เดี๋ยวรู้ป่วยวิกฤติจริงไหม? ‘ทนายเชาว์’ชี้ศาลเรียกชี้แจงปม‘นักโทษชั้น14’ทำความจริงปรากฏ
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2568 นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทนายความ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาชี้แจงในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 กรณีที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องโทษจำคุก 1 ปี เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดช่วงเวลาที่ต้องรับโทษ ว่า หากดูตามรายงานกระบวนการพิจารณาของศาล ไม่มีคำสั่งที่บอกว่าจะให้ใครไปศาลบ้างในวันนั้น
เพียงแต่บอกว่าให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีตามคำร้อง คือมีการสำเนาคำร้องให้ว่าที่ร้องมาเป็นแบบนี้แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ให้ชี้แจงมาที่ศาลภายใน 30 วัน แต่ที่ศาลขยักไว้ในท่อนสุดท้าย ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อม หรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 09.30 น. ซึ่งก่อนจะสั่งนัดพร้อม จริงๆ แล้วศาลต้องมีคำสั่งก่อนหน้านี้ว่าให้ใครมาศาล เช่น โจทก์ จำเลย แต่ไม่มี ตนจึงมองว่าเป็นการนัดพร้อมเพื่อดูคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องที่ศาลสั่งให้ทำคำชี้แจงมาภายใน 30 วัน
โดยศาลก็จะดูประเด็นว่า ที่มีการร้องเข้ามา เช่น ไมได้ถูกจำคุกจริง ไม่ได้ป่วยจริง เดินทางไปนอนอยู่สบายที่ชั้น 14 ไม่ต้องด้วยตัวบทกฎหมาย ศาลมีอำนาจที่จะเพิกถอนหรือทำอะไรได้บ้าง ซึ่ง 3 หน่วยงานข้างต้นที่ศาลสั่งให้ชี้แจง มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับโทษของนายทักษิณ และการให้เหตุผลว่าทำไมจึงให้นายทักษิณไปอยู่ที่ชั้น 14 รพ. ตำรวจ แล้วศาลก็จะมาประมวลว่ามีประเด็นใดที่ต้องไต่สวน หากดูตามนี้บุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งข้างต้นไม่จำเป็นต้องไปศาลก็ได้ แต่หากศาลสั่งให้ไป ศาลจะสั่งหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพร้อม
ส่วนที่มีคำถามเรื่องคำว่า “หรือนัดไต่สวน” ในรายงาน เป็นศัพท์ทางเทคนิคของศาลซึ่งจะต้องใส่ไว้ เผื่อว่าในวันนั้นศาลจะได้ชี้ได้เลยว่าจะไต่สวนหรือไม่ เช่น หากศาลดูข้อเท็จจริงทั้งจากคำร้องและจากคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าไม่ต้องเรียกบุคคลใดมาไต่สวนเพิ่มเติมอีก ศาลก็อาจทำคำสั่งในวันนั้น เหมือนกับว่าได้ไต่สวนเอกสารแล้วทำคำสั่งเลยก็ได้ จึงขยักคำว่านัดพร้อมหรือนัดไต่สวนไว้
โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจรับฟังหรือไม่รับฟังประเด็นไหนก็ได้ หรือจะเรียกพยานหลักฐานที่ยังเป็นข้อสงสัยมาไต่สวนให้สิ้นกระแสความก็ได้ ซึ่งประเด็นที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย ประกอบด้วย 1.เรื่องข้อกฎหมาย การส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ ต้องขออนุญาตศาลหรือไม่ กับ 2.เรื่องข้อเท็จจริง นายทักษิณนั้นป่วยจริงหรือไม่
“ผมเชื่อว่าในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 ศาลก็คงจะเอาข้อเท็จจริงแล้วก็มากำหนดประเด็น แล้วหลังจากนั้นศาลน่าจะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ต้นก็คือ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ รวมทั้งแพทย์ที่ทำการรักษา รวมทั้งพยานอื่น จะฟังแพทย์ที่ทำการรักษาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าอย่างไรเสียเขาก็ต้องชี้แจงว่าเขามีเหตุผล มีการป่วยจริง มีการตรวจรักษาจริง มีการให้ยา มีการผ่าตัดจริงอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ศาลคงจะฟังความฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานกลาง” นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ กล่าวต่อไปว่า พยานกลางก็คือผู้เชี่ยวชาญ ในที่นี้หมายถึงแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพและเป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคนี้ โดยศาลจะเป็นผู้กำหนดซึ่งจะดูจากรายชื่อแพทย์ ดูประวัติความเชี่ยวชาญและไม่เกี่ยวข้องกับคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาศาลแล้วศาลจะสอบถามว่าถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่ อาการป่วยแบบนี้เข้าขั้นวิกฤติหรือไม่ หากไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีจะถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่
อนึ่ง ในคดีที่นายทักษิณถูกตัดสินจำคุกรวม 8 ปี แล้วได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี มี 2 หน่วยงานเป็นผู้ฟ้อง คือสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 2 หน่วยงานจึงมีสถานะเป็นโจทก์ ซึ่งศาลก็สำเนาคำสั่งให้ทำคำชี้แจงด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้ตนเรียกร้องมาตลอดว่านี่คือผู้เสียหายหรือผุ้มีส่วนได้ – ส่วนเสียโดยตรงตามกฎหมาย เพราะเป็นกล่าวหาว่านายทักษิณทุจริต ดังนั้นทั้งอัยการและ ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ ต้องคัดค้านพยานของฝ่ายที่ตรวจรักษานายทักษิณ
แต่คดีนี้ตนมองว่าฟังได้แล้วว่ามีการช่วยเหลือกันจริง โดยปกติทั่วไปของบุคคลเท่าที่เราทราบกันมา ไม่มีใครที่ออกเดินตั้งแต่เช้าแล้วมายกมือที่ดอนเมือง โบกมือทักทายประชาชน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วคืนวันนั้นหากมีอาการวิกฤติต้องนำส่งห้อง ICU ในสถานที่ที่รักษาผู้ป่วยวิกฤติ และต้องมีรายงานจากแพทย์ให้เห็นในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น เช่น มีเส้นเลือดแตก ต้องทำการผ่าตัดสมอง ผ่าตัดบายพาสหัวใจ ฯลฯ แต่กลับไม่มีรายงานดังกล่าว
และหากศาลชี้ว่าอาการป่วยของนายทักษิณไม่ถึงขั้นวิกฤติในระดับที่ต้องไปรักษาและพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ นั่นหมายถึงรายงานหรือข้อมูลทางการแพทย์ที่ผ่านมาไม่น่าเชื่อถือ ในเบื้องต้นศาลไม่มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือนายทักษิณ โดยศาลจะทำได้เพียงให้ข้อเท็จจริงว่าศาลไม่เชื่อว่านายทักษิณป่วยถึงขั้นต้องไปนอนโรงพยาบาล ถือว่ามีเจตนานำจำเลยไปชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยไม่ต้องให้จำคุกในเรือนจำ ซึ่งก็จะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการเอาผิด
ส่วนคำถามว่า หากศาลชี้ว่ากระบวนการไม่เป็นไปตามกฎหมายและนายทักษิณไมได้ป่วยจริง ศาลจะมีคำสั่งให้นายทักษิณกลับไปรับโทษจำคุกหรือไม่ เรื่องนี้ตนมองว่าเป็นปัญหาที่จะต้องตีความกันอย่างละเอียด และศาลกล้าที่จะใช้อำนาจหรือไม่เพราะเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายภายหลังศาลมีคำพิพากษา ไม่เคยมีนักโทษคนใดที่กรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือแพทย์ที่ทำการตรวจวินิจฉัยโรคสำหรับผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล ตามหมายจำคุกของศาล ไม่เคยมีการวินิจฉัยแบบไม่โปรงใสแบบนี้
“คืนนั้นถ้าตามรายงานของการส่งตัว ก็คือ 00.20 น. ไปอยู่ในเรือนจำประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงแล้วก็ออกไป ที่จริงการออกจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ มันเป็นการข้ามขั้นตอน ง่ายๆ ก็คือวันนั้นถ้าจะออกกันจริงๆ ในอีก 1 - 2 วั–ก็ค่อยว่ากัน จะต้องไปที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ก่อน ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นโรงพยาบาลกลาง มีหน้าที่รักษาผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะป่วยวิกฤติอย่างไร เครื่องไม้เครื่องมือหรือแพทย์มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมกับโรงพยาบาลทั่วไป อาจจะด้อยกว่าก็ไม่มาก เพราะถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ดูแลผู้ต้องขังจำนวนมากทั่วประเทศอยู่แล้ว” นายเชาว์ ระบุ
นายเชาว์ ยังกล่าวอีกว่า ถึงที่สุดแล้วศาลอาจสั่งให้นายทักษิณกลับเข้าเรือนจำก็ได้ โดยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เรื่องการขอทุเลาโทษ ที่เมื่อผู้ต้องขังเจ็บป่วย เป็นหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บัญชาการเรือนจำ โจทก์ จำเลย หรือผู้เกี่ยวข้องกับคดี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทุเลาโทษ หมายถึงหยุดการบังคับโทษไว้ชั่วคราว หรือในมาตรา 89/2 เป็นกรณีที่เมื่อผู้ต้องขังคนใดรับโทษมาแล้วเกิน 1 ใน 3 ผู้เกี่ยวข้องข้างต้นสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขังในสถานที่อื่นก็ได้
ซึ่งจากกฎหมายทั้ง 2 มาตราดังกล่าว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและออกหมายจำคุกแล้ว จะไปบอกว่าเป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์ไม่เกี่ยวกับศาลแล้วไม่ได้ เพราะตาม ป.วิอาญา ก็ยังมีบางส่วนให้ศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และแม้กระทั่งเมื่อถึงวันปล่อยตัวผู้ต้องขัง เช่น ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือรับโทษจนครบกำหนด ก็ยังต้องขอศาลให้ออกหมายปล่อย ไม่ใช่อำนาจของราชทัณฑ์
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=SvDBjSs1BJw
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี