"อุตตม"เตือน! ไทยเร่งเตรียมความพร้อมรับมือมรสุมเศรษฐกิจใหญ่ในปี 2568 สืบเนื่องจากเวทีการค้าโลกปั่นป่วนและการขยายตัวเศรษฐกิจที่จะชะลอลง
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ซึ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือเพียง 2.8% จากเดิม 3.3% จากความไม่แน่นอนทางการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับเศรษฐกิจไทย IMF ปรับลดคาดการณ์เหลือเพียง 1.8% จากเดิม 2.9% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน
ดร.อุตตม กล่าวว่า ท่ามกลางความผันผวนในเวทีโลก ไทยจำเป็นต้องเจรจาการค้ากับสหรัฐอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยมีความชัดเจนในเป้าหมายและกลยุทธ์การเจรจา เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ แต่นอกจากการเจรจาฯ ให้สำเร็จแล้ว เรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ความพร้อมในการรับมือกับความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ที่จะกระทบต่อการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงได้
ดร.อุตตม ชี้ว่า ความพร้อมที่จำเป็นอย่างยิ่งในภาวะการณ์เช่นนี้คือ ความพร้อมทางการคลังหรือ "พื้นที่ทางการคลัง" ซึ่งในปัจจุบันมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความพร้อมและความยืดหยุ่นทางการคลังของประเทศ เช่น รายได้รัฐต่ำเพียง 14.87% ของ GDP ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการจัดงบประมาณให้เพียงพอ หากเกิดภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน
ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายนั้น ล่าสุดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 4.5% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับการรักษาเสถียรภาพทางการคลังที่ไม่ควรเกิน 3% และหากขาดดุลต่อเนื่องจะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็ว เสี่ยงผิดวินัยการคลัง และเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ปี 2568 ได้ขอกู้ไปแล้ว 865,700 ล้านบาท เกือบแตะเพดานวงเงินกู้สูงสุดที่ 970,768 ล้านบาท หากเกิดภาวะฉุกเฉิน ช่องว่างในการกู้เพิ่มจะเหลือน้อยมาก ขณะเดียวกัน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุดอยู่ที่ 64.21% และอาจแตะเพดาน 70% ในอีก 2 ปี รัฐบาลอาจต้องพิจารณาปรับเพิ่มเพดานหนี้เกิน 70% ซึ่งควรมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงเหตุผลและความจำเป็น
ดร.อุตตม กล่าวว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2569 จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความพร้อมทางเศรษฐกิจการคลังของประเทศ และเสนอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของโครงการและกิจกรรมที่จะได้รับจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งเน้นโครงการและกิจกรรมที่จะยกระดับ “ขีดความสามารถของประเทศ” ควบคู่ไปกับการสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ” เช่น การพัฒนาทักษะแรงงานไทย การยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตและบริการที่กำลังเกิดขึ้นในเวทีโลก รวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและดิจิทัลในทุกภูมิภาคให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และที่สำคัญยิ่งคือการจัดสรรงบประมาณเพื่อเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้และสะสมความมั่งคั่งจากการเกษตร การผลิตชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับแรงปะทะจากความปั่นป่วนจากภายนอก
"ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน และเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ถือเป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง" ดร.อุตตม กล่าวทิ้งท้าย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี