ปชน.หนุนแก้รธน.
ทบทวนปมยุบพรรค-จริยธรรม
เลิกให้อำนาจศาลผูกขาดตีความ
“พริษฐ์”โฆษกปชน.เผยยื่นร่างแก้ไขรธน.ทบทวนเงื่อนไข“ยุบพรรค-นิยามมาตรฐานจริยธรรม-เลิกให้ศาลรธน.ผูกขาดตีความ-เปลี่ยนเป็นระบบแสดงความรับผิดชอบยอมรับ” ห่วงรธน.ใหม่ คลอดไม่ทันใช้เลือกตั้งครั้งหน้า สภาย้ายป้ายชื่อ“พลังประชารัฐ”อยู่ที่นั่ง“ฝ่ายค้าน” ขณะ“สุวรรณา”สส.บึงกาฬภูมิใจไทย “หยุดปฏิบัติหน้าที่หลังศาลฎีการับคำร้องกกต.จำนวนสส.เหลือแค่492คน ด้าน
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ60ของพรรค ปชน.ว่า เป็นการเดินคู่ขนานเร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็ว ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งพรรค ปชน.ยื่นร่างแก้ไขประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ยกเลิกมาตรามาตรา279 ที่เกี่ยวกับประกาศและคำสั่ง คสช.รวมถึงเพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหารไปแล้ว คาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 25ก.ย.นี้
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังดำเนินการ คือ การแก้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยมี 2ประเด็น ได้แก่ 1.ทบทวนแก้ไขอำนาจการยุบพรรค ซึ่งจะต้องมีการยื่นร่างแก้ไข พรป.พรรคการเมือง เพื่อให้สถาบันการเมืองยึดโยงกับประชาชน รวงมถึงเงื่อนไขการยุบพรรค ซึ่งคาดว่าจะมีร่างฉบับกลางที่เซ็นร่วมกันในกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯและอาจจะมีร่างของพรรคการเมืองอื่นยื่นประกบ 2.ทบทวนอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ถูกเพิ่มเช้ามาในรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม แต่ต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ สามารถปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างสุจริต
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญ60 นำมาตราฐานทางจริยธรรมมาบรรจุในกฎหมาย อาจเกิดปัญหาได้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความเป็นนามธรรมสูง แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่กลับให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมและบังคับใช้กับทุกองค์กร เมื่อมีการยื่นเรื่องให้วินิจฉัย องค์กรที่วินิจฉัยไต่สวนคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เรามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง เช่น หากเกิดกรณีการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกระแสข้อวิจารณ์ทางสังคม ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลไปถึงคูหาเลือกตั้ง สิ่งที่เรามองเป็นปัญหาคือนำเรื่องที่เป็นนามธรรมในจริยธรรมกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมายและให้อำนาจกับองค์กรกลุ่มเดียวในการนิยาม มีบทบาทหลักในการตีความวินิจฉัย สิ่งที่ต้องการเห็นคือ การปรับปรุงกำกับจริยธรรม อย่างแรกมองว่า เรื่องจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิ่งสำคัญคือ ความรับผิดรับผิดชอบทางการเมือง” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นการยกเว้นปรับปรุงเนื้อหาหมวด 1 เพียงแต่วางกรอบไว้ว่า การแก้ไขจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ อีกทั้งที่ผ่านมา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีการปรับปรุงหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างใด เมื่อถามว่า ประเมินกรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในช่วงเวลา 3 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาลอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า กระบวนการทำฉบับใหม่อาศัยเวลา หากเดินตามรถแบบของรัฐบาล ที่ต้องทำประชามติ 3ครั้งและ1ปีที่ผ่านมายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ทำให้เวลาถูกบีบ และตัวแปรเยอะเกินกว่าจะฟันธงได้ ยอมรับกังวลใจมีความเสี่ยงหากรัฐบาลไม่วางแผนอย่างรอบคอบ อาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป อย่างที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ฝ่ายค้านไม่ได้นิ่งนอนใจ รอชมอย่างเดียวและพยายาม ยื่นข้อเสนอและเร่งรัด กระบวนการตรงนี้ให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวพาดพิงพรรคประชาชน เป็นพรรคที่มีแนวความคิดปฏิวัติ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเป็นพรรคที่มีแนวความคิดปฏิรูป โฆษกพรรคประชาชน กล่าวว่า มีการตีตราว่า เรียกเราพรรคปฏิวัติและเรียกพรรครัฐบาลว่าเป็นสายปฏิรูป ส่วนตัวมองว่าคำว่า ปฏิวัติขึ้นอยู่กับคนที่จะตีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พรรคประชาชนก็ยืนยันว่า เราไม่เจตนาและจุดยืนเช่นนั้น แต่ถ้าปฏิวัติจะหมายถึงการยอมรับว่า บางปัญหาในประเทศอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรื่องการศึกษาที่จะต้องมีการจัดทำหลักสูตรใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ที่ต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราเห็นถึงความจำเป็นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน และการแก้ปัญหาหลายอย่างครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่แล้วได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิเชษฐ์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภา คนที่1และนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานสภาคนที่2
จากนั้นประธานได้แจ้งคำสั่งศาลฎีกาว่าประธานศาลฎีกา ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลฎีกากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายสุววรรณา กุมภิโร สส.บึงกาฬ เขต2 พรรคภูมิใจไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา138และมาตรา39 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้รับคำร้องดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และอ่านให้ผู้ร้องฟังเมื่อวันที่ 30สิงหาคม2567 ซึ่งมีผลให้นายสุวรรณา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่ามิได้กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 วรรคสี่ ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนู.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มาตรา138 วรรคสาม ดังนั้น ปัจจุบัน สส.เท่าที่มีอยู่ และปฎิบัติหน้าที่ได้จำนวน 492 คน ประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือ 246 คน
โดยการประชุมในวันนี้ เจ้าหน้าที่สำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ได้นำป้ายชื่อพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ไปวางอยู่ด้านหลังพรรคประชาชน (ปชน.) ในโซนที่นั่งของพรรคฝ่ายค้านแล้ว จากเดิมก่อนหน้านี้ป้ายพรรคประชารัฐจะอยู่ด้านหน้าบัลลังค์ ฝั่งพรรครัฐบาล โดยพื้นที่เดิมของพรรคพลังประชารัฐ เจ้าหน้าที่นำป้ายชื่อพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ขยับมาแทนที่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี