‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ลงพื้นที่ติดตามแก้ปัญหาน้ำ ‘โคราช’ สั่งเตรียมพร้อมแผนป้องกันภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง-อุทกภัยล่วงหน้า พร้อมมอบ ‘กรมชลประทาน’ บริหารจัดการน้ำต้นทุน 4 อ่างเก็บน้ำหลัก ให้เพียงพอความต้องการประชาชน
วันที่ 3 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 13 จังหวัดนครราชสีมา โดยในช่วงเช้าได้ติดตามสถานการณ์น้ำและปัญหาภัยแล้งของอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา , ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
โดยนายประเสริฐ มอบนโยบายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยให้ สทนช. ประสานจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เตรียมแผนป้องกันสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่เปราะบางทั้งอุทกภัยและภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และเมื่อเกิดเหตุต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด พร้อมมอบหมายกรมชลประทานให้บริหารจัดการน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน อ่างเก็บน้ำลำแซะ และวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ โดยให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก พร้อมให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของจังหวัด
นายประเสริฐ เน้นย้ำให้จังหวัดนครราชสีมา กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ และเพื่อให้จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลและจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีความจำเป็น เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลต่อไป
ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างใกล้ชิด โดยภาพรวมพบว่า ปริมาตรน้ำปีนี้น้อยกว่าปี 2567 ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำในจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด 4,959 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 429.40 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 32% ของความจุเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาตรน้ำ 65.63 ล้าน ลบ.ม. (42% ของความจุเก็บกัก) อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาตรน้ำ 52.77 ล้าน ลบ.ม. (37% ของความจุเก็บกัก) อ่างเก็บน้ำลำแซะ มีปริมาตรน้ำ 107.91 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุเก็บกัก) และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง แม้ว่าปัจจุบันจะมีปริมาตรน้ำเพียง 50.14 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 16% ของความจุเก็บกัก แต่ยังเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวดและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมาหน่วยงานได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีเมื่อคราวลงพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายน 2567 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการในวันนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง รวมถึงป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝนนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี