สถาปนิกผู้ออกแบบสภาออกโรง
ค้านรีโนเวทรัฐสภา
เบรกแนวคิดถม‘สระมรกต’
ชี้ทำห้องสมุดใช้เงินมหาศาล
กลุ่ม‘สว.พันธ์ุใหม่’จวกเละ
เจอมาหมดทั้ง‘ช้ามั่วรั่วพัง’
หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างรัฐสภายื่นค้าน“ปรับปรุงสภาฯ-ถมสระมรกต” หวั่นกระทบโครงสร้าง-อากาศไม่ไหลเวียน ต้องใช้เงินอีกมหาศาล “ติดแอร์-จ่ายค่าไฟ” ข้องใจใช้ 100 กว่าล้านทำห้องสมุดคุ้มหรือยัง ยืนยัน “ศาลาแก้ว”ไม่ไร้ประโยชน์ ยันมีฉนวนกันความร้อน ใช้ได้แน่นอน เตือนขุดใต้ดินทำที่จอดรถเพิ่มระวังน้ำท่วม ด้าน “สว.พันธุ์ใหม่” รุมสับงบปรับปรุงสภาชี้ใช้งานมา5ปี เจอหมดทั้ง“ช้ามั่วรั่วพัง”ขณะที่“กมธ.พัฒนาการเมืองฯ”ซักเดือด! งบรีโนเวทสภา เพิ่มเติม “ผอ.อาคารสถานที่ฯ”อ้างข้อบัญญัติ กทม.ต้องมีที่จอดรถสูงถึง 3 พันคัน ขาดอีก 1.5 พันคัน“ขรก.สำนักรักษาความปลอดภัย”ชี้เป็นเรื่องสำคัญต้องเร่งแก้ไข ลั่นทุ่ม4.5พันล้านคุ้มค่า
เมื่อเวลา09.30น.วันที่ 8พฤษภาคม2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา นำโดย นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ รับหนังสือจากนายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบของอาคารรัฐสภา
นายชาตรี กล่าวว่า ขอคัดค้านการที่ รัฐสภาได้จัดทำงบประมาณปิดสระมรกต เพื่อสร้างเป็นห้องสมุด และร้านค้าเพื่อบริการประชาชน โดยอ้างสาเหตุหลักมาจากปัญหาน้ำรั่วซึมและเกิดปัญหาน้ำเน่ายุงชุม ซึ่งขอชี้แจงว่า สระมรกตถูกออกแบบและมีระบบการกรองแบบสระว่ายน้ำ หากดูแลตามปกติวิสัย มีการเปิดระบบให้น้ำไหลเวียนทุกวันตามมาตรฐานไม่สามารถเกิดยุงได้อย่างแน่นอน และ เรื่องสระรั่วซึม เป็นเรื่องคุณภาพการก่อสร้างควรเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาเนื่องจากอยู่ในระยะประกันผลงาน และเพิ่งตรวจรับงานไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องเอาปัญหาของผู้รับเหมามาเป็นของตัวเอง
ส่วนความคิดจะย้ายห้องสมุดจากชั้น 9-10 ลงมาชั้น 1 นั้น ไม่สมเหตุสมผล สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เนื่องจากห้องสมุดดังกล่าว ใช้งบประมาณ ถึง 100 กว่าล้าน และยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่และพื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุที่อยู่ชั้น 8 และผู้ที่ใช้งานห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็น สส.และสว.และข้าราชการสภา หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก็ไม่ควรย้ายมาบริเวณสระมรกต ควรสร้างนอกอาคาร อีกทั้งการที่ใช้พื้นที่สระมรกต ทำห้องสมุด อาจจะกระทบกับโครงสร้างที่ออกแบบไว้ได้เนื่องจากห้องสมุดมีน้ำหนักมากพอสมควร
นายชาตรี ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการถมพื้นที่สระมรกต เนื่องจากตอนออกแบบ ต้องการให้อาคารรัฐสภา เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ระดับดีเด่น (แบบตู้กับข้าว) มีช่องลมให้อากาศพัดผ่านในทุกทิศ และแสงที่ส่องผ่านลงมากระทบผนัง เสาสระน้ำ และอาคาร แต่หากถมสระ เพื่อสร้างห้องสมุด จะต้องติดแอร์ทั้งหมด ซึ่งตนนึกไม่ออกว่าพื้นที่โล่ง 10 ชั้นจะต้องใช้งบประมาณ ขนาดไหน ขณะเดียวกันในแต่ละเดือนจะต้องมีค่าไฟอีกจำนวนมหาศาล
นายชาตรี กล่าวอีกว่า สำหรับศาลาแก้ว ที่จะมีการของบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงนั้น ตนก็ขอคัดค้านเช่นกัน เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่นพิธีทำบุญเทศกาลต่างๆของรัฐสภา แต่ที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนี้ยังก่อสร้างอยู่นั้น ไม่ได้อยู่ในแบบ และที่ไม่ได้ติดแอร์ศาลาแก้ว แต่สามารถใช้งานได้จริง เพราะออกแบบให้มีผ้าใบที่เคลือบด้วยอลูมิเนียม พี่สะท้อนแสงกันความร้อนที่สามารถเลื่อนติดกระจกปิดกระจกให้ทึบได้ด้วยระบบไฟฟ้า โดยอากาศระหว่างระบบผ้าใบจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง และศาลาอยู่ในที่โล่ง ลมพัดสะดวก ถูกออกแบบมาให้ลดอุณหภูมิโดยสระน้ำที่อยู่โดยรอบ
เมื่อถามว่าตอนรับมอบเป็นไปตามสเปกหรือไม่ จนต้องของงบประมาณเพิ่ม เพื่อปรับปรุง นายชาตรี กล่าวว่า งานออกแบบของเราใช้งบประมาณ 11,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับแบบใช้งบประมาณ 12,000 กว่าล้านบาท แต่นอกเหนือจากนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ เราเลย และไม่ได้เห็นด้วยในหลายหลายๆ เรื่องส่วนที่ต่อเติมนอกเหนือจากแบบขึ้นมานั้น ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเพราะการรับจ้างออกแบบ รัฐถือว่าเป็นการรับจ้างทำของ และเมื่อเป็นของรัฐรัฐก็มีสิทธิ์ แต่ในฐานะผู้ออกแบบ ช่วยให้ความเคารพ กับงานของเราและปรึกษาเราหน่อย
เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการก่อสร้างที่จอดรถเพิ่มจะส่งผลกระทบกับโครงสร้างหรือไม่ นายชาตรี กล่าว ไม่ทราบรายละเอียด แต่ คนที่ทำจะต้องระวังเรื่องน้ำท่วม และความจริงในเรื่องที่จอดรถตอนที่ออกแบบก่อสร้าง เราทราบว่า ไม่เพียงพอจึงได้ ประสานกับทางทหารฝั่งสามเสนและวัดแก้วฟ้าฯ เพื่อ ไม่ขอใช้ที่จอดรถเพิ่มแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งตอนเสนอไปถึง 8ครั้ง
ด้าน กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส แถลงว่า งบประมาณปรับปรุงอาคารรัฐสภา เป็นงบประมาณที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น ไม่สมเหตุสมผล และมีแนวโน้มที่จะส่อไปในเชิงความไม่โปร่งใส ไม่ได้ยึดโยงกับหลักการที่ควรจะเป็น งบประมาณจัดสร้างรัฐสภา จำนวน 120 ไร่ พื้นที่ 420,000ตรม. ใช้งานมาแล้ว 4 ปี แต่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก พวกเรา สว.เวลาประชุมก็เจอน้ำรั่ว ทั้งน้ำฝน น้ำแอร์ ฝ้าเพดานถล่ม ซึ่งเราเห็นความรั่วชำรุด แต่ไม่มีงบในการจัดการ พวกเราหาห้องประชุมไม่เจอ แม้จะทำงานมา 10 เดือน รัฐสภานี้เป็นรัฐสภาพิศวงต้องเชื่อมจิตไปยังห้องต่างๆ เอง ไม่สามารถหาห้องได้จากป้าย และยังไม่มีแนวโน้มที่จะของบมาทำป้าย แต่งบที่ขอมาเป็นงบที่สิ้นเปลืองโดยสิ้นเชิงสำหรับงบประมาณซ่อมแซมสภาฯ ที่จะถูกพิจารณาในงบปี 69 มี 10 โครงการ มูลค่า 956 ล้านบาท ส่วนอีก 5 โครงการ เป็นงบหมกเม็ด แม้ยังไม่อนุมัติ แต่ก็มีการดำเนินการไปแล้ว
นายสุนทร พฤษพิพัฒน์ สว. กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มเติม 4,600 ช่อง มูลค่า 4,600 ล้านบาท มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ม.ค.2568 อนุมัติออกมาแล้ว แต่เห็นว่าไม่สมควร และราคาแพงเกินไป เพราะการก่อสร้างต้องขุดดินลงไปฝั่งถนนสามเสนขณะนี้มีที่จอดรถ 1,900คัน สามารถหาวิธีในการแก้ไขเพิ่มเติมได้ดีกว่านี้ ตนอยากจะทราบว่า ทำไมต้องทำถึง 4,600คัน สร้างเพิ่มแค่ 1,000 คันก็เพียงพอแล้ว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมกมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาศึกษาผลการดำเนินการ และการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเชิญนายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เข้าให้ข้อมูล
โดยนายพริษฐ์ กล่าวก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า ตนได้หารือกับกมธ.ถึงรายละเอียดของทั้ง 15 โครงการที่มีการส่งคำร้องของบประมาณในการปรับปรุงอาคารรัฐสภา และไฮไลท์ออกมาทั้งหมด 5 โครงการหลักที่จะมีการพิจารณาในวันนี้คือ 1.อาคารที่จอดรถเพิ่มเติมมูลค่า 4,600 ล้านบาท โดยมีการทำคำขอในงบประมาณปี 69 ไป 1,500 ล้านบาท 2.โครงการระบบภาพยนตร์ 4D อยู่ในตัวร่างพ.ร.บ.งบฯ 69 อยู่ที่ 180 ล้านบาท 3.โครงการปรับปรุงศาลาแก้ว 22 ล้านบาทอยู่ในตัวร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เช่นเดียวกัน 4.การปรับปรุงห้องประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) งบประมาณฯ มูลค่า 118 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในตัวร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ และ 5.การตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาฯ มูลค่า 133 ล้านบาท โดยยังไม่ได้ถูกอนุมัติในปีนี้ เบื้องต้นอยากให้ชี้แจงภาพรวมก่อนว่า สรุปแล้วในการก่อสร้างอาคารรัฐสภามีทั้งหมดกี่บาท
จากนั้นได้เปิดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียด โดยนายพฤหัส ปราบปรี ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารจัดการและบริหารสถานที่ ชี้แจงว่า ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังมีการตรวจรับงานงวดสุดท้ายแล้วนั้น ขณะนี้ยังเหลืออยู่หนึ่งงวดที่เรายังไม่ได้จ่ายผู้รับจ้าง 300 กว่าล้านบาท เพราะมีประเด็นในเรื่องค่าเสียหายต่างๆ ที่เราต้องเรียกจากผู้รับจ้างบางส่วน ตอนนี้อยู่ที่สำนักงานการคลังและงบประมาณ และอยู่ในการดำเนินการและอาจจะเป็นคดีความ ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวเป็นงบผูกพันตั้งแต่ก่อสร้างโครงการอาคารรัฐสภาเดิม
นายอรุณ ลายผ่องแผ้ว ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย ชี้แจงประเด็นเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอว่า ตามข้อบัญญัติของกทม.กำหนดไว้ว่า 120 ตารางเมตรต้องมีที่จอดรถ 1 คัน เราจึงต้องมีที่จอดรถอย่างน้อยที่สุด 3,500 คันแต่ในแบบที่มีอยู่นั้นเรามีไม่เพียงพอ โดยชั้น B1 เรามีที่จอดรถอยู่ประมาณ 700 คัน และชั้น B2 มีอยู่ประมาณ 1,400 คัน รวมแล้วประมาณ 2,100 คันแต่เราไม่สามารถที่จะจอดได้ทุกช่อง เพราะบางช่องไม่สามารถจอดได้ จึงทำให้เหลือแค่ประมาณ 2,000 ช่อง จึงขาดอยู่อีกประมาณ 1,500 คัน เราจึงพยายามแก้ปัญหาโดยการหาพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้เป็นสถานที่จอดรถชั่วคราว แต่เป็นไปได้ยาก จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาที่มีอยู่ประมาณ 21 ไร่ เจาะลงไปด้านล่างซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าเราต้องใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพคือทำที่จอดลึกลงไปคร่าวๆ 11 เมตร ซึ่งจะทำให้มีที่จอดรถเพิ่มขึ้น 4,600 คัน
นายเจษฎา พรหมย้อย ข้าราชการสำนักงานรักษาความปลอดภัย ชี้แจงว่า ข้อมูลที่จอดรถหากว่าตามเรื่องข้อบัญญัติกทม.นั้น ในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้คำนวณจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการไว้เมื่อปี 2559 จะมีประมาณ 5,575 คัน แต่หากประมาณการณ์ขั้นสูงจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 คันเราเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่จอดรถ และหลังจากที่คณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ได้ดูเรื่องแบบ ความเหมาะสม งบประมาณแล้ว ในส่วนของอนุที่ 3 เห็นว่าการใช้งบประมาณ 4,500 ล้านบาทมีความเหมาะสมแล้ว จึงได้เรียนประธานสภาฯ ทราบ และจัดลำดับความสำคัญให้ประธานรัฐสภาฯ ว่าเรื่องใดบ้าง ซึ่งเรื่องอาคารที่จอดรถอยู่ลำดับที่ 1 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข
ในตอนท้ายการประชุม นายพริษฐ์ กล่าวว่ากรณีที่หน่วยงานเสนอของบประมาณ และบอกให้ไปตัดในชั้นกรรมาธิการ ตนไม่สามารถยอมรับในบรรทัดฐานดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อสังคมตั้งคำถามเรื่องนี้จึงควรพิจารณาทบทวน ว่าไม่ควรเสนออะไรฟุ่มเฟือย และเป็นโครงการที่แก้ปัญหาให้ประชาชนได้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี