‘ปชน.’สวน‘เต้น’ รับต้าน‘รัฐประหาร’ยาก แล้ว‘เพื่อไทย’จะหาเสียงไว้ทำไม ข้องใจเจออำนาจพรรคอื่นกดไว้หรือไม่ โวถ้า‘อดีตก้าวไกล’ไม่นำชง ก็ไร้ใครขยับ รับร่างฯฉบับ‘หัวเขียง’ใกล้เคียงพรรคส้ม ปลุกเพื่อนนักการเมืองลองดูก่อน ร่วมสร้างกลไกป้อง‘ปฏิวัติ’ไม่เสียหาย ชู‘เกาหลีใต้’ให้สภามีอำนาจถ่วงดุลได้
11 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของฝ่ายค้านต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะเป็นผู้เสนอ ว่า จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากชุดกฎหมายชุดแรกที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นไป ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ปี66 เพียงแต่เพิ่งได้เข้ามาในคิวของสภาฯ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ขอไปพิจารณาภายใน 60 วัน และคืนกลับมาที่สภาฯ ก่อนปิดสมัยประชุมพอดี ถึงได้มีการขยับเคลื่อนไหวของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยที่จะยื่นเข้ามาประกบเอง
“ต้องพูดตามตรงว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยื่นเข้าไปในตอนนั้น และไม่ได้เข้าคิวสภาฯ ก็อาจจะไม่มีพรรคไหนที่จะเริ่มเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยตัวเองเลย ซึ่งเราเป็นคนยื่นเอง ดังนั้นเราจึงเห็นด้วยกับเนื้อหาร่างการแก้นี้อยู่แล้ว และร่างของนายประยุทธ์ก็ถือว่าใช่ได้ และค่อนข้างใกล้เคียง แตกต่างเพียงรายละเอียด ซึ่งตนมองว่า เป็นจุดประสงค์หลักของการรับร่างวาระหนึ่ง และก็เข้าไปพูดคุยกันในกรรมาธิการ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ ย้ำว่า พรรคประชาชนเห็นด้วยกับร่างของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว อีกทั้ง ตนเห็นว่า ร่างนี้อาจจะถูกบิดไปแล้วไม่ตรง คือกฎหมายโดยตรงไม่ใช่การป้องกันการรัฐประหารโดยตรงขนาดนั้น แต่คือการทำให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งตนคิดว่าไม่มีแค่พรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ที่หาเสียงนี้ และพรรคเพื่อไทยก็หาเสียงในเรื่องนี้ การปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าทางพรรคเพื่อไทยยังมีจุดยืนเช่นนั้นอยู่หรือไม่
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุเรื่องนี้โอกาสสำเร็จยาก และอาจจะไม่ได้จำเป็นหรือแก้ได้จริงว่า ตนมองว่า หากไม่สามารถแก้ได้จริงแล้วพรรคเพื่อไทยจะหาเสียงเรื่องนี้ไว้ทำไม รวมถึงที่บอกว่าสำเร็จยากนั้น นายณัฐวุฒิ ประเมินจากอะไร เพราะสภาฯ มี 500 คน ซึ่งพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนที่ยื่นร่างนี้ไปแล้ว เสียงของทั้ง 2 พรรคก็ผ่านเสียงส่วนมากแน่นอน หรือที่ประเมินว่าผ่านได้ยากนั้นเพราะมีอำนาจอื่นๆ หรือพรรคอื่นๆ คอยกดพรรคเพื่อไทยอยู่ ก็บอกมาตามตรง
เมื่อถามว่า หมายความว่าพรรคเพื่อไทยเกรงใจพรรคร่วมอื่นหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง ที่เราอยากได้เสียงจากประชาชน และเราก็หาเสียงโดยการนำนโยบายไปเสนอกับประชาชนว่า ถ้าได้รับเลือกเข้ามา เราจะทำอะไรบ้าง ซึ่งหากย้อนกลับไปดูตัวเองว่า ตอนนั้นหาเสียงอะไรไว้ ก็คงจะตัดสินใจได้ไม่ยากว่า จะทำเรื่องนี้ในสภาอย่างไร จะถอนหรือไม่ถอน และจะลงมติเห็นชอบหรือไม่อย่างไร ก็ต้องลองไปพิจารณาดู หากคิดว่าจะทำไปตามแนวทางพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงน้อยกว่าท่านครึ่งหนึ่ง ก็ลองดูว่า ประชาชนจะตัดสินอย่างไรในเลือกตั้งครั้งหน้า หากเอาคำพูดในวันนี้ไปเปรียบเทียบกับเวทีปราศรัยหาเสียงก็จะรู้ว่ามันไม่สอดคล้องกัน
เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยถอยร่างดังกล่าว พรรคประชาชนจะแก้เกมอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ยังไงวาระนี้ก็ต้องเข้าสู่สภาฯ อยู่แล้ว เพราะเป็นร่างที่ยื่นตั้งแต่พรรคก้าวไกล และจะถูกบรรจุเป็นเรื่องด่วนในสภาฯ อยู่แล้ว ซึ่งในวันพุธหน้า หากไม่มีกฎหมายใดที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว หรือมีไม่มาก เรื่องนี้ก็จะอยู่ในเรื่องด่วน และเป็นไปได้ว่าจะเข้าในสัปดาห์หน้า และเราก็โหวตรับหลักการอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะเข้า เราก็คงต้องสื่อสารประเด็นที่เราอยากจะแก้ให้ทหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างชัดเจนมากขึ้น และการป้องกันการรัฐประหารอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่สามารถไปแก้ที่จุดอื่นได้ และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพตามที่หลายๆ พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้มากกว่า
เมื่อถามว่าเหตุผลที่หลายพรรคออกมาค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์กับนักการเมือง นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ตนมองว่า ที่หลายๆ พรรคออกมาบอกว่า ร่างกฎหมายนี้ต้านไม่ได้ หากเขาจะทำรัฐประหาร เขาก็ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัว มองว่า การแก้ มันสามารถลองดูก่อนได้ ซึ่งการแก้เพื่อมีช่องทางในการป้องกันเอาไว้ ก็ไม่ได้มีใครเสีย หากใช้ไม่ได้ผลก็ไม่ได้ผล แต่ถึงเวลานั้นก็อาจจะได้ผลก็ได้ เพราะหากเกิดขึ้นจริง เราก็ไม่สามารถต้านได้อยู่แล้ว แต่หากลองก็เผื่อจะได้ผล และคงไม่มีนักการเมืองพรรคการเมืองใด ที่ออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นคงไม่มาตั้งพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเราพิสูจน์ได้ โดยการลองสร้างกลไกบางอย่างให้อำนาจของประชาชน สามารถต่อต้านอำนาจนอกระบบของระบอบประชาธิปไตยได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีกลไกให้รัฐสภาทำงาน
“ถ้าเราลองสร้างกลไกเอาไว้ มันได้ผลหรือไม่ได้ผลไม่รู้ แต่มันมีกลไกที่ถ้าทำสำเร็จ มันอาจจะต่อต้านอำนาจนอกระบบได้สำเร็จก็ได้” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี