วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความ ระบุว่าเหตุจากเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง สะท้อนการบริหารสมบัติวัด ที่ต้องเร่งปรับรื้อโครงสร้าง
"อย่าเอาเงินมาถวาย" สมเด็จพระสังฆราชรับสั่ง พระรับเงินรับทองเป็นอาบัติที่รุนแรงมาก พุทธศาสนาของเราเสื่อมลงถึงวันนี้ คิดให้ดี เป็นเพราะโยมไม่ศึกษาพระธรรมวินัย เอาเงินไปถวายพระ เมื่อไหร่พวกเราจะเลิกทำบาปกันเสียที หยุดเอาเงินให้พระ หยุดทำร้ายพระศาสนา หยุดสร้างกลุ่ม "เบ็ญจราคี" ที่โสโครกโสมมเพิ่มขึ้น
(เปิดเผยในสื่อมวลชน 26 กุมภาพันธุ์ 2560)
ข้อความที่สมเด็จพระสังฆราชรับสั่งข้างต้น สอดคล้องกับหลักการในพระพุทธศาสนาที่ว่า พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวจับต้องเงินทอง เพราะเงินคือ“อสรพิษ” ก่อให้เกิดกิเลส ทำลายนักบวชผู้ตั้งใจมาศึกษาปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิกกิเลส
หากคนไทยนำหลักธรรมดังกล่าว มาเป็นบรรทัดฐานในการปฎิบัติ เหตุการณ์ที่ท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงโอนเงินของวัดมากกว่า 800 ล้านบาท ไปเล่นการพนันออนไลน์ ผ่านสีกาคนหนึ่งคงจะไม่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการเกิดที่ซ้ำซาก เพราะในอดีตเคยเกิด มาแล้วเชิญ กรณีของวัดธรรมกาย วัดโสธรวรารามวรวิหาร วัดสระเกศราชวรวิหารและวัดอื่นๆ ที่นำเงินของวัดและเงินส่วนตัวของพระ มาผสมปนเปกันอย่างไม่มีระบบ
เมื่อพระกับวัด ไม่ปฏิเสธเงิน(อสรพิษ)
เมื่อพุทธศาสนิกชนคนไทยยังนิยมที่จะถวายเงินกับพระ เพราะถือเป็นความสะดวกที่ได้บุญ และคิดว่าเป็นการช่วยบำรุงพระพุทธศาสนา เรามักจะคิดว่าพระและวัดจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการซื้อหาจับจ่ายใช้สอย สาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้าง ขณะเดียวกันพระกับวัดหลายแห่งก็ไม่ปฏิเสธศรัทธาของญาติโยม พร้อมเรียกหาสะสมอสรพิษ (เงิน)
แทนที่จะให้ชุมชนและวัดเกื้อหนุนกัน อย่างในอดีตที่พระคือจิตวิญญาณและปัญญาของชุมชน ขณะที่ชุมชนเกื้อหนุน อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เพื่อให้พระได้ศึกษาและปฏิบัติ
เบื้องต้นจึงจำเป็นต้องแยกเงินของพระและเงินของวัดออกจากกัน เงินของวัดจะต้องมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง มีคณะอุบาสกอุบาสิกา ในชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ มีผู้ตรวจสอบ และเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฝากพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัท 4 กล่าวคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา มิใช่ฝากไว้กับภิกษุเท่านั้นดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันระบบปัจจุบัน ที่ให้วัดเป็นนิติบุคคลซึ่งเจ้าอาวาสเป็นตัวแทนของนิติบุคคลแต่ผู้เดียวในการทำนิติกรรมใดๆ
ถ้าจะกล่าวด้วยหลักการแล้วเงินและสมบัติของวัดควรจะให้กรรมการซึ่งเป็นอุบาสกและอุบาสิกาเป็นผู้ดูแล บำรุงรักษาให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาปฎิบัติธรรม ของพระและผู้ที่เข้ามาศึกษาในวัด โดยที่พระจะต้องไม่เกี่ยวข้อง
รายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อ กรกฎาคม 2558 ที่ผู้เขียนมีส่วนดำเนินการระบุไว้ว่า
ในบรรดาทรัพย์สินในประเทศนี้ ผู้คนทั้งหลายแทบไม่รู้ว่าทรัพย์สินส่วนของพระพุทธศาสนานั้นมีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทราบว่า มีอยู่เป็นมูลค่าเท่าใด เพราะไม่เคยมีการเปิดเผยรายการทรัพย์สิน
มูลค่าทรัพย์สินนั้นมีผู้ประมาณว่าน่าจะมากกว่า 20 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ 57 แห่งรวมกัน ทว่ามูลค่าทรัพย์สินมหาศาลนี้ กลับไม่บังเกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา หรือวัดวาอาราม หรือศึกษาและปฏิบัติของพระสงฆ์เท่าที่ควรจะเป็น เพราะมีการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส มีการโกงกินเบียดเบียนทรัพย์สินของพระพุทธศาสนามาเป็นประโยชน์ส่วนตนมาอย่างเนิ่นนาน
ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดและของพระมีมาก ทั้งกรณีที่พระมรณภาพและทิ้งทรัพย์สินไว้มากมาย ญาติพี่น้องมาเรียกร้องว่าเป็นมรดกของตน กรณีพระดังที่มีเงินเก็บล้นกุฏิ มีทรัพย์สินของใช้หรูหรา มีรถยนต์ยุโรปราคาแพง บ้าน ที่ดิน และบริหารจัดการเสมือนหนึ่งเป็นอาณาจักรผลประโยชน์ส่วนตน
กรณีทรัพย์สินของวัดต่าง ๆ เช่น วัดธรรมกาย วัดโสธรวรารามวรวิหาร วัดสระเกศราชวรวิหาร ที่มีปัญหาการบริหารจัดการผลประโยชน์ของวัดซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ผลประโยชน์ของวัดถูกยักยอกไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของพระบางรูปและพวกพ้อง
ปัจจุบัน วัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายคณะสงฆ์ ที่กำหนดให้เจ้าอาวาสเป็นตัวแทนของวัดในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัด มีอำนาจทำนิติกรรม นำไปใช้จ่าย ฝากถอนเงินออกจากบัญชี โอนไปให้บุคคลใดก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้าอาวาส
การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการดูแลวัด กรรมการก็จะเป็นคนของเจ้าอาวาสทั้งสิ้น หลายกรณีเป็นญาติพี่น้อง คนรับใช้ คนสนิท ทำให้อำนาจเด็ดขาดก็ยังอยู่ที่เจ้าอาวาส
ส่วนเงินของพระ ที่ได้รับถวายก็กลายเป็นเงินส่วนตัว แม้จะได้มาจากการบริจาคขณะครองสมณเพศ และเป็นตัวแทนในนามของพระพุทธศาสนาก็ตาม พระถืออำนาจในการใช้เงินราวกับเป็นเงินส่วนตัวที่ได้มาจากการประกอบอาชีพของคนทั่วไป
บ้างก็แจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ให้ครอบครัว ให้สีกา รวมถึงให้คนใกล้ชิดให้เข้ามาบริหารจัดการราวกับเป็นฝ่ายการเงินส่วนตัว การมีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง มากกว่าจะทำหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
ละเว้นการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้พระสงฆ์เกิดบารมี เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจเงินตราเป็นเครื่องมือ
ขณะเดียวกัน พุทธบริษัทที่เข้ามาช่วยดูแลทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาก็จะต้องบริหารจัดการอย่างโปร่งใส ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง หากผิดเพี้ยนไปพระสงฆ์ก็จะเป็นผู้เตือนสติอย่างมีนำ้หนักที่ต้องรับฟัง ตรงกันข้ามเมื่อพระไม่ได้ถือเงิน หรือบริหารจัดการเงินทองด้วยตนเองแล้ว พระก็ย่อมจะมีเวลา และมุมานะในการศึกษา และปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น มิฉะนั้นก็จะเกิดความเกรงใจพุทธบริษัทที่ทำนุบำรุงวัด สนับสนุนให้พระได้อยู่วัดไม่ต้องเสียค่าเช่า มีนำ้ มี ไฟฟ้าใช้อย่างสะดวก ตามอัตภาพ เกิดสมดุลและคานอำนาจกันโดยอัตโนมัติ
โดยสรุปปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของพระพุทธศาสนามี ดังนี้
1) กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่เพื่อการบริหารวัดไม่เพียงพอที่จะทำให้วัดมีแนวปฏิบัติในการบริหารเงินของวัดที่เป็นระบบ การจัดทำรายงานทางการเงินของวัดไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานบัญชีที่รับรองกันโดยทั่วไป ไม่มีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีอนุญาต
2) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังขาดบทบาทในการกำหนดกรอบในการกำกับดูแลให้การบริหารจัดการเงินของวัด ให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งบุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดี และหลักการบริหารเงินของผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ได้
3) หน่วยงานที่ควรจะมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลทางการเงินของวัด โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลการเงินของวัดไทยได้อย่างเป็นระบบ
4) การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของวัดยังไม่มีระบบ ส่วนมากวัดจะจัดทำรายงานทางการเงินและจัดเก็บไว้เองที่วัด มิได้มีการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ หรือหากมีการเผยแพร่ จะเผยแพร่ในวงจำกัด
5) ขาดการวางระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมียุทธศาสตร์และมีประสิทธิภาพ ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการบริหารเงินทุนของวัดเพื่อให้มีการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค อย่างมีธรรมาภิบาล
ทำไมคนจึงเริ่มเสื่อมศรัทธาในตัวพระสงฆ์
ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างของคณะสงฆ์ไทยใน ๒ เรื่องใหญ่ คือ ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ และปัญหาการศึกษาคณะสงฆ์
ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ มีการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางเป็นแนวตั้งมาไว้ที่มหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐที่ใกล้ชิดเกินไป ไม่ให้ความสำคัญกับชุมชนในการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัททั้ง ๔ ในการดูแลวัด ควบคุมพฤติกรรมพระ
การไม่มีระบบกลั่นกรองและกล่อมเกลา พิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจ ของผู้ที่จะเข้ามาบวช ใครประสงค์จะบวชก็บวชได้ไม่อยาก จากสภาพปัญหานี้หากวัดมีการกล่อมเกลาและขัดเกลาผู้บวชที่ดี ปัญหาก็ยังพอทุเลาได้บ้าง
ข้อนี้โยงถึงปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ที่อ่อนแอมาก พระไม่มีความรู้ในทางธรรม และไม่มีแรงจูงใจที่จะศึกษาธรรม การศึกษาของคณะสงฆ์เรียกได้ว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นแผนกธรรมหรือแผนกบาลี มีการทุจริตในการสอบ เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียน ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม
วิกฤตการณ์ของคณะสงฆ์ไทย คือพระสงฆ์มีคุณภาพตกตำ่ ไม่เพียงแต่ความรู้ในทางพุทธธรรมที่มีน้อย แต่ที่หนักกว่านั้นคือเรื่องอาจาระหรือความประพฤติดีงามตามพระธรรมวินัยก็ย่ำแย่ถดถอย
มีพระนอกรีตมากขึ้น ตกเป็นข่าวคาวอื้อฉาวและพบเห็นได้ทั่วไป ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชน เกิดลัทธิพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย ทั้งไสยศาสตร์ พุทธพาณิชย์ เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน
นอกจากประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อพระสงฆ์ ไม่ว่าพระสงฆ์จะทำตัวอย่างไร ชาวพุทธก็ไม่สนใจไม่เอาใจใส่ ทำให้พระสงฆ์มีพฤติกรรมย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ
ความเหินห่างจากสังคม เมื่อคณะสงฆ์ไม่สนใจชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่สนใจพระ ไม่สนใจวัด วัดหลายวัดร่ำรวยมหาศาล มีธุรกิจงานศพและอสังหาริมทรัพย์ แต่ชาวบ้านรอบวัดมีฐานะยากจน บาง
ครั้งก็ไล่รื้อที่ชาวบ้านเพื่อนำที่ดินไปสร้างศูนย์การค้า ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่พระกับชาวบ้านมีความใกล้ชิดกันมาก
ชาวบ้านบริจาคที่ดินให้วัด ก็มีการเล่นแร่แปรธาตุ นำไปทำสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรร วัดบางแห่งรอบวัดก็มีบ้านในที่วัดเต็มไปหมด
ความลงท้าย ทางออกที่เหลืออยู่
ขอนำความเห็นสำคัญที่ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป.อ. ปยฺตฺโต) แสดงไว้เป็นทางออกที่เหลืออยู่ ของสังคมไทย
“ พระพุทธศาสนาเป็นของบริษัท 4 ถ้าพระเสีย แต่โยมยังอยู่
อุบาสก อุบาสิกา ต้องเป็นเป็นหลัก กลับมาช่วยฟื้นฟู หนุนให้มี ” พระดี“ มารักษาพระพุทธศาสนา”
แต่อนิจจา ขณะนี้ประเทศไทยของเรา
พุทธจักรอ่อนล้าชราภาพ อาณาจักรก็อ่อนด้อย อวดดี พรรคการเมืองก็คิดแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าตนและพรรคพวก หรือ บ้านเมืองของเราจะถึงคลา ถดถอยแล้วล้มเหลว
18 พฤษภาคม 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี