'ภราดร'พาสื่อมวลชนดูต้นเหตุของบฯ โครงการส่วนที่รับผิดชอบ ลั่นยึด 3 หลัก ‘จำเป็น-คุ้มค่า-โปร่งใส’พร้อมมอบโจทย์ต้องทำ‘พิพิธภัณฑ์‘ที่มีชีวิตเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่เปิดกว้างให้ปชช.เข้ามายังสภาฯ พบ'ห้องสัมมนาจัดเลี้ยง'ไฟไม่พอ เสียงไม่มี มองทำครั้งเดียวใช้ประโยชน์ยาว
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่รัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นำสื่อมวลชนประจำรัฐสภาเดินชมบริเวณอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องขอใช้งบประมาณปรับปรุงพื้นที่ในส่วนต่างๆ ที่นายภราดรรับผิดชอบ โดยเริ่มจากห้องจัดเลี้ยงสัมมนาที่สามารถรองรับคนได้ 1,500 คน ชั้นB2 ที่ของบประมาณไป 99 ล้านบาท นายภราดรได้ชี้ให้ดูไฟที่ไม่สว่าง สลัว แม้จะเปิดสุดแล้ว ส่วนห้องเป็นห้องโล่งไม่มีระบบเสียง พร้อมปรบมือให้ฟังว่าห้องมีเสียงก้อง
ทั้งนี้ห้องประชุมนี้เคยใช้ประชุม APPF แต่เราไม่ระบบเสียงมีแต่ห้องเปล่าจำเป็นต้องเช่าอุปกรณ์หลายล้านบาท อีกทั้งหากมีการประชุมใหญ่ระดับประเทศจำเป็นต้องไปเช่าโรงแรมราคาสูง ตนคิดหากมีห้องที่พร้อมใช้งานไว้ก็จะเป็นประโยชน์ นอกจากสมาชิกรัฐสภาแล้วประชาชนสามารถขอใช้ห้องในการจัดงานต่างๆ ได้
จากนั้นได้พาคณะไปยังโซนพิพิธภัณฑ์รัฐสภา บริเวณชั้น MB1 ชั้น1 และชั้น11 ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับเครื่องยอดของอาคารรัฐสภา ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 6,000 ตารางเมตร นายภราดร ระบุว่า วันนี้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย ซึ่งตนได้ให้โจทย์ไปว่าเราต้องมีพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต การนำเสนอจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ตั้งใจจะทำให้ทันสมัยเพราะพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีน้อยที่จะดีเหมือนต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวได้ถามระหว่างการเดินชมบริเวณพิพิธภัณฑ์ว่าทำแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า ที่นี่จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการเมืองการปกครอง งานนิติบัญญัติ จะคุ้มค่าหรือไม่ต้องดูว่าสิ่งที่ได้กับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน หลักใหญ่ตนให้โจทย์ว่าคนที่มาแล้วอยากจะกลับมาอีก เชื่อว่าจะกลายเป็นอีกจุดเช็คอินอีกหนึ่งที่ นอกจากเครื่องยอดแล้ว
ต่อมานายภราดร ให้สัมภาษณ์ เพิ่มเติมว่า ตนได้พาไปดูในส่วนที่เป็นข่าว 2 ส่วนคือพิพิธภัณฑ์ และห้องสัมมนาที่จุคนได้ 1,500 ที่นั่ง โดยห้องสัมมนานั้นวัตถุประสงค์คือตั้งใจที่จะใช้เป็นห้องสัมมนาขนาดใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะของสภาผู้แทนราษฎรแต่รวมถึงพี่น้องประชาชนทั่วไปด้วยที่ประสงค์จะใช้ห้องสามารถขอใช้กับสภาผู้แทนราษฎรได้ และจากที่พาไปดูจะพบว่าระบบแสง เสียง ไม่มี ต้องไปจ้างระบบเสียงและแสงรวมถึงโต๊ะที่นั่ง ค่าบริหารจัดการเป็นล้านบาท ยังไม่รวมถึงการจัดงานประชุมระดับประเทศที่ผ่านมาก็เพิ่งจะจัดไป เราต้องไปเช่าห้องสัมมนาของโรงแรมที่จะจัดงานของสภาฯ และใช้เงินอีกมากพอสมควร ฉะนั้น ทางประธานสภาฯก็ดำริว่าเมื่อเรามีห้องเป็นของเราแล้วจำเป็นที่จะต้องนำพื้นที่ที่ว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเพื่อบริการให้กับประชาชนด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ขอสู่สำนักงบประมาณไป
นายภราดร กล่าวว่า ส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่หลายคนได้มาสภาฯ คงจะเห็นในส่วนที่มีการจัดไว้ชั่วคราวซึ่งเป็นส่วนแค่เล็กๆ เท่านั้น โดยพื้นที่ทั้งหมดมี 3 ชั้นคือชั้น MB1 ชั้น 1 และชั้น 11 รวมทั้งหมด 6,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่พอสมควร โดยในแบบเตรียมไว้เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางสภาฯเห็นว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และมีประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงพิพิธภัณฑ์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ ที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามายังสภาฯ โดยประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศอังกฤษจะเห็นว่ามีพิพิธภัณฑ์อยู่ทั่วเมืองเต็มไปหมด ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ เราจึงอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนในเรื่องของการเมืองการปกครอง นิติวิธีในกระบวนการของรัฐสภาจึงได้ให้โจทย์กับทางกลุ่มงานพิพิธภัณฑ์ไปว่าพิพิธภัณฑ์จะต้องทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คือคนเข้ามาแล้วต้องอยากที่จะกลับมาอีกและเมื่อกลับมาแล้วต้องมีสิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงไป และบริการให้กับพี่น้องประชาชน
รองประธานสภาฯคนที่ 2 กล่าวว่า ในการพิจารณาโครงการในต่างๆ มีหลักใหญ่ 3 หลักคือ 1.หลักความจำเป็น 2. เมื่อดูความจำเป็นแล้วโครงการนั้นความคุ้มค่ากับงบประมาณที่จะใช้หรือไม่ และ 3. หลักของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยตนเชื่อว่าทั้งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 1 ในฝ่ายนโยบายก็ได้ให้กับนโยบายกับข้าราชการเรื่องความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ รวมถึงเรื่องของความคุ้มค่าของงบประมาณที่ได้ขอดำเนินการต่างๆ ก็ต้องเน้นถึงความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตาม โครงการต่างๆที่สภาฯได้ขอไปยังอยู่ในขั้นตอน ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งเดือนพ.ค. จะมีการพิจารณางบประมาณ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสส. ที่จะมีการเปิดโครงการของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสภาฯด้วยว่า ได้ของบประมาณในส่วนไหนไปบ้าง หากกรรมาธิการงบประมาณเห็นว่าโครงการไหนไม่มีความจำเป็นทางกรรมาธิการก็สามารถปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นได้ในชั้นวาระ 2 และทางสส. ในห้องประชุมใหญ่ก็สามารถขอแปรญัตติ เพื่อปรับลดงบประมาณได้ ฉะนั้น จึงเป็นเพียงแค่แนวทางของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ที่ได้เสนอของบประมาณขึ้นไป ส่วนจะอนุมัติหรือไม่ก็อยู่ที่ผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการที่จะพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่างบประมาณที่ขอไปมีความไม่คุ้มค่า ต้องมีการไปกำชับเรื่องลดทอนให้น้อยลงหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า ในส่วนของตนที่ได้พาไปดูห้องประชุม 1,500 ที่นั่ง ตอนแรกงบประมาณที่ทำเสนอมา น่าจะประมาณ 170 ล้านบาท ตนจึงให้โจทย์กับหน่วยงานไปว่าต้องไปเชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้หลายเจ้าเพื่อมาปรึกษาและพูดคุยกันว่างบประมาณที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ตั้งมาว่ามากเกินไปหรือไม่ สุดท้ายจึงได้นำเสนอขึ้นมาใหม่คือ 99 ล้านบาท ลดไปประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถปรับลดได้ เช่นเดียวกันในชั้นของกรรมาธิการงบประมาณ ที่สามารถจะปรับลดหรือตัดออกทั้งโครงการก็ได้ ฉะนั้น เป็นอำนาจของกรรมาธิการหากเห็นว่าโครงการนี้จำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่มีความจำเป็นกรรมาธิการงบประมาณก็สามารถที่จะตัดทิ้งได้ หรือหากไม่คุ้มค่ากรรมาธิการก็สามารถปรับลดงบประมาณลงได้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของกรรมาธิการที่จะไปดำเนินการ
เมื่อถามว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์และห้องสัมมนา 1,500 ที่นั่ง ในส่วนอื่นที่นายภราดรไม่ได้ดู อาจจะถูกวิจารณ์เหมือนกันจะต้องมีการทำความเข้าใจอย่างไร นายภราดร กล่าวว่า ที่ตนพูดได้ใน 2 ส่วนคือเพราะตนเป็นคนดู ในส่วนอื่นตนไม่ได้รับผิดชอบ และไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นจึงไม่รู้วัตถุประสงค์ของคนตั้งมาเขาตั้งเพราะอะไร มีความจำเป็นมากแค่ไหนตนไม่ทราบ จึงต้องลองไปถามทางหน่วยงาน
เมื่อถามถึงกรณีที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาฯ ระบุว่างานน่าจะเสร็จตั้งแต่ก่อนงานแล้วหรือไม่ ทำไมต้องมาทำเพิ่มเติม นายภราดร กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าในแบบแปลนใหญ่ มีทั้งพิพิธภัณฑ์และห้องประชุมขนาดใหญ่ในการเตรียมพื้นที่เอาไว้ ส่วนในการรับงานที่ผ่านมาของสภาฯ ที่รับงานครั้งแรกไป น่าจะไม่รวมถึงในส่วนของพิพิธภัณฑ์ และห้องประชุม ไม่เช่นนั้นฝ่ายตรวจรับงานเขาตรวจไม่ได้
“ข้าราชการไม่กล้าตรวจรับงาน ถ้าตรวจรับงานไปด้วยงานที่ไม่สมบูรณ์แบบตามแบบ ติดคุกนะ ผมจึงเชื่อว่าเขาไม่กล้าทำ แต่จากที่ผมทราบเบื้องต้นด้วยเงินงบประมาณที่ทางสภาฯ ได้ก่อสร้างเริ่มแรกพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดน่าจะประมาณ 300,000 กว่าตารางเมตร แต่เมื่อสร้างจริงกลายเป็น 400,000 ตารางเมตร หมายความว่าจำเป็นจะต้องปรับลดเนื้องานเป็นบางส่วน ในส่วนที่กำลังจะสร้างหรือกำลังจะต่อเติมอาจจะอยู่ในส่วนที่ตัดออกไป ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยคณะกรรมการตรวจรับของสภาฯ คงไม่ชุ่ยขนาดนั้น” นายภราดร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี