เอ่ยถึง “การเมืองไทย” ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกจับตามองอย่างมาก กรณีเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ที่แม้ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่รับคำร้องที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ไต่สวนกรณีที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องโทษจำคุก 1 ปี ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้ ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร จึงจะเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาชี้แจง โดยจะเริ่มการไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 ทำให้มีการคาดเดาในหลายเรื่อง เช่น เมื่อถึงวันดังกล่าว อดีตนายกฯ ทักษิณ จะไปชี้แจงที่ศาลด้วยตนเองหรือไม่ , อาการป่วยของนายทักษิณที่คนรอบข้างย้ำกันมาเสมอว่าเข้าขั้นวิกฤตเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ , สุดท้ายแล้วศาลจะสั่งให้นายทักษิณต้องกลับไปรับโทษในเรือนจำหรือไม่ เป็นต้น
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568 นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทนายความ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากดูตามรายงานกระบวนการพิจารณาของศาล ไม่มีคำสั่งที่บอกว่าจะให้ใครไปศาลบ้างในวันนั้น เพียงแต่บอกว่าให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีตามคำร้อง
คือมีการสำเนาคำร้องให้ว่าที่ร้องมาเป็นแบบนี้แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ให้ชี้แจงมาที่ศาลภายใน 30 วัน แต่ที่ศาลขยักไว้ในท่อนสุดท้าย ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อม หรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 09.30 น. ซึ่งก่อนจะสั่งนัดพร้อม จริงๆ แล้วศาลต้องมีคำสั่งก่อนหน้านี้ว่าให้ใครมาศาล เช่น โจทก์ จำเลย แต่ไม่มี ตนจึงมองว่าเป็นการนัดพร้อมเพื่อดูคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องที่ศาลสั่งให้ทำคำชี้แจงมาภายใน 30 วัน
โดยศาลก็จะดูประเด็นว่า ที่มีการร้องเข้ามา เช่น ไมได้ถูกจำคุกจริง ไม่ได้ป่วยจริง เดินทางไปนอนอยู่สบายที่ชั้น 14 ไม่ต้องด้วยตัวบทกฎหมาย ศาลมีอำนาจที่จะเพิกถอนหรือทำอะไรได้บ้าง ซึ่ง 3 หน่วยงานข้างต้นที่ศาลสั่งให้ชี้แจง มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับโทษของนายทักษิณ และการให้เหตุผลว่าทำไมจึงให้นายทักษิณไปอยู่ที่ชั้น 14 รพ. ตำรวจ แล้วศาลก็จะมาประมวลว่ามีประเด็นใดที่ต้องไต่สวน หากดูตามนี้บุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งข้างต้นไม่จำเป็นต้องไปศาลก็ได้ แต่หากศาลสั่งให้ไป ศาลจะสั่งหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพร้อม
ส่วนที่มีคำถามเรื่องคำว่า “หรือนัดไต่สวน” ในรายงาน เป็นศัพท์ทางเทคนิคของศาลซึ่งจะต้องใส่ไว้ เผื่อว่าในวันนั้นศาลจะได้ชี้ได้เลยว่าจะไต่สวนหรือไม่ เช่น หากศาลดูข้อเท็จจริงทั้งจากคำร้องและจากคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าไม่ต้องเรียกบุคคลใดมาไต่สวนเพิ่มเติมอีก ศาลก็อาจทำคำสั่งในวันนั้น เหมือนกับว่าได้ไต่สวนเอกสารแล้วทำคำสั่งเลยก็ได้ จึงขยักคำว่านัดพร้อมหรือนัดไต่สวนไว้
โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจรับฟังหรือไม่รับฟังประเด็นไหนก็ได้ หรือจะเรียกพยานหลักฐานที่ยังเป็นข้อสงสัยมาไต่สวนให้สิ้นกระแสความก็ได้ ซึ่งประเด็นที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย ประกอบด้วย 1.เรื่องข้อกฎหมาย การส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ ต้องขออนุญาตศาลหรือไม่ กับ 2.เรื่องข้อเท็จจริง นายทักษิณนั้นป่วยจริงหรือไม่
“ผมเชื่อว่าในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 ศาลก็คงจะเอาข้อเท็จจริงแล้วก็มากำหนดประเด็น แล้วหลังจากนั้นศาลน่าจะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ต้นก็คือ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ รวมทั้งแพทย์ที่ทำการรักษา รวมทั้งพยานอื่น จะฟังแพทย์ที่ทำการรักษาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าอย่างไรเสียเขาก็ต้องชี้แจงว่าเขามีเหตุผล มีการป่วยจริง มีการตรวจรักษาจริง มีการให้ยา มีการผ่าตัดจริงอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ศาลคงจะฟังความฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานกลาง” นายเชาว์ กล่าว
ทนายเชาว์ อธิบายเพิ่มเติมว่า พยานกลางก็คือผู้เชี่ยวชาญ ในที่นี้หมายถึงแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพและเป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคนี้ โดยศาลจะเป็นผู้กำหนดซึ่งจะดูจากรายชื่อแพทย์ ดูประวัติความเชี่ยวชาญและไม่เกี่ยวข้องกับคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาศาลแล้วศาลจะสอบถามว่าถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่ อาการป่วยแบบนี้เข้าขั้นวิกฤติหรือไม่ หากไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีจะถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่
อนึ่ง ในคดีที่นายทักษิณถูกตัดสินจำคุกรวม 8 ปี แล้วได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี มี 2 หน่วยงานเป็นผู้ฟ้อง คือสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 2 หน่วยงานจึงมีสถานะเป็นโจทก์ ซึ่งศาลก็สำเนาคำสั่งให้ทำคำชี้แจงด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้ตนเรียกร้องมาตลอดว่านี่คือผู้เสียหายหรือผุ้มีส่วนได้ – ส่วนเสียโดยตรงตามกฎหมาย เพราะเป็นกล่าวหาว่านายทักษิณทุจริต ดังนั้นทั้งอัยการและ ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ ต้องคัดค้านพยานของฝ่ายที่ตรวจรักษานายทักษิณ
แต่คดีนี้ตนมองว่าฟังได้แล้วว่ามีการช่วยเหลือกันจริง โดยปกติทั่วไปของบุคคลเท่าที่เราทราบกันมา ไม่มีใครที่ออกเดินตั้งแต่เช้าแล้วมายกมือที่ดอนเมือง โบกมือทักทายประชาชน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วคืนวันนั้นหากมีอาการวิกฤติต้องนำส่งห้อง ICU ในสถานที่ที่รักษาผู้ป่วยวิกฤติ และต้องมีรายงานจากแพทย์ให้เห็นในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น เช่น มีเส้นเลือดแตก ต้องทำการผ่าตัดสมอง ผ่าตัดบายพาสหัวใจ ฯลฯ แต่กลับไม่มีรายงานดังกล่าว
และหากศาลชี้ว่าอาการป่วยของนายทักษิณไม่ถึงขั้นวิกฤติในระดับที่ต้องไปรักษาและพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ นั่นหมายถึงรายงานหรือข้อมูลทางการแพทย์ที่ผ่านมาไม่น่าเชื่อถือ ในเบื้องต้นศาลไม่มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือนายทักษิณ โดยศาลจะทำได้เพียงให้ข้อเท็จจริงว่าศาลไม่เชื่อว่านายทักษิณป่วยถึงขั้นต้องไปนอนโรงพยาบาล ถือว่ามีเจตนานำจำเลยไปชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยไม่ต้องให้จำคุกในเรือนจำ ซึ่งก็จะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการเอาผิด
ส่วนคำถามว่า หากศาลชี้ว่ากระบวนการไม่เป็นไปตามกฎหมายและนายทักษิณไมได้ป่วยจริง ศาลจะมีคำสั่งให้นายทักษิณกลับไปรับโทษจำคุกหรือไม่ เรื่องนี้ตนมองว่าเป็นปัญหาที่จะต้องตีความกันอย่างละเอียด และศาลกล้าที่จะใช้อำนาจหรือไม่เพราะเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายภายหลังศาลมีคำพิพากษา ไม่เคยมีนักโทษคนใดที่กรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือแพทย์ที่ทำการตรวจวินิจฉัยโรคสำหรับผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล ตามหมายจำคุกของศาล ไม่เคยมีการวินิจฉัยแบบไม่โปรงใสแบบนี้
“คืนนั้นถ้าตามรายงานของการส่งตัว ก็คือ 00.20 น. ไปอยู่ในเรือนจำประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงแล้วก็ออกไป ที่จริงการออกจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ มันเป็นการข้ามขั้นตอน ง่ายๆ ก็คือวันนั้นถ้าจะออกกันจริงๆ ในอีก 1 - 2 วันก็ค่อยว่ากัน จะต้องไปที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ก่อน ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นโรงพยาบาลกลาง มีหน้าที่รักษาผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะป่วยวิกฤติอย่างไร เครื่องไม้เครื่องมือหรือแพทย์มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมกับโรงพยาบาลทั่วไป อาจจะด้อยกว่าก็ไม่มาก เพราะถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ดูแลผู้ต้องขังจำนวนมากทั่วประเทศอยู่แล้ว” นายเชาว์ ระบุ
นายเชาว์ ยังกล่าวอีกว่า ถึงที่สุดแล้วศาลอาจสั่งให้นายทักษิณกลับเข้าเรือนจำก็ได้ โดยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เรื่องการขอทุเลาโทษ ที่เมื่อผู้ต้องขังเจ็บป่วย เป็นหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บัญชาการเรือนจำ โจทก์ จำเลย หรือผู้เกี่ยวข้องกับคดี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทุเลาโทษ หมายถึงหยุดการบังคับโทษไว้ชั่วคราว หรือในมาตรา 89/2 เป็นกรณีที่เมื่อผู้ต้องขังคนใดรับโทษมาแล้วเกิน 1 ใน 3 ผู้เกี่ยวข้องข้างต้นสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขังในสถานที่อื่นก็ได้
ซึ่งจากกฎหมายทั้ง 2 มาตราดังกล่าว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและออกหมายจำคุกแล้ว จะไปบอกว่าเป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์ไม่เกี่ยวกับศาลแล้วไม่ได้ เพราะตาม ป.วิอาญา ก็ยังมีบางส่วนให้ศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และแม้กระทั่งเมื่อถึงวันปล่อยตัวผู้ต้องขัง เช่น ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือรับโทษจนครบกำหนด ก็ยังต้องขอศาลให้ออกหมายปล่อย ไม่ใช่อำนาจของราชทัณฑ์
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 1 พ.ค. 2568 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็ได้มาให้สัมภาษณ์กับทางรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ในประเด็นนี้เช่นกัน โดยอดีต สว.สมชาย กล่าวว่า กำหนด 30 วัน จะไปครบในวันที่ 29 พ.ค. 2568 เวลาหลังจากนั้นอีก 15 วัน ศาลก็จะอ่านเอกสารที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ส่งมา กรณีที่ศาลยังไม่เรียกบุคคลมาชี้แจงในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 แต่อ่านเอกสารแล้วสงสัย ศาลก็อาจเรียกบุคคลมาชี้แจงในภายหลังก็ได้ อาจเป็นอีก 2 สัปดาห์ให้หลัง หรือในวันที่ 20 มิ.ย. 2568 เป็นต้น
แต่หากฝ่ายผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่ามีพยานอื่นอีก ศาลก็จะพิจารณาว่ามีพยานกี่ปากแล้วจะให้ใช้ได้กี่ปาก หรืออาจนับรวมรายงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานสมัยที่ตนเป็นกรรมาธิการไปด้วย หรือคำให้การของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รวมถึงอาจต้องให้แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษานายทักษิณมาชี้แจง แบบนี้ศาลก็จะไต่สวนเพิ่มเติม ก็จะขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 – 2 เดือน หรือหากศาลอ่านเอกสารแล้วประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงพอก็สามารถวินิจฉัยได้
“กรณีนี้ถ้ามีหน่วยราชการหรือตัวข้าราชการคนใดคนหนึ่งไปละเมิดการบังคับคดีที่ศาลมีคำพิพากษา 8 ปี แล้วมีพระราชทานอภัยโทษลดเหลือ 1 ปี เราต้องนับตรง 1 ปี จาก 1 ปี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลดโทษแล้ว ก่อนตัวจำเลยจะไปเข้าเรือนจำ จำเลยได้ถูกนำตัวมาศาล คือศาลฎีกา ก่อนไปเรือนจำตอนบ่าย ความโมฆะก็ต้องเริ่มกลับไปที่ 22 ส.ค. 2566 คุณทักษิณก็ต้องถอยกลับไปที่เรือนจำแล้วนับ 1 ปีใหม่” นายสมชาย กล่าว
อดีต สว.สมชาย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่ 2 บุคคลที่ทำให้เกิดการไม่บังคับโทษมีเจตนาทุจริตหรือไม่ หากมีศาลก็จะสั่งจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล และคำตัดสินของศาลฎีกาอาจมีคนนำไปร้องต่อศาลทุจริตด้วย หรือในระหว่างนี้ที่ ป.ป.ช. กำลังสอบสวนอยู่ หากเห็นว่ามีข้าราชการหรือนักการเมืองเข้าไปทำให้คดีบิดเบี้ยว ป.ป.ช. สามารถรายงานศาล และศาลก็สามารถสั่งดำเนินคดีได้เลย
ส่วนคำถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องรับโทษด้วยหรือไม่ ขณะนี้ยัง โดย ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะขึ้นมาสอบสวนแล้วระบุรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง 12 คน ซึ่งยังไม่มีชื่อของ รมว.ยุติธรรม แต่หากไปพบความเกี่ยวข้องไม่ว่าเป็นนักการเมืองคนใดก็จะไปโดนคดีในภายหลัง ส่วนคำถามว่า ในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 นายทักษิณจะไปศาลหรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจสั่งจำคุกในทันทีกรณีมีความชัดเจนว่าที่ผ่านมาไม่ได้ติดคุกจริง เรื่องนี้บีบหัวใจและต้องเรียกว่าวัดใจ
“สมมติศาลออกหมายแค่ให้ทำคำชี้แจง ไม่ได้สั่งให้มาศาล คุณทักษิณก็ส่งทนายไปพร้อมเอกสาร แต่ถ้าสั่งให้มาคุณส่งผู้แทนไปได้หรือไม่อันนี้มีคำถาม ถ้าศาลไม่ได้สั่งให้ใช้ผู้แทนต้องมาศาล แต่ถามว่าโอกาสที่จะพิจารณาคดีต่อเนื่องอีกหลายสัปดาห์ไหมความเห็นผมว่าอีกหลายสัปดาห์ แต่ว่าไม่น่าจะเกินกรกฎา แต่ก็เกิดได้ วัดใจว่าศาลดูข้อมูลเสร็จแล้วศาลตัดสินเลยก็ได้ อันนี้ต้องวัดใจคุณทักษิณแล้ว” นายสมชาย ระบุ
นายสมชาย ยังกล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่นายทักษิณจะตัดสินใจหลบหนีอีกครั้ง เรื่องนี้จุดเริ่มต้นคือนายทักษิณขอกลับประเทศเพื่อมาเลี้ยงหลาน มีการทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษได้ได้รับการลดโทษจำคุกจาก 8 ปีเหลือ 1 ปี แต่นายทักษิณไม่ยอมเข้าเรือนจำ ทั้งที่มีการเตรียมห้องระดับ VVIP ให้ มีการทุบห้องขัง 5 ห้อง ติดแอร์ให้ด้วย รพ.ราชทัณฑ์ก็เตรียมเตียงไว้ให้เรียบร้อย และมีอดีตรัฐมนตรีที่เคยเป็นทีมงานของนายทักษิณก็เคยเข้าไป หลายคนก็ออกมาแล้ว หากนายทักษิณเลือกทางนี้เชื่อว่าสังคมรับได้
ดังนั้นหากนายทักษิณกลับไปติดคุก 1 ปี ไปอยู่ใน รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งมีขัดความสามารถในการรักษา อย่างโรคปอดติดเชื้อจากโควิด ความดันโลหิตสูง โรคกระดูกซึ่งเป็นตามปกติของคนอายุมาก โรคเส้นเลือดหัวใจ การทำบอลลูนก็ทำได้ หรือหากทำไม่ได้ก็ส่งออกไปทำบอลลูน 24 ชั่วโมงแล้วก็กลับเข้ามา หากนายทักษิณเข้าเรือนจำตั้งแต่ต้น วันนี้ก็จะไม่มีคำถามไปศาลฎีกา ซึ่งหากถามว่านายทักษิณอยากกลับเข้าเรือนจำหรือไม่คงไม่อยากและต้องสู้เต็มที่ และหากศาลตัดสินให้ติดคุกนายทักษิณจะยอมหรือไม่ ตนก็เดาว่าคงไม่ยอมเหมือนเดิม ก็ต้องหนี
“ผมอยากให้คุณทักษิณเข้าสู่กระบวนการ ยอมเสียตามที่เขียนคำของพระราชทานอภัยโทษ ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้รับกระบวนการยุติธรรม ยอมสำนึกผิดแล้ว เพราะฉะนั้นการเข้าไปในเรือนจำ 1 ปี แม้แต่หลายคนที่เป็นแกนนำ นปช. พันธมิตร กปปส. ก็ยอมรับกระบวนการ อดีตรัฐมนตรี อดีตอธิบดีที่ไปรับใช้การเมืองก็ยอมติดคุก แล้วทำไมไม่ทำตัวให้ ถ้าอยากเป็นเนลสัน แมนเดลา เนลสัน แมนเดลา ติดตั้ง 28 ปีนะ อยากเป็นอองซานซูจีก็ติดในบ้านพักตั้ง 21 ปี คุณทักษิณทำได้ ปีเดียวเอง” นายสมชาย กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246” ระบุว่า เมื่อจำเลย สามีภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปีและจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น ,
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้น ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง , ลักษณะของสถานที่อันควรตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจำเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย ,
เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสาม หรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้ , ให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตามมาตรานี้ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา
ส่วน “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2” ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เมื่อพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามที่ระบุไว้ในหมายศาลที่ออกตามคำพิพากษานั้น หรือไม่น้อยกว่าสิบปีในกรณีต้องโทษจำคุกเกินสามสิบปีขึ้นไป หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
(1) ให้จำคุกไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอหรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ทั้งนี้ลักษณะของสถานที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย (2) ให้จำคุกไว้ในเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกหรือสถานที่อื่นตาม (1) เฉพาะวันที่กำหนดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (3) ให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ,
ในการพิจารณาของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงฐานความผิด ความประพฤติสวัสดิภาพของผู้ซึ่งต้องจำคุก ตลอดจนสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคมด้วย ทั้งนี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนหรืสอบถามผู้เสียหาย เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องตามหมายจำคุก พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในท้องที่นั้น หรือผู้ซึ่งศาลเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง , คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง และให้นำความในมาตรา 89/1 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี