส.ค. 2567 ที่ รร.เอเชีย ย่านราชเทวี กรุงเทพฯ มีการเสวนาหัวข้อ “วิพากษ์ ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ... แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” โดย ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากไปดูบันทึกหลักการและเหตุผล จะเห็นข้อความที่สะท้อนวิธีคิดของรัฐบาล อาทิ 1.การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศมาก 2.การมีกฎหมายฉบับนี้น่าจะส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวม และ 3.ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม หากไปดูนิยามคำว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ระบุว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญควบคู่กันทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม อีกทั้งต้องพิจารณาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ หากไปดูงานวิจัยในปี 2560 โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ทางวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่าง Journal of Gambling Studies พบว่า การมีกาสิโนถูกกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายประเด็น
อาทิ มีข้อค้นพบว่า ยิ่งประเทศหรือมลรัฐมีประเภทของการพนันถูกกฎหมายมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การพนันแพร่หลายมากขึ้นเท่านั้น นำไปสู่ปัญหาคนติดพนัน และปัญหาอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการพนัน เช่น หนี้ครัวเรือน ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว อาชญากรรม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังพบว่า ยิ่งกาสิโนถูกกฎหมายตั้งอยู่ในพื้นที่ใดนานขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ผุ้คนมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพนันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมกับการพนัน มีสถิติยืนยันโดยอ้างอิงฐานข้อมูชของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI)
ขณะที่ในด้านเเศรษฐกิจ สหรัฐฯ อนุญาตให้ตั้งกาสิโนถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2474 ที่เมืองลาส เวกัส มลรัฐเนวาดา และต่อมาในปี 2519 ที่เมืองแอตแลนติก ซิตี้ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งนำมาสู่การศึกษาในมิติเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างที่คาดหวังจริงหรือไม่ ไล่ตั้งแต่ 1.สร้างรายได้ให้ภาครัฐ โดย เอิร์ล ไกรโนลส์ (Earl Grinols) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาประเด็นเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพนันในสหรัฐฯ มายาวนาน ชี้ว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องมีรายจ่ายเยียวยาผลกระทบจากการพนันถึง 3 เหรียญสหรัฐ แต่มีรายได้ส่วนนี้เพียง 1 เหรียญสหรัฐ
2.ส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ มีผลการศึกษาจากหน่วยงานด้านแรงงานของมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ พบว่า แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ก่อมูลค่าเพิ่มกับเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากงานในธุรกิจกาสิโนส่วนใหญ่เป็นงานประเภททักษะต่ำ (Low Skill) การคาดหวังรายได้จากธุรกิจนี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นประเทศรายได้สูงจึงเป็นไปได้ยาก
และ 3.กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ หากดูตัวอย่างจากประเทศที่ไม่ไกลจากไทยอย่างฟิลิปปินส์ มีการอนุญาตให้ตั้งกาสิโนถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2519 โดยมี Philippine Amusement and Gaming Corporation เป็นหน่วยงานกำกับดูแล แต่ระยะหลังๆ เริ่มหันมาใช้ระบบการออกใบอนุญาต ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ก็มีแนวคิดจะใช้ระบบนีเช่นกัน ทั้งนี้ ในความเป็นจริงชาวฟิลิปปินส์ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ไม่ต้องการให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย เพราะขัดกับหลักการทางศาสนา แต่รัฐบาลก็ผลักดันให้ตั้งจนได้ในที่สุด
“ประเด็นที่สำคัญตามมาก็คือ ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่นของประเทศฟิลิปปินส์ยังอยู่ในระดับที่รุนแรง เพราะฉะนั้นแม้จะเปิดกาสิโนมาตั้งแต่ปี 1976 (2519) แต่แม้ในปัจจุบันฟิลิปปินส์ก็ยังติดอันดับประเทศยากจนอยู่ดี มี GDP Per Capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว-ต่อคน) ที่ต่ำกว่าประเทศไทย” ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว
ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ตัวอย่างจากสหรัฐฯ อย่างเมืองแอตแลนติก ซิตี้ นั้นก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย เพราะเป็นเมืองที่มีชายหาดสวยงาม แต่ก็คาดหวังว่าธุรกิจการพนันจะนำเม็ดเงินเข้ามาในพื้นที่โดยมองตัวอย่างจากเมืองลาส เวกัส อีกทั้งก่อนจะอนุญาตให้มีการพนันถูกกฎหมาย แอตแลนติก ซิตี้ ก็มีปัญหาการพนันผิดกฎหมายอยู่แล้ว รวมไปถึงปัญหาการขายบริการทางเพศ ปัญหาทุจริตของนักการเมืองท้องถิ่น
แต่เมื่อมีการอนุญาตให้มีธุรกิจการพนันถูกกฎหมายในเมืองแอตแลนติก ซิตี้ ผลการศึกษาของ Federal Reserve Bank of Philadelphia กลับชี้ว่า กาสิโนถูกกฎหมายไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับเมืองดังกล่าว เช่น รายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ในมลรัฐเดียวกัน มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนร้อยละ 32.4 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของมลรัฐซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.7 และแม้เมืองจะจัดเก็บรายได้จากกาสิโนผ่านภาษีอสังหาริมทรัพย์ได้มากถึงร้อยละ 80 ของรายได้จากภาษีอสังหาฯ ทั้งหมด อีกทั้งยังนำรายได้ส่วนนี้ไปใช้จ่ายด้านการศึกษา แต่เยาวชนในพื้นที่กลับมีปัญหาเรียนไม่จบสูงมาก
ที่สำคัญคือ แม้จะมีการอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย แต่การพนันผิดกฎหมายก็ไม่ได้หมดไป แม้สหรัฐฯ จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างดีก็ตาม ทั้งนี้ ในกรณีสหรัฐฯ ที่พบปัญหาจากเมืองแอตแลนติก ซิตี้ ซึ่งเหตุที่ Federal Reserve Bank of Philadelphia สนับสนุนให้ศึกษาผลกระทบ เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวอยู่ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งติดกับมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปเล่นการพนันในเมืองแอตแลนติก ซิตี้ และกว่าที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย จะยอมให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย ต้องรอจนถึงปี 2547
“ประเด็นที่น่าสนใจคือการฆ่าตัวตาย ผลการศึกษาชี้ชัดว่าคนที่ติดการพนันจะมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติถึง 12 เท่า แล้วที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือถ้าติดการพนันไปแล้วโอกาสที่จะกลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะมี่คุณภาพ มีศักยภาพ ยากมาก ต่อให้มีการบำบัดก็ตาม เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่มองการณ์ไกลและหวังดีกับประเทศชาติและประชาชน จะไม่นำประชาชนให้ไปติดการพนันก่อนแล้วค่อยมาบำบัด” ผศ.ดร.ชิดตะวัน ระบุ
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข่าวแนวคิดการตั้งกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทยได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยมีประเด็นหนึ่งที่นานาชาติกังวล คือบริษัทที่ได้มาตรฐานด้านธรรมาภิบาลจะเลือกลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ เพราะไทยมีปัญหาเรื่องนี้และอาจทำให้นักลงทุนเสียชื่อเสียงได้
ซึ่งหากดูดัชนีคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) ที่มีการจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่ปี 2538 จากเต็ม 100 คะแนน ซึ่งหมายถึงปลอดการทุจริตหรือมีการทุจริตน้อยมาก ประเทศไทยไม่เคยได้เกิน 40 คะแนนเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้จะพยายามตั้งองค์กรต่างๆ มาแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ตาม
“ถ้าตั้งกาสิโนมาแล้วคนเล่นเป็นคนที่อื่น พื้นที่นั้นปลอดภัยในแง่ที่ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จะดี สังคมก็ไม่ได้รับผลกระทบ ลาส เวกัส เป็นอะไรในดวงใจ แต่คนในลาส เวกัส คนที่อาศัยในนั้นเล่นน้อยมาก คนนอกหมดเลย นอกประเทศ นอกรัฐ หลังจากนั้นการเอาโมเดลลาส เวกัส มาพูดไม่น่าจะใช่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หรือแม้แต่ที่มาเก๊าก็แบบเดียวกัน คือไม่ใช่ว่าจะมันสร้างเศรษฐกิจเท่านั้นเท่านี้ เพราะว่าในความเป็นจริงถ้าเป็นคนภายในเล่น มันจะสร้างต้นทุนทางสังคมมหาศาล แล้วมันก็จะเกิดว่าภาษีจัดเก็บได้ก็ไม่พอ” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวต่อไปว่า เมื่อดู ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ สิ่งที่ตนตกใจคือมีเรื่องการอนุญาตให้กาสิโนปล่อยสินเชื่อกับนักพนันกู้ได้ เพราะหากไปดูตัวอย่างกาสิโนถูกกฎหมายจากต่างประเทศ หากเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รัฐจะพยายามออกมาตรการป้องกันไม่ให้พลเมืองในประเทศเข้าไปเล่น หรือประเทศอย่างสิงคโปร์ มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าไปเล่น ก็มีชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยที่ยื่นเรื่องขอถอนชื่อตนเองจากการได้รับอนุญาตให้เข้าไปเล่น สะท้อนว่าสิงคโปร์ก็มีปัญหาสังคมจากการพนันอย่างหนักเช่นกัน
แต่ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเดินทาง มีชาวต่างชาติเข้าไปแต่ไม่มีที่เที่ยว ดังนั้นที่เที่ยวก็จะอยู่ตรงกาสิโน ในขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวกระจายมากในพื้นที่ต่างๆ กาสิโนจึงไม่น่าจะดึงดูดได้ หรือหากจะคาดหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งหลายประเทศในทวีปเอเชียก็คาดหวังเม็ดเงินจากคนกลุ่มนี้ รัฐบาลประเทศจีนก็ออกมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นมาดึงพลเมืองของตนไปเล่นการพนัน เล่น การจัดทัวร์พาชาวจีนไปต่างประเทศเพื่อไปเล่นการพนันโดยเฉพาะ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายของจีน
“ดังนั้นสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นคือมันค่อนข้างจะตกอยู่กับคนในประเทศ เพียงแต่ว่าปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ เพราะถ้าบอกว่าทำไว้เพื่อให้คนในประเทศเล่นนี่สงสัยเวทีจะใหญ่โต เพราะจากการสำรวจของเราหลายปี คนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่มีกาสิโนถูกกฎหมาย มากกว่าร้อยละ 50 คนที่เห็นด้วยมีประมาณร้อยละสามสิบกว่า อีกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี” รศ.ดร.นวลน้อย ระบุ
รศ.ดร.นวลน้อย ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องการอนุญาตให้กาสิโนให้สินเชื่อกับนักพนัน ถือเป็นเรื่องที่หนักที่สุด เพราะมีคำถามว่าจะให้กับใคร หากบอกว่าให้กับนักท่องเที่ยวแล้วจะบังคับให้ชำระหนี้ได้อย่างไรเพราะเดินทางกลับออกนอกประเทศไปแล้ว หรือการออกกฎหมายห้ามมีผู้แทนไปดึงคนมาเล่นการพนันในกาสิโน ซึ่งคนทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่จะเน้นการดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยจะมีการรับรองเครดิตและการให้กู้เงิน ดังตัวอย่างของกาสิโนที่มาเก๊า
แต่เมื่อไม่ให้มีอาชีพผู้แทนดึงชาวต่างชาติเล่นกาสิโนในประเทศไทย แล้วจะไปปล่อยสินเชื่อให้ชาวต่างชาติได้อย่างไร แต่จินตนาการว่าเป็นคนไทยได้ หรืออย่างการให้เช่าที่ดินประกอบกิจการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ สามารถเช่าได้นานถึง 50 ปี และอาจต่อได้อีก ซึ่งเทียบเท่ากับการเช่าที่ดินในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็มีคำถามว่า ในขณะที่โครงการ EEC ถูกคาดหวังว่าหากทำสำเร็จจะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย แต่กาสิโนหรือสถานบันเทิงครบวงจรใช่แบบนั้นหรือไม่ และอาจมีต้นทุนสูงกว่าหากสุดท้ายผู้เล่นเป็นคนในประเทศ
ด้าน นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ตั้งข้อสังเกตเช่นกันในเรื่องของการที่ ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีข้อที่อนุญาตให้กาสิโนปล่อยสินเชื่อกับนักพนัน ว่า หากบอกว่าเป็น Entertain หรือความบันเทิง เมื่อเล่นจนเงินหมดแล้วก็ควรหยุดเล่นเพียงเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเล่นจนเงินหมดแล้วไปขอกู้เงินจากกาสิโนได้ แบบนี้หมายความว่าอย่างไร นอกจากนั้น กฎหมายยังให้อำนาจคณะกรรมการนโยบาย หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” กำหนดแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับธุรกิจกาสิโนอย่างล้นฟ้า รวมถึงการกำหนดค่าธรรมเนียมคนไทยที่จะเข้าไปเล่นด้วย
“คนไทยเข้าไปต้องจ่ายเท่าไร? ผมว่าสื่อหลงทางแล้ว เขาเขียนไว้ในบัญชีแนบท้ายว่าครั้งละ 5,000 บาท แต่เขาไม่ได้ล็อกไว้ต้องเป็น 5,000 อยู่ที่ข้อกำหนดของบอร์ด ฉะนั้นมันจะไม่ใช่ 5,000 ก็ได้ เขาเขียนว่าต้องไม่เกินตามที่บัญชีแนบท้ายกำหนด ก็คือไม่เกิน 5,000 บาท แต่ถ้าเกิดซูเปอร์บอร์ดบอกว่าต่ำว่า 5,000 ก็ได้ เราถูกเขาหลอกว่ามันต้อง 5,000 เท่านั้นถึงจะเข้าได้ ไม่ใช่! เขาให้อำนาจอยู่ที่ซูเปอร์บอร์ด” นายธนากร กล่าว
ขณะที่ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวเสริมว่า ในเรื่องประโยชน์ของกาสิโนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว หากไปดูรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่วิเคราะห์การท่องเที่ยวในปี 2566 พบว่า พฤติกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป โดนนักท่องเที่ยวต้องการหาประสบการณ์สัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบคนท้องถิ่น (Living and Eat Like a Local) ระหว่างอยู่ในเมืองไทย ซึ่งเป็นผลจากอิมธิพลของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ออกไปทั้งโดยคนไทยและชาวต่างชาติ
“เขาอยากจะไปพักกับชุมชน อยากจะไปอยู่โฮมสเตย์ อยากไปท่องเที่ยวที่มันเป็นแหล่งธรรมชาติ อยากเลือกกินอาหารข้างทาง นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยลองดูสิ ไปเยาวราช อันนี้คือสิ่งที่เขาอยาก นี่กสิกรไทยมีงานวิจัยออกมาอย่างนี้เลยนะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ออกมามันสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าหลักการและเหตุผลที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ตกลงมันใช่หรือเปล่า?” นายวิเชษฐ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี