สอบเดือด! 'สมชาย' นาน 8 ชม. DSIเผยวิศวกรผู้จัดการโครงการตึก สตง.ถล่ม ให้การเป็นประโยชน์ เน้นประเด็นโผล่ลายเซ็นชื่อรับรองการแก้ไขแบบ เจ้าตัวยอมรับ รู้รายละเอียดเอกสารแก้ไขแบบทั้ง 9 ฉบับ รวมถึงยืนยันว่าการแก้ไขแบบก่อสร้างเป็นการทำงานตามขั้นตอนกฎหมาย สอดประสานทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง-ผู้ออกแบบ-ผู้ควบคุมงาน อึ้งอีก !! 2 ยักษ์ใหญ่ก่อสร้าง “บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ” คว้างานก่อสร้างเหมาช่วงรพ.ตำรวจ มูลค่ากว่า 600 ล้าน
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 กรณีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือคดีนอมินี บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงผลการสอบสวนปากคำนายสมชาย ทรัพย์เย็น พยานรายสำคัญ ซึ่งเป็นวิศวกรผู้จัดการโครงการ ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ในฐานะผู้ควบคุมงาน ซึ่งปรากฏชื่อในการลงนามให้ปรับแก้ Core Lift ว่า วานนี้ (2 พฤษภาคม) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการสอบปากคำนายสมชาย ตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนถึงเวลา 21.00 น. เป็นเวลากว่า 8 ชม. โดยจากคำให้การการชี้แจงของนายสมชาย ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้จัดการโครงการ ถือเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนในคดีอย่างมาก
โดยมีการอธิบายว่า ตามหลักการทำงานก่อสร้างโครงการต่างๆย่อมประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ 1.เจ้าของงาน 2.ผู้ออกแบบ 3.ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ 4.ผู้ควบคุมงาน ดังนั้น กรณีเฉพาะในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ควบคุมงาน ย่อมมีการพูดคุยประสานงานกัน เพราะถ้าหน้างานการก่อสร้างมีปัญหาอะไร ก็ต้องแจ้งมายังผู้ควบคุมงาน และเนื่องด้วยผู้ควบคุมงาน บทบาทก็คือการรับจ้างทำหน้าที่ควบคุมงานให้กับผู้ว่าจ้าง(สตง.) ฉะนั้น การเซ็นชื่อลงนามในเอกสารการควบคุมงานก่อสร้าง(แก้แบบตึก สตง.) เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ตนเองไม่ได้ถือเป็นคนตัดสินใจทั้งหมด อีกทั้งการจะแก้ไขแบบได้ ก็ต้องมีการถูกตรวจพบก่อนว่าเหตุใดในการออกแบบเพื่อจะนำไปสู่การก่อสร้าง จึงต้องมีการแก้ไขแบบก่อน ซึ่งก็ต้องเสนอตามลำดับชั้น ทางผู้ว่าจ้างเองก็ต้องรับทราบเพื่อให้การอนุมัติ จึงได้มีการก่อสร้างตามแบบที่ปรับแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และระหว่างการก่อสร้างนั้นก็ต้องมีการควบคุมงานเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ นายสมชายยอมรับว่ารู้รายละเอียดเอกสารแก้ไขแบบทั้ง 9 ฉบับ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องรับทราบตามการทำงานอยู่แล้ว
“สำหรับการแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) และผนังรับแรงเฉือน (Core Wall) หรือส่วนใดก็ตาม นายสมชาย ให้ข้อมูลว่าทุกคนภายใต้สัญญาโครงการฯต้องรับรู้รับทราบหมด เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวกฎหมาย อาทิ กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ(หินแกรนิต) ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย ต้องร่วมกันพิจารณา มิใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจตัดสินใจทั้งหมด“ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยด้วยว่า กรณีของนายสมชาย มีเอกสารเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องลงนามเซ็นรับรอง ไม่เพียงแต่เอกสารการปรับแก้แบบ แต่ด้วยความที่เจ้าตัว คือ ผู้จัดการโครงการก่อสร้างจึงจะมีพนักงานคอยเตรียมเอกสารให้เซ็น อาทิ แบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำสัปดาห์ และแบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำเดือน เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีของนายสมชาย ทรัพย์เย็น และนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง.ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW นั้น นายสมชายได้ให้การว่า ไม่เคยเจอนายสมเกียรติ ที่ไซต์งานก่อสร้าง อีกทั้งระหว่างบทบาทของนายสมชาย กับนายสมเกียรติ หากดูตามตำแหน่งในเอกสาร ก็ดูแลรับผิดชอบกันคนละส่วน เพราะนายสมชาย คือผู้จัดการโครงการ หากมีปัญหาใดในระหว่างการก่อสร้างก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยต่อว่า ประเด็นที่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง.ในเรื่องนี้จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ 1.เจ้าของลายเซ็นที่ถูกปลอมในเอกสารถือเป็นผู้เสียหาย และ 2.สตง.ในฐานะที่ถูกนิติบุคคลนำลายเซ็นในเอกสารมาใช้ ดังนั้น ปัจจุบันเรื่องการถูกปลอมลายเซ็นทั้งกรณีของนายสมเกียรติ และพยานวิศวกรรายอื่นๆยังอยู่ระหว่างการส่งตรวจพิสูจน์เรื่องลายเซ็น เพื่อใช้พิจารณาความผิดทางคดีอาญาต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานด้วยว่า จากรายงานของกระทรวงการคลัง(กรมบัญชีกลาง) พบว่าบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ นัมเบอร์ 10(ประเทศไทย) จำกัด ได้คว้างานรับเหมาช่วงในโครงการหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) จำนวนมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว คือ รพ.ตำรวจ โดยเป็นการรับเหมาช่วงมาจากบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี