วันนี้ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายกำหนดระยะเวลาการยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ออกไปอีก 1 ปี ถึง 30 กันยายน 2569 โดยให้ปรับแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สืบเนื่องจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 มีภารกิจหลักในการจัดตั้งธนาคารที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนดำเนินการให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างทั่วถึง โดยมาตรา 40 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเป็นอันยุบเลิกเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินหรือพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับแม้จะยังมิได้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นดังกล่าว และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ออกไปอีก รวม 3 ครั้ง และได้รายงานว่าตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี (มีนาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน) ที่ผ่านมาสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจนตามนโยบายของรัฐบาลให้มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้ดำเนินภารกิจที่ได้รับมอบหมายจนบรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กร 5 ประการ ดังนี้
(1) สามารถกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนจำนวน 1,474 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ 5,048-0-44 ไร่ภายใต้โครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการที่ดินย่างยั่งยืนซึ่งมีลักษณะการช่วยเหลือในรูปแบบกลุ่ม (ครัวเรือน) โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ โครงการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหา ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรจากการจำนองและขายฝาก และโครงการพัฒนาและทดสอบรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน (สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เป็นคนกลางติดต่อประสานระหว่างเจ้าของที่ดินกับกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ประสงค์ที่จะใช้ที่ดิน)
(2) รวบรวมข้อมูลที่ดินและข้อมูลเกษตรกรเพื่อใช้ในการวางแผน การช่วยเหลือตามขั้นตอน และ บจธ. ได้ดำเนินโครงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงที่ดิน โดยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินกับเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม
(3) ประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการจัดทำบันทึกความร่วมมือการเข้าร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชนมาจัดสรรให้เกษตรกรและผู้ยากจน
(4) สนับสนุนให้ชุมชนจัดการที่ดินร่วมกัน ทั้งที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยการให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนก่อนที่จะมาขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินและส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการกลุ่มร่วมกัน
(5) ในการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนทุกขั้นตอน สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนให้สามารถดำเนินการในที่ดินได้เต็มศักยภาพ
2. แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน แต่การดำเนินการดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2568 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอขยายระยะเวลาการยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เพื่อให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินสามารถดำเนินภารกิจได้อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ได้ต่อไปในระหว่างที่ดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินจึงได้เสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการโดยมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดระยะเวลาการ ยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (การขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4) โดยครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายกำหนดระยะเวลาการยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ออกไปอีก 1 ปี ถึง 30 กันยายน 2569 โดยให้ปรับแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อไป
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบการค้าข้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบการค้าข้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สืบเนื่องจากรัฐบาล (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) ได้แถลงผลงาน 90 วัน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 โดยมีประเด็นนโยบายเร่งด่วนดำเนินการปลดล็อกการผูกขาด โดยเฉพาะเรื่องข้าว เพื่อเกษตรกรทุกคน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถส่งออกข้าวไปทั่วโลกได้ โดยลดขั้นตอนการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการส่งออกข้าว จากเดิมมีเงื่อนไขว่าผู้ส่งออกข้าวทั่วไป หรือข้าวกระสอบใหญ่ต้องมีสต๊อกข้าว 500 ตัน หรือประมาณ 20 ตู้คอนเทนเนอร์ ตามประกาศคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 (ประกาศ ปกข.) ฉบับที่ 150 พ.ศ. 2560 นำมาปรับใหม่ด้วยการแก้ไขประกาศ ปกข. ดังกล่าว “ปรับลดการกำหนดสต๊อกข้าวส่งออก” โดยมีการกำหนดกลไกในการติดตาม และเฝ้าระวัง และประเด็นการลดค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตประกอบการค้าข้าว สำหรับประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไปและผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ และยกเลิกค่าธรรมเนียมดังกล่าว แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคหนึ่งสำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ในการเป็นผู้ส่งออกข้าวเอง
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบการค้าข้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบการค้าข้าว โดยปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป และผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ และยกเว้นค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตและยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุหนังสืออนุญาตที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป หรือผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถแข่งขันในการส่งออกข้าวซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ดังนี้
1) ผู้ส่งออกทั่วไป (เดิมฉบับละ 50,000 บาท และไม่ได้กำหนดทุนจดทะเบียน)
ประเภททุนจดทะเบียน |
ค่าธรรมเนียม |
5-10 ล้านบาท |
ฉบับละ 10,000 บาท |
มากกว่า 10-20 ล้านบาท |
ฉบับละ 30,000 บาท |
มากกว่า 20 ล้านบาท |
ฉบับละ 50,000 บาท |
2) ผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ ฉบับละ 10,000 บาท (เดิมฉบับละ 20,000 บาท)
2.2 ยกเว้นค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตและค่าธรรมเนียมการต่ออายุหนังสืออนุญาต ให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไปหรือผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ ที่เป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ ซึ่งได้จดทะเบียนรับรองไว้กับหน่วยงานราชการ
3. กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตและการต่ออายุหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 5.2 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสหกรณ์ และผู้ประกอบการ (SMEs) ส่งออกข้าวได้ สร้างโอกาส และสร้างรายได้แก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งลดภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะส่งออกข้าวไปจำหน่ายในต่างประเทศ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้ว เห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1.กรมสอบสวนคดีพิเศษมีภารกิจในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนและสอบสวนอาชญากรรมที่เป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อนหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศหรือมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือมีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า น่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา จึงจำเป็นต้องกำหนดคดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมเพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนได้ทันท่วงที สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมปัจจุบันสถานการณ์การเกิดอาชญากรรมและรูปแบบอาชญากรรมในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในปัจจุบันที่มีอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประชาชนอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรง
2. เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญามีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติและมีความซับซ้อนมากขึ้นจึงมีการออกพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ ขึ้นมาบังคับใช้เพื่อกำหนดการกระทำความผิดทางอาญาบางประเภทให้เป็นคดีพิเศษซึ่งจะอยู่ในอำนาจหน้าที่การสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษอันจะเป็นการแบ่งเบาภาระการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 ได้กำหนดที่มาของการกำหนดคดีพิเศษมีได้สามช่องทาง โดยมาตรา 21 (1) กำหนดไว้สองช่องทางคือกำหนดโดยบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ (ปัจจุบันมีจำนวน 22 คดีความผิด เช่น กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด) และที่กำหนดในกฎกระทรวง (ปัจจุบันมีจำนวน 20 คดีความผิด เช่นประมวลกฎหมายยาเสพติด) โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งการกำหนดคดีความผิดตาม (1) ต้องเป็นคดีความผิดอาญาที่มีลักษณะ 1. ซับซ้อน 2. มีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อสังคม ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจและการคลังระหว่างประเทศ 3. กระทำความผิดข้ามชาติ 4. มีตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในคดีเป็นผู้มีอิทธิพล และ 5. เจ้าพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย และในมาตรา 21 (2)กำหนดโดย กคพ. โดยมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่สามารถกำหนดคดีพิเศษได้นอกเหนือจากคดีความผิดตามมาตรา 21 (1) และโดยที่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดการกระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวมีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ หรือมีลักษณะเป็นการกระทำความผิด ข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรมหรือมีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐาน ตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษเพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2566 โดยกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 21 (1) เช่น คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นที่ต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมจากบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อีก 3 คดีความผิด ได้แก่ (1) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (3) คดีความผิดตามกฎหมายว่า ด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้มีคดีพิเศษรวม ทั้งสิ้น 45 คดีความผิด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางตามนโยบายการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศและนโยบายการยกระดับการบริการภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางตามนโยบายการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศและนโยบายการยกระดับการบริการภาครัฐมีวัตถุประสงค์เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับบริบทของการประกอบธุรกิจผลิตสุราในปัจจุบัน และตอบสนองต่อนโยบายการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศโดยการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและสุราชุมชน และนโยบายการยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้นของรัฐบาล (ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567) รวมทั้งเพื่อเป็นการช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุรารายใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เปิดโอกาสในการสร้างรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง โดยยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐที่มีเป้าประสงค์ให้การบริหารการจัดเก็บภาษีและการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความปลอดภัย ขอผู้บริโภค รวมทั้งกระบวนการผลิตสุราที่ต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินสมควร
2. กค. โดยกรมสรรพสามิต จึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุราใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง 2) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง 3) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็กและขนาดกลาง และ 4) ประเด็นการแก้ไขคำนิยามเกี่ยวกับโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1. ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง โดยแก้ไขให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุราสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ [ข้อ 14 (3)] และ 2) กรณีสุรากลั่นชนิดสุราขาว [ข้อ 15 (4)] นอกจากนี้ ยังมีการนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็กตามข้อ 14 (2) หรือข้อ 15 (3) แล้วแต่กรณี มากำหนดเป็นเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางด้วยเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางไม่ต้องยึดโยงกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนจัดตั้งธุรกิจเกี่ยวกับสุรา และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ทางการค้าให้กับผู้ประกอบการสุรารายย่อย รวมทั้งเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุราสามารถ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางได้โดยไม่ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมาก่อน |
|
กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 |
ร่างกฎกระทรวงที่ กค. เสนอในครั้งนี้ |
· ข้อ 14 ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราแช่1 เพื่อการค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (3) กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์2ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ตาม (2)3 มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ หากปรากฏว่าเคยมีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต จะขออนุญาตได้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่พ้นโทษหรือวันที่ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบ แล้วแต่กรณี
· ข้อ 15 ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น4 เพื่อการค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(4) กรณีสุรากลั่นชนิดสุราขาว5ที่ผลิตจาก โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชนิดสุราขาวตาม (3)6 มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ หากปรากฏว่าเคยมีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตจะขออนุญาตได้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่พ้นโทษหรือวันที่ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบ แล้วแต่กรณี
|
· ข้อ 2
(3) กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจาก โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้อง (ก) เป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ (ข) เป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือ (ค) เป็นองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ (ง) เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญ · ข้อ 3 (4) กรณีสุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้อง (ก) เป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือ (ข) เป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือ (ค) เป็นองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ (ง) เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย เว้นแต่กรณีนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตผลิตสุราโดยอาศัยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี ให้หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น (นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ของโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็กมากำหนด)
|
2. ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ [ข้อ16 (3)] โดยการนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็กตามข้อ 16 (2) มากำหนดเป็นเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางไม่ต้องยึดโยง กับโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก |
|
· ข้อ 16 โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (3) โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ ซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางนอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม (2)7 แล้ว ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ตามมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนดและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุราด้วย
|
· ข้อ 5
(3) โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ ซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ต้องเป็นไปความหลักเกณฑ์ ดังนี้ (ก) ต้องแยกออกจากที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน (ข) ต้องผลิตสุราที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิต (ง) ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุรา โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น (จ) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฉ) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุรา |
3. ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็กและขนาดกลางโดยแก้ไขให้สถานที่ตั้งของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวสามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ แต่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวขนาดเล็ก [ข้อ 14 (1)] และ 2) กรณีโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวขนาดกลาง [ข้อ 17 (2)] นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางให้ไม่ต้องยึดโยงกับหลักเกณฑ์ของโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก [นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็ก ตามข้อ 17 (1) มากำหนดเป็นเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลางในข้อ 17 (2) เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น] ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผ่อนปรนให้โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็กและโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลางสามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อจำกัดในการจัดตั้งโรงอุตสาหกรรมสุราสำหรับผู้ประกอบการสุรารายย่อยเกินสมควร |
|
· ข้อ 17 โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ (ก) ต้องแยกออกจากที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน (ข) ต้องผลิตสุราที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิต (ง) ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุรา โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหาย (จ) ต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 100 เมตร และต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานที่
(2) โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง นอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม (1) แล้วต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุรากลั่นตามมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุราด้วย
|
· ข้อ 6
(จ) ต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 100 เมตร โดยมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม หรือหากตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตร จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อธิบดีประกาศกำหนด · ข้อ 7 (2) โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ (ก) ต้องแยกออกจากที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน (ข) ต้องผลิตสุราที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิต (ง) ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุรา โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น (จ) ต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 100 เมตร โดยมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม หรือหากตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตร จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฉ) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุรากลั่นตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุรา |
4. ประเด็นการแก้ไขคำนิยามเกี่ยวกับโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต 4.1 แก้ไขนิยามคำว่า “โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต” เป็นคำว่า “โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์สด” [ข้อ 16 (1) (ก)] เพื่อเป็นการผ่อนปรนและขยายโอกาสให้โรงอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถนำเบียร์สด8 ออกจำหน่ายนอกสถานที่ผลิตได้ โดยจะต้องบรรจุใส่ภาชนะที่ออกแบบสำหรับการบรรจุเบียร์สด (ถัง Keg)9 ตามลักษณะและขนาดที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนดเท่านั้น (กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์เพื่อจำหน่าย ณ สถานที่ผลิตเท่านั้น เนื่องจากจากสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตได้เป็นเบียร์สดและมีอายุการเก็บรักษาไม่นาน จึงไม่เหมาะต่อการบรรจุขวดหรือกระป๋องเพื่อนำออกจำหน่าย นอกสถานที่ผลิตนั้น) 4.2 กำหนดบทเฉพาะกาล กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ให้ถือเป็นใบอนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์สดตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อให้ผู้ที่ถือใบอนุญาตดังกล่าวที่มีอยู่ก่อนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้บังคับใช้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างรายได้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสุรารายย่อยสามารถขยายตลาดทางการค้าและมีการเติบโตทางธุรกิจได้ |
|
· ข้อ 16 โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ (ก) โรงอุตสาหกรรมแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ฯ สถานที่ผลิต ต้องเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ตามมาตรฐานตามที่อธิบดีกำหนด และต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุรา
- เดิม ไม่มี -
|
· ข้อ 4
(ก) โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์สด · ข้อ 8 (บทเฉพาะกาล) ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย |
3. กค. โดยกรมสรรพสามิตได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์กรมสรรพสามิต (www.excise.go.th) และระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2568 รวม 16 วัน ซึ่งมีประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นรวม 4 ประเด็น ดังนี้ 1) ความคิดเห็นในภาพรวม 2) ความคิดเห็นต่อการกำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นที่ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำน้อยกว่า 100 เมตร ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อม 3) ความคิดเห็นต่อการกำหนดให้สามารถตั้งโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางได้โดยไม่ต้องเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมาก่อน 1 ปี และ 4) ความคิดเห็นต่อการกำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์สดที่จะนำเบียร์สดออกจำหน่ายนอกสถานที่ผลิตต้องใช้ภาชนะที่มีมาตรฐานและออกแบบสำหรับการบรรจุเบียร์สดเพื่อเป็นการรักษาและควบคุมคุณภาพ ปรากฏว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ทั้งหมด 31 ราย และมีผู้แสดงความคิดเห็นโดยการส่งเป็นหนังสือถึงกรมสรรพสามิตโดยตรง 1 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งมีข้อเสนอแนะบางประการ
_____________________
1 สุราแช่มักจะได้จากการหมักผลิตผลทางการเกษตร เช่น ธัญพืช หรือผลไม้ต่าง ๆ และตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “สุราแช่” ไว้ว่า สุราที่ไม่ได้กลั่นและให้หมายความรวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้วแต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรีด้วย เช่น เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง ทั้งนี้ ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุราเพื่อการค้าและการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต ได้กำหนดนิยามไว้ ดังนี้
1) เบียร์ คือ สุราแช่ที่ได้จากการหมักสารละลายที่ได้จากการต้มสกัดมอลต์ ข้าวบาร์เลย์กับฮอป หรือผลิตภัณฑ์จากฮอปโดยอาจใช้คาร์โบไฮเดรตจากวัตถุดิบอื่น ๆ เป็นส่วนผสมในการต้มสกัดด้วยหรือไม่ก็ได้
2) ไวน์ คือ สุราที่ได้จากการหมักผลไม้จำพวกองุ่นหรือผลิตภัณฑ์จากผลองุ่น
3) สปาร์กกลิ้งไวน์ คือ ไวน์ที่มีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการหมัก ครั้งที่ 2 ในขวดหรือภาชนะที่ปิดสนิท
4) สุราแช่พื้นเมือง คือ สุราแช่ที่ได้จากการหมักวัตถุดิบจำพวกน้ำตาล เช่น กระแช่ หรือน้ำตาลเมา หรือจากวัตถุดิบจำพวกข้าว เช่น อุ น้ำขาว หรือสาโท หากผสมสุรากลั่นต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี
5) สุราแช่อื่น คือ สุราแช่ที่ได้จากการหมักวัตถุดิบที่มิใช่ผลไม้หรือผลิตภัณฑ์จากผลไม้และมิใช่เบียร์และสุราแช่พื้นบ้าน
2 สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ หมายความถึง ไวน์ สปาร์กกลิ้งไวน์ สุราแช่พื้นเมือง และสุราแช่อื่น
3 ข้อ 14 (2) กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้อง
(ก) เป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือ
(ข) เป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือ
(ค) เป็นองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ
(ง) เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสัญชาติไทยเว้นแต่กรณีนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตผลิตสุราโดยอาศัยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี ให้หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น
4 สุรากลั่นมักจะได้จากการนำสุราแช่ที่ผลิตจากธัญพืช รากพืช ผลผลิตจากน้ำตาล หรือผลไม้ แล้วนำมากลั่น และตามพระราชบัญญัติสุราฯ ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “สุรากลั่น” ไว้ว่า สุราที่ได้กลั่นแล้วและให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรีด้วย ทั้งนี้ ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุราเพื่อการค้าและการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิตได้กำหนดนิยามของประเภทของสุรากลั่นไว้ 6 ประเภท
1) เอทานอล คือ สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 99.5 ดีกรีขึ้นไป สำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง
2) สุราสามทับ คือ สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป
3) สุราขาว คือ สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
4) สุราผสม คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราขาวหรือสุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
5) สุราปรุงพิเศษ คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
6) สุราพิเศษ คือ สุรากลั่นที่ทำขึ้นตามแบบสุราต่างประเทศโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี รัม ยิน หรือสุราแบบต่างประเทศอย่างอื่น และประเภทเกาเหลียง เชี่ยงชุน บุ้นกุ่ยโล่วหรือสุราแบบจีนอย่างอื่น
5 สุราขาว คือ สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
6 ข้อ 15 (3) กรณีสุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้อง
(ก) เป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือ
(ข) เป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือ
(ค) เป็นองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ
(ง) เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสัญชาติไทย เว้นแต่กรณีนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตผลิตสุราโดยอาศัยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี ให้หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น
7 ข้อ 16 (2) โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ ซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
(ก) ต้องแยกออกจากที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน
(ข) ต้องผลิตสุราที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(ค) ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิต
(ง) ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุรา โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
(จ) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด
(ฉ) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับกิจการโรงอุตสาหกรรมสุรา
8 เบียร์สด (Draft Beer) จะเป็นชนิดของเบียร์ที่เน้นวิธีการเสิร์ฟเบียร์มากกว่าการเน้นกระบวนการผลิต โดยเบียร์ใด ๆ ที่ถูกเก็บในถังและเสิร์ฟจากก็อกโดยไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ (pasteurization) จะสามารถเรียกได้ว่าเป็นเบียร์สด ไม่ว่าจะเป็นคราฟท์เบียร์หรือเบียร์ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ตาม ซึ่งเบียร์สดจะมีความสดใหม่และมีรสชาติที่สดชื่นกว่าเบียร์ในขวดหรือกระป๋อง เพราะเบียร์ในถังถูกเก็บภายใต้ความดันและมีโอกาสสัมผัสกับออกซิเจนและแสงน้อยกว่า ซึ่งช่วยรักษาคุณภาพของเบียร์ได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม เบียร์สด (Draft Beer) และคราฟเบียร์ (Craft Beer) มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านการผลิต ซึ่งคราฟท์เบียร์ถูกนิยามตามกระบวนการผลิตและขนาดของโรงเบียร์ ในขณะที่เบียร์สดถูกนิยามตามวิธีการเสิร์ฟในด้านรสชาติ คราฟท์เบียร์จะมีรสชาติที่หลากหลายกว่าเบียร์สด เนื่องจากเป็นเบียร์ฝีมือที่ผลิตขึ้นจากโรงเบียร์ขนาดเล็ก ส่วนเบียร์สดจะสามารถเป็นเบียร์ใด ๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคราฟท์เบียร์หรือเบียร์จากแบรนด์ใหญ่
9 ถัง Keg เป็นถังบาร์เรลขนาดเล็กทำจากแสตนเลสสตีลใช้ในการบรรจุและขนส่งเบียร์ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ อีกด้วย เนื่องจากถัง Keg มีความสามารถในเก็บเครื่องดื่มและทนแรงดัน จึงทำให้สามารถรักษาความสดใหม่ในเครื่องดื่มได้ดี
เศรษฐกิจ-สังคม
5. เรื่อง การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการอนุมัติวิธีการกู้เงิน โดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) อีกวิธีการหนึ่ง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548* และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจกระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัลโดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยวิธีการเสนอขายให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรงผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถ รับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ดังนี้
1.1 กำหนดให้กระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
1.2 กำหนดให้กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและการออกโทเคนดิจิทัล นายทะเบียน หรือผู้รับฝากโทเคนดิจิทัล เป็นต้น
1.3 กำหนดให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรงผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถรับคำสั่งซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น เช่น กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำหนังสือชี้ชวนเผยแพร่ เป็นการทั่วไปอย่างน้อยต้องกำหนดเกี่ยวกับวงเงิน อายุ อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการโอนและกำหนดประเภทผู้มีสิทธิซื้อ ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด เป็นต้น
1.4 กำหนดให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์การชำระดอกเบี้ยและการใช้เงินตามโทเคนดิจิทัล โดยให้กระทรวงการคลังหรือนิติบุคคลอื่นใด ที่กระทรวงการคลังมอบหมาย โอนเงินให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลหรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
1.5 กำหนดให้การโอนโทเคนดิจิทัลดำเนินการตามวิธีการที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นใดที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้โอนได้เปิดบัญชีเก็บรักษาโทเคนดิจิทัลของตนไว้โดยให้มีผลสมบูรณ์เมื่อผู้โอนนั้นได้บันทึกการรับโอนโทเคนดิจิทัลเข้าไปในบัญชีของผู้รับโอนแล้ว เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนากลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพและภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุมเพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า หาก กค. พิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น “หลักทรัพย์” ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้ว ก็สามารถดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดย G-Token มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ กค. กำหนด จึงมีลักษณะเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัล ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งต้องเป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวและกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.
จะเสนอแนวทางในการกำกับดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของ G-Token ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาต่อไป
_____________________________
*ปัจจุบัน การกู้เงินตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง ตั๋วเงิน หรือหุ้นกู้
6. เรื่อง ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 (ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ) รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุน1 และหน่วยงานทำวิจัย นำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1.กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 - 2570 (ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุนและหน่วยงานทำวิจัยนำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมมีจำนวนมากแต่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานระดับปฏิบัติไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบกับประเทศไทย ยังไม่เคยจัดทำทิศทางการวิจัยด้านการศึกษามาก่อน ดังนั้น การจัดทำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาการให้ทุนวิจัยแก่หน่วยงานทำวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน (รวม 8 ประเด็น) (1) การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้างและการจัดการศึกษาที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ (2) การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งสู่การยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ (3) การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษา ที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ และ (4) การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปราศจากความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคณะกรรมการสภาการศึกษา โดยมีรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567
2. ศธ. โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ ความท้าทาย แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาและการวิจัยทางการศึกษาของไทยและต่างประเทศ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ความต้องการ ประเด็นปัญหา และเป้าหมายทางการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นงานวิจัยทางการศึกษา และเพื่อให้มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2.2 ประเด็นวิจัยทางการศึกษา ประกอบด้วย 4 ด้าน ร่วม 8 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
ด้าน/ประเด็นวิจัยทางการศึกษา |
ตัวอย่างการวิจัย |
|
การวิจัยขั้นพื้นฐาน เช่น |
การวิจัยในประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น |
|
ด้านที่ 1 การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โรงสร้าง และการจัดการศึกษาที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เป้าหมาย : เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทุกมิติ และมีระบบนิเวศทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง |
||
(1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต |
- ระบบส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต - ระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อ - สภาพแวดล้อมและนิเวศการเรียนรู้ - ธนาคารหน่วยกิต4 |
- คุณวุฒิฉบับย่อย2 - คุณวุฒินาโน2 - การเรียนรู้รูปแบบสั้น ๆ3 - เมืองแห่งการเรียนรู้ |
(2)การศึกษาเพื่อสังคมสีเขียว5 |
- นโยบายการศึกษาสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม - หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อสังคมสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม - การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติและทักษะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
เช่น นวัตกรรมด้านหลักสูตร สื่อ และการจัดการเรียนการสอนเพื่อสังคมสีเขียว |
ด้านที่ 2 การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากร เป้าหมาย : เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะของรู้เรียนทุกช่วงวัย รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภท ที่เพียงพอในการยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ |
||
(1) การพัฒนาทักษะที่จำเป็น |
- ทักษะในอนาคตที่ประเทศมีความต้องการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การอ่าน - ระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงในการพัฒนาทักษะ - ความท้าทายและโอกาสด้านทักษะ ที่สถานศึกษาเผชิญอยู่ - ความท้าทายและโอกาสด้านเงินทุน ระบบ และตลาดสำหรับการเพิ่มการมีส่วนร่วมในการศึกษาด้านเทคนิค - การฝึกงาน - การปรับหลักสูตรเพื่อมุ่งเน้นทักษะ และสมรรถนะ - การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะ |
- นวัตกรรมระบบการพัฒนาทักษะใหม่ (Re-Skills) และการยกระดับทักษะเดิม (Up-Skills) ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน - ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ - นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นทักษะและสมรรถนะ
|
(2) ความเป็น พลเมืองและพลโลก6 |
- คุณลักษณะและการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองและพลโลก - การบูรณาการการบ่มเพาะความเป็นพลเมืองและพลโลกในหลักสูตรและการเรียนการสอน |
- พลเมืองดิจิทัล - ช่องว่างระหว่างรุ่น - การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม |
ด้านที่ 3 การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษาที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ เป้าหมาย : เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ในการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษา รวมถึงการบริหารจัดการระบบนิเวศทางการศึกษาที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ |
||
(1) การศึกษาที่มีคุณภาพ |
- การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา - การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน - นวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อรองรับ รูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย |
- นวัตกรรมการเรียนการสอน - นวัตกรรมการแนะแนว - นวัตกรรมการติดตามประเมินผล - แพลตฟอร์มการศึกษา
|
(2) ความเสมอภาค - ลดความเหลื่อมล้ำ |
- ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเหมาะสม กับบริบทโรงเรียน/พื้นที่ - ระบบการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง - การมีส่วนร่วมและบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดการศึกษา - การกระจายทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา - มาตรการเชิงระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียน |
- นวัตกรรมสนับสนุนการเข้าถึงการเรียนรู้ - นวัตกรรมการเงินเพื่อการศึกษา |
(3) ประสิทธิภาพทางการศึกษา |
- การลงทุน การจัดสรรและการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด - การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลงทุนเพื่อการศึกษา |
- นวัตกรรมการเงินเพื่อการศึกษา7 - ช่องว่างระหว่างรุ่นและการปิดช่องว่าง ระหว่างรุ่น - การฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย |
ด้านที่ 4 การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพปราศจากความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมาย : เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศทางการศึกษาที่เหมาะสม |
||
เทคโนโลยี |
- โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน - การบูรณาการเทคโนโลยีกับการเรียนการสอน - ความปลอดภัยและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี - ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ - การวัดผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้สนับสนุนครูและนักเรียน |
- การนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ - การพัฒนานวัตกรรมหลักสูตรที่มุ่งเน้น ทักษะและสมรรถนะด้านสื่อเทคโนโลยีและ AI เพื่อการเรียนรู้ |
2.3 ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ข้อเสนอแนะในการนำไปสู่การปฏิบัติ |
การวางแผน (P-Planning) |
- สกศ. เสนอคณะกรรมการสภาการศึกษาและคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ (เสนอในครั้งนี้) และจะเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหรือประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ8 ได้นำไปใช้ในการกำหนดแผนและขับเคลื่อนทิศทางการวิจัยทางการศึกษาต่อไป - หน่วยงานที่มีภารกิจและเกี่ยวข้องในการวิจัยทางการศึกษา จัดทำแผนการวิจัย ที่สอดคล้องกับทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ |
การจัดการและการจัดองค์กร (O-Organization) |
- สกศ. จัดให้มีเวทีการหารือเชิงนโยบายของหน่วยงานให้ทุนอุดหนุนการวิจัยเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อสร้างความร่วมมือและขยายความร่วมมือไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนากลไกในการบูรณาการและประสานความร่วมมือในระบบการวิจัยทางการศึกษา - หน่วยงานให้ทุนวิจัย8 และ สกศ. ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรในระดับอุดมศึกษาให้มีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงนโยบายกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น - หน่วยงานที่มีภารกิจและเกี่ยวข้องในการวิจัยทางการศึกษากำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินงานวิจัยทางการศึกษาอย่างชัดเจนและเหมาะสม |
การนำ (L-Leading) |
- สกศ. จัดให้มีเวทีหรือแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานมากขึ้น ส่งผลให้สามารถผลิตงานวิจัยที่สอดคล้องกับการใช้งานได้ - หน่วยงานที่มีการวิจัยทางการศึกษา8 ควรกำหนดแรงจูงใจ การออกแบบงานไว้ในแผนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย |
การควบคุม (C-Controlling) |
- สกศ. ร่วมกับหน่วยงานให้ทุนวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาในการส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป - สกศ. ติดตามผล รายงานผล และประเมินผลในภาพรวม - หน่วยงานที่มีโครงการวิจัยทางการศึกษาติดตามผล รายงานผล และประเมินผลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ |
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับและผลกระทบที่เกิดขึ้น
มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำวิจัยอย่างเป็นระบบ มุ่งไปทิศทางเดียวกันตอบโจทย์ความต้องการทางการศึกษาอย่างแท้จริง
____________________________________
1จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แจ้งว่า หน่วยงานให้ทุน เช่น สำนักงานส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
2คุณวุฒิฉบับย่อยมุ่งเน้นการเรียนและพัฒนาทักษะเฉพาะและจำเป็น โดยอาจมีหน่วยกิตการเรียน 5-25 หน่วยกิตและคุณวุฒินาโน มุ่งเน้นการเรียนและพัฒนาทักษะเฉพาะและจำเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ โดยอาจมีหน่วยกิตการเรียน 1-4 หน่วยกิต เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการประกอบอาชีพ (ปัจจุบันได้มีการกำหนดจำนวนหน่วยกิตรวมในหลักสูตรการศึกษา ซึ่งรวมถึงหลักสูตรปริญญาตรีที่มีระยะการศึกษา 4 ปี มีหน่วยกิตการเรียนรวมไม่เกิน 120 หน่วยกิต)
3การเรียนรู้รูปแบบสั้น ๆ เป็นการเรียนรู้ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เน้นเนื้อหาเฉพาะเรื่อง ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตหรือการทำงานจริงได้
4ธนาคารหน่วยกิต คือ ระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและการเทียบโอนผลการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษาในระบบต่าง ๆ เช่น การศึกษาในระบบและนอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม และผู้เรียนสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถานศึกษาได้
5การศึกษาเพื่อสังคมสีเขียว หมายถึง แนวทางการศึกษาและหลักสูตรที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะและจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมความยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
6ความเป็นพลเมืองและพลโลก หมายถึง การพัฒนาความรู้ ทักษะ และค่านิยมที่จำเป็นสำหรับการเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในชุมชนประเทศ และโลก ส่งเสริมความข้ามในความหลากหลายทางวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่ยังยืน
7 ปัจจุบันมีหน่วยงานที่พัฒนาทักษะทางการเงินให้แก่บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินโครงการครูสตางค์ เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายครูแกนนำที่มีประสบการณ์ในการนำความรู้ทางการเงินไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนการเงินในสถานศึกษาเพื่อสร้างเกราะป้องกันทางการเงินให้แก่เด็กไทยและต่อยอดสู่ความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดีตลอดชีวิต (ข้อมูลจาก www.bot.or.th) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินการให้ทุนเสมอภาคเพื่อสนับสนุนค่าครองชีพ ค่าอาหาร และค่ากิจกรรมต่าง ๆ แก่นักเรียนด้อยโอกาส ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษา (ข้อมูลจาก www.eef.or.th)
8 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 สกศ. แจ้งว่า (1) หน่วยงานที่มีภารกิจและเกี่ยวข้องในการวิจัยทางการศึกษา คือ หน่วยงานที่มีภารกิจการวิจัยโดยตรง เช่น สกศ. (2) หน่วยงานให้ทุนวิจัย คือ หน่วยงานที่มีการจัดสรรทุนให้กับผู้วิจัย เช่น สถสว. วช. และ (3) หน่วยงานที่มีการวิจัยทางการศึกษา คือ หน่วยงานที่ไม่มีภารกิจการวิจัยโดยตรงแต่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการวิจัยทางการศึกษาเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน
7. เรื่อง ขอความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women's World Championships 2025 วงเงิน รวมทั้งสิ้น 1,124.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ โดย กก. จะขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กก. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women's World Championships 2025 วงเงิน รวมทั้งสิ้น 1,124.50 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รายการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
(1) ค่าที่พักและอาหาร |
67.82 |
(2) ค่าตอบแทนบุคลากร |
16.00 |
(3) ค่าใช้จ่ายสนามแข่งขัน/ฝึกซ้อม |
168.53 |
(4) ค่าพาหนะหรือค่าน้ำมันเชื้อเพลิง |
9.27 |
(5) ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์การแข่งขัน |
30.50 |
(6) เงินอุดหนุนการดำเนินการจัดการแข่งขัน |
10.50 |
(7) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ค่าพิธีเปิด – พิธีปิด ค่าผลิตถ้วยรางวัลและของที่ระลึก ค่าดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ และค่าจัดทำบูธการแสดงสินค้าหน้าสนามแข่งขัน |
28.82 |
(8) ค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน |
630.00 |
(9) ค่าอนุสัญญาภาษีซ้อน |
111.18 |
(10) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม |
51.88 |
รวมทั้งสิ้น |
1,124.50 |
ทั้งนี้ กก. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) และสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้มีการหารือกับสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) เกี่ยวกับความพร้อมในการจัดการแข่งขันดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยมีกำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 7 กันยายน 2568 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง กก. แจ้งว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมทั้งก่อให้เกิดรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดตามชมการแข่งขันในประเทศไทย การใช้จ่ายเงินของนักกีฬา เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั่วโลกจากผู้เข้าชมการแข่งขันกว่า 1,300 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาทั้งสิ้นประมาณ 8,435.70 ล้านบาท
2. กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ขัดข้องต่อกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025 ภายในกรอบวงเงิน ทั้งสิ้น 1,124.50 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณเห็นควรให้การกีฬาแห่งประเทศไทยใช้จ่ายจากเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ วงเงิน 200 ล้านบาท รายได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและโซเชียลมีเดียภายในประเทศ รายได้จากค่าจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขันการสนับสนุนจากภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ที่ได้ประมาณการไว้ วงเงิน 474.50 ล้านบาท และขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 450 ล้านบาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม และเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ดี เห็นสมควรที่ กก. จะดำเนินการในการจัดหารายได้จากการจัดการแข่งขัน ตลอดจนการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณด้วย และคำนึงถึงความประหยัดและละความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ โดยดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส บูรณาการทุกภาคส่วนผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์สูงสุดของทางราชการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ รวมทั้งจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ครบถ้วนในทุกมิติ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน
8. เรื่อง ขออนุมัติใช้เงินบำรุงเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง ก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง วงเงิน 168.55 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
โรงพยาบาลระยอง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 600 เตียง อยู่ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการด้านสุขภาพ อนามัย และเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายของประชากรที่จะเข้ามาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงมีแผนการดำเนินงานเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาความต้องการบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ภายใต้การดำเนินงานของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแผนการเปิดการเรียนการสอน ชั้นปีที่ 4-6 (ชั้นคลินิก) แต่ยังขาดอาคารสถานที่ในการเรียนการสอน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลระยองจึงขอใช้เงินบำรุง เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง ในวงเงิน 171.53 ล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการในการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพร่วมผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
สำนักงบประมาณ (สงป.) เห็นชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ) ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง ในวงเงิน 168.55 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาลระยองจังหวัดระยอง ทั้งนี้ ขอให้ สป.สธ. ดำเนินการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และต่อรองราคาจนถึงที่สุดด้วย
9. เรื่อง ขออนุมัติปรับชื่อ วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมาย โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ปรับชื่อโครงการ วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายโครงการบ้านสวัสดิการ (เช่าซื้อ) จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดังนี้ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
รายละเอียดเดิม (มติคณะรัฐมนตรี 24 ตุลาคม 2560 ) |
ปรับเปลี่ยนเป็น |
1. ชื่อโครงการ |
|
โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี |
1. โครงการเคหะชุมชน จังหวัดสงขลา (ฉลุง) 2. โครงการเคหะชุมชน จังหวัดปัตตานี |
2. วัตถุประสงค์โครงการ |
|
1. เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนา ที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการอยู่อาศัย สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติราชการ รับใช้ประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างเต็มที่ 2. เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ ข้าราชการผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัย ที่มีมาตรฐานเป็นของตนเอง โดยจัดทำโครงการ ที่อยู่อาศัยประเภทซื้อ/เช่าซื้อ ที่ได้มาตรฐานในชุมชน ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในระดับราคา ที่รับภาระได้ เป็นการช่วยลดภาระการเงินให้กับ กลุ่มข้าราชการ 3. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลงทุนจากภาครัฐ
|
1. เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนา ที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการอยู่อาศัย สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติราชการรับใช้ประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างเต็มที่ 2. เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ ข้าราชการผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัย ที่มีมาตรฐานเป็นของตนเอง โดยจัดทำโครงการ ที่อยู่อาศัยประเภทซื้อ/เช่าซื้อ ที่ได้มาตรฐานในชุมชน ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในระดับราคา ที่รับภาระได้ เป็นการช่วยลดภาระการเงินให้กับ กลุ่มข้าราชการ 3. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลงทุนจากภาครัฐ 4. เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชน ให้มีที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่เหมาะสม พร้อมระบบ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สภาพแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐาน และยกระดับคุณภาพชีวิต |
3. กลุ่มเป้าหมาย |
|
กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มข้าราชการ ซึ่งมีรายได้ ต่อครัวเรือน ณ ปี 2560 ดังนี้ 1. กลุ่มข้าราชการผู้มีรายได้น้อย (กลุ่ม ก เช่าซื้อ) - กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่มีรายได้ประมาณ 23,801-34,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน - ภูมิภาค ที่มีรายได้ประมาณ 14,001-20,600 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน 2. กลุ่มข้าราชการผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (กลุ่ม ง เช่าซื้อ) - กทม. และปริมณฑล ที่มีรายได้ประมาณ 57,801 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน ขึ้นไป - ภูมิภาค ที่มีรายได้ประมาณ 33,301 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน ขึ้นไป |
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการและประชาชน ที่มีรายได้ครัวเรือน ณ ปี 2567 ดังนี้ 1. กลุ่มข้าราชการและประชาชน ผู้มีรายได้น้อย (กลุ่ม ก เช่าซื้อ) สำหรับโครงการเชิงสังคม ที่มีรายได้ไม่เกิน 36,100 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน 2. กลุ่มข้าราชการและประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง ค่อนข้างสูง (กลุ่ม ง เช่าซื้อ) สำหรับโครงการเชิงพาณิชย์ ที่มีรายได้ประมาณ 36,100 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน ขึ้นไป |
ทั้งนี้ ระดับรายได้ครัวเรือนของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละปีปรับตามการคาดประมาณรายได้ของครัวเรือนตามเกณฑ์ของ กคช. ตามผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย |
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (การเคหะแห่งชาติ) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ปรับชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการจัดทำโครงการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 โดยอยู่ภายใต้โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการ รวมทั้งเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานเป็นของตนเอง กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มข้าราชการ โดยกำหนดระดับรายได้ครัวเรือนสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันสำหรับโครงการเชิงสังคม (รัฐอุดหนุนบางส่วน และมีการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ) และโครงการเชิงพาณิชย์ (ไม่ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐ ดำเนินการเฉพาะโครงการฯ จังหวัดสงขลา) อ้างอิงจากเกณฑ์รายได้ของการเคหะแห่งชาติที่คำนวณจากเปอร์เซ็นไทล์ของรายได้ครัวเรือนไทยในปี 2560
2. เรื่องที่เสนอมาในคราวนี้เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ตลอดจนปรับชื่อโครงการเป็นโครงการเคหะชุมชนและปรับวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ จากปี 2562 เป็นปี 2566 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการได้เกษียณอายุ หรือโยกย้ายสังกัดไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่ และขอคืนโครงการทำให้มีอาคารคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ในโครงการฯ จังหวัดสงขลา จำนวน 270 หน่วย จากจำนวนหน่วยก่อสร้างรวม 491 หน่วย ส่วนโครงการฯ จังหวัดปัตตานี ไม่มีอาคารคงเหลือจากจำนวนหน่วยก่อสร้างรวม 115 หน่วย นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติขอปรับเกณฑ์รายได้ ซึ่งเป็นรายละเอียดในส่วนของกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือน ณ ปี 2567 ด้วย
3. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ก่อนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (การเคหะแห่งชาติ) นำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยเห็นควรให้การเคหะแห่งชาติสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยของข้าราชการในพื้นที่โครงการ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมก่อนเป็นลำดับแรก และประสานกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการผู้อยู่อาศัย ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการตามความเห็น ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยกระทรวงการคลังมีความเห็นเพิ่มเติมว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการเคหะแห่งชาติควรมีการถอดบทเรียนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการจัดทำโครงการและการกำกับติดตามการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความคุ้มค่าและการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งโครงการรวมถึงควรหามาตรการหรือแนวทางในการบริหารจัดการอาคารคงเหลือเพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะทางการเงินของการเคหะแห่งชาติในอนาคต
10. เรื่อง แนวทางการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (Outstanding Development Opportunity Scholarship: ODOS)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (โครงการ ODOS) เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1.ตามที่รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต การต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ การทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก ดังนั้น การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญ และจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อให้การเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนเป็นไปอย่างเท่าเทียม โดยพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบนอกระบบตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี ซึ่งขาดแคลนโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS ขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว
2. แนวทางการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (Outstanding Development Opportunity Scholarship: ODOS) (โครงการ ODOS) ที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสพัฒนาประเทศ (คณะกรรมการอำนวยการ ODOS) นำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ประกอบกับนโยบายเกี่ยวกับการต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น การต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) การทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก โดยการให้ทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องจนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสาขาที่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สาขาวิชา STEM) โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงาน ก.พ. และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2576 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนเงินนอกงบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น โครงการสลากการกุศล ทั้งนี้ โครงการ ODS ประกอบด้วย 3 ประเภททุน รวมทั้งสิ้น 7,200 ทุน (4,800 คน)
3. แนวทางการดำเนินการโครงการ ODOS ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
||||||||||||||||||||||||
หลักการ |
- กระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส แต่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี และมีศักยภาพ โดยให้ศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ (ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน - สร้างความพร้อมให้ผู้รับทุนอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้นจนสำเร็จการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ |
||||||||||||||||||||||||
วัตถุประสงค์ |
- เพื่อให้นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี - เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติ ต่าง ๆ อย่างยั่งยืน - เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้แก่เด็กและเยาวชนของประเทศในการพัฒนาตนเองอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม - เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม เป็นระบบและต่อเนื่อง |
||||||||||||||||||||||||
แนวทางการดำเนินการโครงการและงบประมาณ
|
- เป็นการดำเนินการให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชา STEM จำนวน 4,800 คน (7,200 ทุน) - ผู้รับทุนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยของสมาชิกครัวเรือนไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน - เงื่อนไขการชดใช้ทุนสำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. ต่างประเทศ และปริญญาตรี - ระยะเวลาการดำเนินการโครงการ ODOS ตั้งแต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2576 - ประเภททุน 3 ประเภท คือ 1. ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในประเทศ จำนวน 4,800 ทุน ใช้งบประมาณ 990.14 ล้านบาท มีลักษณะเป็นทุนให้เปล่า ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ2568 - 2572 (ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 - เมษายน 2572) ดำเนินการโดย กสศ. ดังนี้
หมายเหตุ: * อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม |
||||||||||||||||||||||||
2. ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ จำนวน 200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ใช้งบประมาณ 2,609.31 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2568 - 2576 (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 - กันยายน 2576) ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ. ดังนี้ |
|||||||||||||||||||||||||
หมายเหตุ: * อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยประเทศที่กำหนดให้ไปศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (ศึกษาระดับปริญญาตรี) และเครือรัฐออสเตรเลีย (ศึกษาระดับ ปวส. และ/หรือปริญญาตรี) และ จะมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ก็ที่ได้รับทุนทุนก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ทักษะการใช้ชีวิต จิตวิทยา การปรับตัว การสร้างความผูกพันต่อสังคมและประเทศ ตลอดจนความพร้อมด้านอื่น ๆ สำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศ พร้อมทั้งดูแลจัดหาสถาบันทางการศึกษาที่เหมาะสมในต่างประเทศให้แก่ผู้รับทุน ทั้งนี้ ภายใต้ทุนการศึกษาดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 4 โครงการ ดังนี้ (1) โครงการสรรหาและเตรียมความพร้อมนักเรียนทุน ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 60 ทุน สหราชอาณาจักร 50 ทุน และเครือรัฐออสเตรเลีย 90 ทุน รวมจำนวน 200 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 100 ทุน) ใช้งประมาณ 78.11 ล้านบาท (2) โครงการ ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 30 ทุน) ใช้งบประมาณ 980.71 ล้านบาท (3) โครงการ ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ สหราชอาณาจักร จำนวน 50 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 25 ทุน) ใช้งบประมาณ 724.69 ล้านบาท (4) โครงการ ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ เครือรัฐออสเตรเลีย จำนวน 90 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 45 ทุน) ใช้งบประมาณ 825.80 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประไทยซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยเน้นให้ปฏิบัติงานในภูมิภาคเป็นลำดับแรกสำหรับการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด |
|||||||||||||||||||||||||
3. ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ จำนวน 2,200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2569 - 2574 (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 - กันยายน 2574) ดำเนินการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ดังนี้
หมายเหตุ : * อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ จำนวนทุนการศึกษา 2,200 ทุน ประกอบด้วย (1) ทุนรัฐบาล จำนวน 1,800 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 900 ทุน) และ (2) ทุนสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 400 ทุน ( 2 รุ่น รุ่นละ 200 ทุน) และ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามความประสงค์ของผู้รับทุน |
|||||||||||||||||||||||||
แหล่งที่มา |
ขอรับการสนับสนุนเงินนอกงบประมาณจากแหล่งทุนทุนต่าง ๆ เช่น โครงการสลากการกุศล
|
||||||||||||||||||||||||
ผลผลิต และผลลัพธ์
|
- ผลผลิต ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ ODOS จำนวน 4,800 คน แบ่งเป็น 1. ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. และ ปวส. จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 2,400 คน 2. ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. สำเร็จการศึกษา จำนวน 2,400 คน - ผลลัพธ์ 1. เป็นระบบบริหารทุนการศึกษาที่ครอบคลุมและเป็นระบบอย่างชัดเจนโดยมีการเชื่อมโยงการให้ทุนการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. ถึงระดับปริญญาตรี 2. เป็นการสร้างความพร้อมอย่างมีเป้าหมายและเหมาะสม โดยมีกลไกการเตรียมความพร้อมทั้งควรรู้พื้นฐานทางวิชาการ ภาษา วัฒนธรรมในการศึกษา และความพร้อมในการใช้ชีวิตระหว่างการศึกษา 3. ส่งเสริมการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐาน โดยมีกระบวนการคัดเลือกที่พิจารณา ทั้งศักยภาพทางวิชาการและพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ รวมทั้งมีกลไกติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ 4. สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างทั้งต่อเยาวชน สถาบันการศึกษา และสังคม ทำให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเก่งและคนดีที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และทำให้สถาบันการศึกษาตระหนักว่า แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถพัฒนาเยาวชน ที่มีคุณภาพได้เช่นกัน |
||||||||||||||||||||||||
แนวทาง |
- เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการโครงการ ODOS ให้คณะกรรมการอำนวยการบริหาร โครงการ ODOS ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการโครงการและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสรรหาและคัดเลือกเงื่อนไขการให้ทุน การดูแลนักเรียนทุน การเบิกจ่ายงบประมาณ การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการ โดยอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการในแต่ละประเภททุนกำหนดก็ได้ - ในกรณีที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS แต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้มีองค์ประกอบเป็นหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมไม่เกิน 10 คนและให้มีวาระ 3 ปี ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการเสนอประธานกรรมการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ |
ประโยชน์ของการดำเนินโครงการ ODOS
(1) กระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี และมีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี โดยให้มีโอกาสรับทุนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับ ปวส. และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ
(2) ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน
(3) สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างทั้งต่อเยาวชน สถาบันการศึกษาและสังคม ทำให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเก่งและคนดีที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และทำให้สถาบันการศึกษาตระหนักว่า แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถพัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพได้เช่นกัน
4. โครงการ ODOS ที่คณะกรรมการอำนวยการ ODOS เสนอมาในครั้งนี้ มีการดำเนินการในลักษณะคล้ายกันกับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2547 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 4 รุ่น [รุ่นที่ 4 ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 - 2569 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 และวันที่ 26 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ ปัจจุบันรุ่นที่ 4 มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 544 คน ไม่สำเร็จการศึกษา จำนวน 16 คน พ้นสภาพนักเรียนทุน จำนวน 14 คน ลาออก จำนวน 2 คน สละสิทธิ์ จำนวน 5 คน ยังอยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน3 คน] โดยโครงการ ODOS ได้มีแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส แต่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดีและมีศักยภาพ เช่นเดียวกับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ของโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 (ที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน) กับโครงการ ODOS มีความแตกต่างกัน สามารถสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ
โครงการ |
โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ของ ศธ. (ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน) |
โครงการ ODOS ที่เสนอครั้งนี้ (ดำเนินโครงการ โดย กสศ. สำนักงาน ก.พ. และ สป.อว.) |
หลักการ |
เป็นการจัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สายสามัญหรือสายอาชีพในทุกอำเภอ/เขตทั่วประเทศ (928 ทุน/อำเภอ/เขต) ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศในสาขาวิชาที่ขาดแคลนที่เป็นความต้องการของประเทศ |
เป็นการให้ทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสแต่มีผลการเรียนดี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับปวส. และ/หรือระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ ในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics: STEM) (สาขาวิชา STEM) |
ประเภททุน |
แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ - จำกัดรายได้ครอบครัว ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี - กรณีศึกษาต่อต่างประเทศให้ไปศึกษาต่อในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น แคนาดา อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ - สาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคม (2) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ - ไม่จำกัดรายได้ครอบครัว - มุ่งเน้นสาขาวิชาที่ขาดแคลนด้านวิทยาศาสตร์ (เช่น ปิโตรเคมี และวัสดุพอลิเมอร์ พลังงานทดแทนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภัยพิบัติ การแพทย์ตะวันออก) - กรณีศึกษาต่อต่างประเทศ ให้ไปศึกษาต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก |
แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในประเทศ (กสศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) - จำกัดรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน (2) ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ (สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) - จำกัดรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน - กำหนดประเทศให้ไปศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเครือรัฐออสเตรเลีย (3) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ (อว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) - จำกัดรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน |
เงื่อนไข การชดใช้ทุน |
ผู้รับทุนทั้ง 2 ประเภทที่สำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามความประสงค์ของผู้รับทุน สำหรับผู้รับทุนประเภท 2 ให้ชดใช้ทุนโดยกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่ผู้ได้รับทุนได้รับทุนตามสัญญา หรือหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้ชดใช้เงินคืนตามจำนวนที่ใช้ไปพร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่า |
ทั้ง 3 ประเภท มีลักษณะการใช้ทุนที่แตกต่างกัน 1. ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในประเทศ : เป็นทุนให้เปล่า (ไม่ต้องชดใช้ทุน) 2. ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ : เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยเน้นให้ปฏิบัติงานในภูมิภาคเป็นลำดับแรก 3. ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ : เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย โดยสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามความประสงค์ |
แหล่งเงินทุน |
งบประมาณแผ่นดินตลอดโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 - 2569 (มีการขยายระยะเวลาถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เนื่องจากผู้รับทุนไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่กำหนด) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14,493 ล้านบาท |
เงินสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น โครงการสลากการกุศล ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2576 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท |
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ศธ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กสศ. พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการในประเด็นต่าง ๆ เช่น (1) สาขาวิชาที่จะให้ทุนการศึกษา ควรพิจารณามาทั้งในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics: STEM) และที่ไม่ใช่สาขาวิชา STEM ด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในบางอุตสาหกรรมสำคัญอาจไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะด้าน STEM เท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรม Soft Power ประกอบกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมีความแตกต่างกันและโอกาสในการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนด้าน STEM ยังคงเป็นข้อจำกัดของเด็กยากจน
11. เรื่อง ผลการพิจารณา เรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณา เรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ผลการพิจารณาเรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นชอบด้วย โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
การจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาให้แก่สถาบันอุดมศึกษา ควรคำนึงถึง จุดมุ่งหมาย ศักยภาพและการดำเนินการที่ผ่านมาของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำเอาจุดเด่นและศักยภาพในการจัดการศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การรับเงินอุดหนุนการพัฒนาการอุดมศึกษาระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้รับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ต้องมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์และตัวชี้วัดที่ตรวจสอบได้เพื่อให้สามารถติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนโครงการตามเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
การกำหนดให้มีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์และการบูรณาการการทำงานของกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ภายใต้กลไกของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้การบริหารงานของทั้ง 2 กองทุนเป็นไปในทิศทางที่ส่งเสริมและสนับสนุนกัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการจัดระบบอุดมศึกษาผ่านใหม่เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาโดยออกกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564กำหนดหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษา และการติดตามผลสัมฤทธิ์ไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการพลิกโฉมสถาบันอดมศึกษาเพื่อพลิกฟื้นประเทศอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การบริหารจัดการกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาและการจัดสรรเงินกองทุนให้แก่สถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ปรับปรุงแผนด้านการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564-2570 ให้สอดรับกับบริบททางสังคมที่สำคัญในช่วง พ.ศ. 2566-2570 กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564-2570 เพื่อให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้มีองค์ความรู้และทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต เช่น การสร้างโอกาส การเข้าถึงอุดมศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การเชื่อมโยงและสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาระดับอื่น เป็นต้น
การดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาจะต้องประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะปฏิบัติ และทัศนคติ และความคิดนั้น สอดคล้องกับหลักการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาหรือการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
การจัดทำรายงานประจำปีของสภานโยบายกายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติในส่วนของการพัฒนาด้านการอุดมศึกษาของประเทศจะนำรายงานทางการเงินและการบริหารกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษามาใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานประจำปีดังกล่าวเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป
12. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา)
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) ทราบต่อไป รวมทั้ง ให้กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (3 ธันวาคม 2567) รับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา) ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้ พน. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้ พน. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เสนอสรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา) มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่ง พน. ได้พิจารณาเกี่ยวกับประเด็นตามข้อเสนอแนะดังกล่าวพร้อมทั้งจัดทำสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมด้วยแล้ว โดยมีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ ผผ. |
ผลการพิจารณา /ผลการดำเนินการ/ความเห็น |
1. ด้านแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
เร่งรัดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่หรือมีน้ำหนักรวมไม่เกินตามที่กำหนดซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร รวมทั้งไม่ต้องมีผลการตรวจสอบและรับรองโดยวิศวกรโยธาและไม่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติที่อาจสร้างภาระเกินความจำเป็นแก่ประชาชน และให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว เห็นควรให้ มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติในการรับแจ้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามกฎกระทรวงดังกล่าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไป |
กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) เพื่อให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารที่มีน้ำหนักรวม ในบริเวณหนึ่งบริเวณใดไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร
|
(2) ให้สำนักงาน กกพ.พิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อลดขั้นตอนที่ประชาชนต้องแจ้งการผลิตไฟฟ้า จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัย ต่อสำนักงาน กกพ. ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้กรณีการผลิตไฟฟ้า จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัย เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งต่อสำนักงาน กกพ. หรือการจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่าง สำนักงาน กกพ. กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) (การไฟฟ้าฯ) และให้การไฟฟ้าฯ ซึ่งมีข้อมูล ของประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า และได้มีการยื่นขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ อยู่แล้ว จัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่สำนักงาน กกพ. เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ |
สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการปรับปรุงขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การรับแจ้งยกเว้นการประกอบกิจการพลังงาน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า การเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้จดแจ้งที่ขอเชื่อมต่อระบบ กับการไฟฟ้าฯ การพิจารณาแยกใบอนุญาตสำหรับ กิจการผลิตไฟฟ้าสำหรับโครงการ Solar rooftop ที่มีการติดตั้งบนหลังคาจำนวนหลายอาคารในพื้นที่เดียวกัน การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การกำหนดให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเป็นกิจการที่ต้องแจ้ง พ.ศ. 2551 ออกตามความในมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบงานการอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Licensing) สำหรับการตรวจสอบสถานะการขอรับใบอนุญาต พค.2 การจดแจ้งการประกอบกิจการพลังงานและการศึกษาวิจัยหลักการการรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) และกรณีศึกษาของต่างประเทศ |
(3) ให้การไฟฟ้าฯ พิจารณาแนวทางในการเพิ่ม จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้เพียงพอเพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มอัตรากำลัง การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่วนงานอื่นเพื่อให้เข้ามาช่วยส่วนงานที่มีปริมาณงานมาก หรือการมอบหมายหรืออนุญาตให้เอกชนหรือบุคคลภายนอก (outsource) ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดำเนินการ รวมทั้ง ให้ร่วมกับสำนักงาน กกพ. จัดทำและพัฒนาระบบเชื่อมโยง ข้อมูลระหว่างสำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฯ |
1) กฟน. อยู่ระหว่างการดำเนินการประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการติดตั้งสายภายในของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา การปรับปรุงขั้นตอนการขอเชื่อมต่อให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การจัดทำรายชื่อผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel List) ร่วมกับ สมอ. การประชาสัมพันธ์ขั้นตอนและรายละเอียดการขอเชื่อมต่อระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และรายชื่ออุปกรณ์อินเวอร์เตอร์และอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อนกลับที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดของ กฟน. และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบโซลาร์เซลล์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของ กฟน. 2) กฟภ.อยู่ระหว่างหารือกับ กฟน. และวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดทำ หลักเกณฑ์การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบ ผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และผู้ประกอบกิจการไฟฟ้ารายอื่น และอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องอื่น ๆ เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การปรับปรุงเพื่อลดขั้นตอน การพิจารณาอนุญาตให้เชื่อมต่อระบบผลิตไฟฟ้าโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบสำหรับกรณีผู้ขอเชื่อมต่อที่มีขนาดกำลังการผลิตรวมไม่เกิน 200 กิโลวัตต์ การกระจายอำนาจในการพิจารณาแบบคำขอเชื่อมต่อระบบผลิตไฟฟ้า กรณีติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 20 กิโลวัตต์ |
2. ด้านการกำหนดมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ |
|
ให้ สมอ. ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้แก่ประชาชนผู้บริโภคว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในไทย และนำเข้ามาจากต่างประเทศที่นำมาติดตั้งใช้งาน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย สูงกว่าในปัจจุบันที่ สมอ. กำหนดให้เป็นเพียงมาตรฐานทั่วไปซึ่งผู้ผลิตในประเทศเท่านั้นที่สามารถยื่นขอการรับรองคุณภาพได้ตามความสมัครใจ เช่น พิจารณากำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ต้องผลิต นำเข้า และจำหน่ายแต่เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น หรือการหารือร่วมกันระหว่าง สมอ. กับการไฟฟ้าฯ เพื่อพิจารณาจัดทำรายชื่อผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel List) ที่ผ่านการทดสอบจากสถาบัน/หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ และการไฟฟ้าฯ สามารถใช้เพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้มีการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ได้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์อินเวอร์เตอร์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนของการไฟฟ้าฯ (Inverter List) หรือโดยวิธีการอื่นที่เหมาะสม |
สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับระบบโซลาร์เซลล์ จำนวน 24 มาตรฐาน และมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมาย มาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 10 ราย รวมทั้งอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพิจารณากำหนดให้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ต้องเป็นไปตาม มาตรฐานเพื่อออกกฎกระทรวงต่อไป |
3. ด้านมาตรฐานผู้ติดตั้ง |
|
ให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น พน. อว. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพิจารณากำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่เป็นมาตรฐานกลางที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาเกี่ยวข้อง มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานสำหรับสถาบันที่จัดฝึกอบรมทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทำให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยผู้ผ่าน การฝึกอบรมจะต้องได้รับใบรับรองที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถในการติดตั้ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่มีต่อผู้ปฏิบัติงานด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดระยะเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฯ |
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จำนวน 6 อาชีพ (14 คุณวุฒิ) ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา บนพื้นดิน และบนทุ่นลอยน้ำ รวมทั้งจัดทำชุดฝึกอบรมการเรียนรู้ออนไลน์ คู่มือการใช้งาน และสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ โดยมีชุดฝึกอบรม e-Training online ตามมาตรฐานอาชีพ จำนวน 558 ชุด และมีสาขาที่เกี่ยวกับสาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จำนวน 6 ชุด |
4. ด้านการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน |
|
ให้ พน. สำนักงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำคู่มือความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนขั้นตอนและรายละเอียดในการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่เข้าใจง่าย รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ แอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในระยะยาวต่อไป |
พน. โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้สื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งใช้งานและวิธีการดูแลบำรุงรักษาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ Infographic และคลิปวิดีโอผ่านเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook YouTube และ TikTok อีกทั้งมีการฝึกอบรม การออกแบบ การติดตั้งระบบ การบรรยายให้ความรู้ การจัดทำเอกสารเผยแพร่ การเก็บรวบรวมข้อมูล และการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น รายงานประจำปีของหน่วยงาน รายงานการติดตามสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย รวมทั้งการดำเนินโครงการ Solar to Social โครงการส่งเสริมความรู้การติดตั้งและการติดตามประเมินผลการใช้ Solar rooftop ในบ้านอยู่อาศัยและหน่วยงาน ของรัฐ เป็นต้น |
ต่างประเทศ
13. เรื่อง แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมฯ ที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือใน 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน เช่น เพิ่มพูนความร่วมมือในด้านการเมือง การป้องกันประเทศและความมั่นคงปลอดภัย (2) หุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น เพิ่มพูนความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ และ (3) หุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เช่น ส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจะมีการรับรองถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ในห้วงการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าลักษณะเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามกับกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ที่ปรับปรุงใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กับกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ที่ปรับปรุงใหม่ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กับกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ที่ปรับปรุงใหม่ เป็นการปรับปรุงถ้อยคำในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับปัจจุบันเพื่อให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน เนื่องจากมีการปรับชื่อหน่วยงานของเวียดนาม ที่รับผิดชอบภารกิจด้านความร่วมมือทางการค้าทวิภาคีกับไทย การปรับปีเป้าหมายของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนจากปี ค.ศ. 2025 เป็นปี ค.ศ. 2045 รวมถึงการปรับถ้อยคำเพื่อให้สะท้อนถึงการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านในปี 2568 โดยจะมีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2568 ณ ประเทศเวียดนาม ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าลักษณะเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
15. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมของการหารือระดับผู้นำครั้งที่ 1 ว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมของการหารือระดับผู้นำครั้งที่ 1 ว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศในการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และติดตามความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทย กับอินโดนีเซียในมิติที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านการเมืองและความมั่นคง (2) ด้านเศรษฐกิจ (3) ด้านสังคมและวัฒนธรรม (4) ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนรวมถึงการสนับสนุนในเวทีพหุภาคีอื่น ๆ เช่น BRICS องค์การสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลกร่วมกัน โดยจะมีการรับรองถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ ในห้วงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ ที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าลักษณะเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
16. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซียและพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขในสาขาต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ความมั่นคงด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การเงินการคลังด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น โดยจะมีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ณ ประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเอเชียตะวันออก) เห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าลักษณะเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
17. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย คณะรัฐมนตรีมอบให้ สธ. เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศ โดยมีความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขมูลฐานในสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสุขภาพ และการจัดหางบประมาณอย่างยั่งยืนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพผ่านรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ การฝึกอบรมบุคลากรตลอดจนการจัดสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามและจะขยายออกไปโดยอัตโนมัติอีก 3 ปี เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งความประสงค์ที่จะยกเลิกให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ จะมีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 78 ระหว่างวันที่ 19 – 27 พฤษภาคม 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
2. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นชอบ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยเข้าข่ายเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
18. เรื่อง การขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปคครั้งที่ 7 (7th APEC Education Ministerial Meeting-AEMM)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปคครั้งที่ 7 (7th APEC Education Ministerial Meeting-AEMM) (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ ให้ ศธ. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง รามทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤษภาคม 2568 เป็นเวทีระดับสูงสุดสำหรับการหารือเชิงนโยบายด้านการศึกษาในเขตเศรษฐกิจเอเปค เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีด้านการศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายทางการศึกษาร่วมกันและกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ด้านการศึกษาในอนาคตโดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ลดช่องว่างทางการศึกษาและส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” (Bridging Educational Gaps and Promoting Inclusive Growth in the Era of Digital Transformation) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา เสนอแนวทางปฏิบัติในการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่14 พฤษภาคม 2568 ซึ่งได้มีการเวียนแจ้งสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคพิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุม รัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) และมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการเกี่ยวกับการพิจารณาปรับถ้อยคำ รวมทั้งเห็นว่าร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เรื่องนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายลักษณะเรื่องที่ให้เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
19. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทวิภาคีทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเซอร์เบีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทวิภาคีทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเซอร์เบีย (เซอร์เบีย) (บันทึกความเข้าใจฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ให้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ประเทศไทยและเซอร์เบีย สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น และโดยที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการจัดตั้งกลไกส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม กต. ของทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีทางการเมืองเพื่อเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เจรจาร่างบันทึกความเข้าใจฯ และเห็นชอบร่วมกันแล้ว
2. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทวิภาคีทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเซอร์เบีย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการจัดการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายเป็นประจำเพื่อทบทวนและพิจารณาความสัมพันธ์ทวิภาคีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการศึกษา โดยมุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกันผ่านการส่งเสริมการส่งออกดึงดูดนักลงทุน และผลักดันการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกันว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้อง
20. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการประชุมปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและกิจการชาวต่างชาติแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการประชุมปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและกิจการชาวต่างชาติแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (จอร์แดน) (Memorandum of Understanding on the Establishment of Political Consultations Mechanism between the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Foreign Affairs and Expatriates of the Hashemite Kingdom of Jordan) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน ให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้ลงนามดังกล่าว
3. ให้ กต. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีผลใช้บังคับของร่างบันทึกความเข้าใจฯ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ประเทศไทยกับจอร์แดนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2509 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย มีความสัมพันธ์อย่างราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านการพัฒนา และด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอด
2. ในปี 2564 ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการประชุมปรึกษาหารือทางการเมือง (Political
Consultations: PC) กับฝ่ายจอร์แดน เพื่อทบทวนติดตาม และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และฝ่ายไทยและฝ่ายจอร์แดนได้เห็นชอบกับร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกันแล้ว
3. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการประชุมปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและกิจการชาวต่างชาติแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (จอร์แดน) จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกลไกการหารือทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับจอร์แดนอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสนใจและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันโดยจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกันว่า ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ
แต่งตั้ง
21. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เป็นหลักการในการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามความมาตรา 42 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 รายเพิ่มเติม ตามลำดับ ดังนี้
1. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายพิชัย ชุณหวชิร)
2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี