เป็นประเด็นที่สังคมไทยยังคงถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับนโยบายผลักดันเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือ สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งรวมธุรกิจบันเทิงและกาสิโนถูกกฎหมายเข้าไว้ด้วยกัน
โดยฝ่ายที่ให้การสนับสนุน ยกข้อดีคือ นโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงบวก ได้แก่ การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ คาดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท, เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง, สร้างงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนไทย และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลจากภาษีกาสิโน-ภาษีมูลค่าเพิ่ม-ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมในการเข้าใช้บริการ
อีกทั้งเชื่อว่า กาสิโนถูกกฎหมายจะช่วยลดปัญหาการพนันผิดกฎหมายและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้
พร้อมกันนี้ ยังชี้แจงถึงสัดส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า 90% จะเป็นโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สวนน้ำ สนามกีฬา ฮอลล์คอนเสิร์ตระดับโลก สถานที่จัดแสดง OTOP ศิลปะและวัฒนธรรม ส่วนกาสิโน มีไม่เกิน 10%
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการพนันถูกกฎหมาย แสดงถึงความกังวลที่จะส่งผลเสียต่อสังคม หลายประการ อาทิ ธุรกิจการพนันเป็นเพียงการโยกย้ายเงินจากส่วนหนึ่งของสังคมไปยังอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สร้างรายได้ใหม่ให้กับเศรษฐกิจ และอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียง, เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เนื่องจากรายได้จากธุรกิจการพนันจะมาจากคนจนมากกว่าคนรวย, อาจทำให้รัฐบาลเกิดการเสพติดรายได้จากธุรกิจการพนันถูกกฎหมาย มีการขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ, ทำให้ผู้คนเข้าถึงการพนันได้ง่ายและมีโอกาสติดการพนันได้ง่ายขึ้น ผลที่อาจจะตามมาก็คือการกระทำผิดกฎหมายและศีลธรรม อาทิ การลักขโมยเงินทอง ทรัพย์สินมาเล่นการพนัน รวมทั้งอาจเป็นการเปิดช่องให้ทุนสีเทาเข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างสบายใจด้วย
และยังมองว่า แม้จะมีกาสิโนถูกกฎหมายเกิดขึ้นมาได้สำเร็จ ก็ไม่อาจทำให้บ่อนเถื่อนหมดไป เนื่องจากผู้ที่มีเงินไม่เพียงพอก็จะเข้าไปเล่นพนันในกาสิโนถูกกฎหมาย ก็จะหันไปใช้บริการบ่อนเถื่อนอยู่ดี
จะเห็นได้ว่าแรงต้านกาสิโนถูกกฎหมายเป็นกระแสที่แรงมาก หลายองค์กรออกมาเปิดหน้าคัดค้านอย่างชัดเจน รวมทั้งกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเต็มที่ จนพรรคแกนนำรัฐบาลต้องยอมแตะเบรกโครงการนี้เอาไว้ก่อน
ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อ นายกฯ ผลักดันแล้วในฐานะนโยบายรัฐบาล ถ้าคุณเป็น ครม. แล้วมันเป็นไปตามกฎหมาย ต้องช่วยกันสนับสนุน แต่ว่ามันไม่ได้จบตรงนี้ จะเข้าไปที่สภา ก็ต้องพิจารณาตามขั้นตอน วาระต่างๆ มีการอภิปราย มีการตั้ง กมธ. และไปแปรญัตติ ซึ่งต้องใช้ข้อมูล ความเห็น สรุปว่ายังมีอีกหลายขั้น และที่สำคัญที่สุด คือ ฟังเสียงประชาชน ถ้าดีที่สุดควรทำประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจ ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน ฟังแล้วดี ก็ถามประชาชนเลย พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนทางนี้ เคยเสนอท่านนายกฯ ไปแล้ว และท่านก็รับฟัง ถ้ามีประชามติ ทุกคนสบายใจ
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้มีท่าทีเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า ขอให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ตนเองไม่ติดขัดในประเด็นนี้ แต่ต้องพิจารณาช่องทางตามกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่และอย่างไร เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการหารือกันอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เป็นการเสนอขึ้นมาลอยๆ แล้วจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันที จะต้องพิจารณากลไกทางกฎหมายให้ครบถ้วน ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมาในการร่างกฎหมายหรือเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ รัฐบาลได้ดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น คงต้องมีการพูดคุยกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า หากจะทำประชามติ ครม.จะต้องมีมติ เพราะเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ซึ่งทำครั้งหนึ่งประมาณ 3 - 4 พันล้านบาท และยืนยันว่า จากการที่ สส.เพื่อไทยลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ก็มีเสียงตอบรับที่โอเค เพียงแต่ว่ามันมีความเข้าใจผิดในเชิงว่า เป็นเรื่องของกาสิโนเพียงอย่างเดียว แต่พออธิบายแล้วเขาก็เข้าใจ เราก็ไปฟังกันมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้ว ถ้าจะทำประชามติโดยคิดว่าทำแล้วมันจะจบ แต่สมมติว่าประชาชน 70% เห็นด้วยแล้วคุณคิดว่า ประชาชนอีก 30% เขายังโวยอยู่หรือไม่ เขาก็ยังปั่นอยู่
ส่วน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติในเรื่องนี้ โดยระบุว่า ต่อไปหากใครเสนอกฎหมายอะไร แล้วมีการเรียกร้องให้ทำประชามติ รอบละ 3,000 ล้านบาทไหวหรือไม่ เดือนนึงถ้าออกกฎหมาย 3 ฉบับ และทำประชามติทั้ง 3 ฉบับมันก็ไปไกลแล้ว เพราะฉะนั้น สส.คือตัวแทน ถ้ารัฐธรรมนูญทำประชามติอันนั้นเห็นด้วย แต่เรื่องอื่นให้อธิบายความกันก่อน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และเมื่อเข้าใจแล้วเราค่อยมาว่ากัน ซึ่งมีเวลาอีกตั้ง 60 วัน ก็ไม่เร่งด่วนอะไรเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องทำไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศ ในเมื่อมีประเด็นขัดแย้ง ซึ่งยังหาทางออกหรือบทสรุปไม่ได้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแสวงหาข้อยุติได้ ซึ่งก็อยู่ที่ว่าสุดท้ายจะเลือกทางนี้กันหรือไม่
ทีมข่าวแนวหน้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี