ครม.ไฟเขียวแผนขับเคลื่อนศก.
อนุมัติ1.57แสนล.
กระจายลง4โครงการขนาดใหญ่
‘น้ำ-ถนน-เกษตร-ท่องเที่ยว’
ปากแข็งแค่ชะลอแจก1หมื่น
ครม.อนุมัติงบ 1.57 แสนล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กระจายไปยัง 4 โครงการขนาดใหญ่ “ลงทุนน้ำ-ทำถนน-การเกษตร-กระตุ้นท่องเที่ยว” ขณะที่“นายกฯอิ๊งค์”แจงเหตุผลชะลอแจกเงินหมื่น เพราะโดน“กำแพงภาษีทรัมป์”แทรก ขอปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดลำดับความสำคัญใช้เงิน โยกทำโครงสร้างพื้นฐาน หลังรับฟังเสียงเงินดิจิทัลไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่ดี อ้างตอนหาเสียงประเมินแล้วทำได้ โว ทำไปแล้วสองเฟสด้าน“จุลพันธ์” ยันไม่ยกเลิกแจกเงินดิจิทัล แต่ขอดำเนินการเมื่อเศรษฐกิจมีความพร้อม
เมื่อวันที่ 20พฤษภาคม2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ ตั้งเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อรักษาการจ้างงานและวางรากฐานโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจโดยมีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1.ข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ1.1 โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ประกอบด้วย (1) ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง (2) กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศและ (3) พัฒนา/ปรับปรุงระบบประปาด้านคมนาคม ประกอบด้วย (1) แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง (2) เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง (3) แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนนเสมอระดับ (4) ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ (5) ปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การผลิต
1.2 การท่องเที่ยวด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก (2) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว (3) พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว และ (4) กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง1.3 ลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพด้านการเกษตร เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร 1.4เศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆกองทุนหมู่บ้าน (SML) 2.การกำกับติดตามผลการดำเนินงานรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการและมาตรการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ตลอดจนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทราบต่อไป 3.แหล่งเงินในการดำเนินโครงการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 157,000ล้านบาท 4.ระยะเวลาดำเนินการ การจัดทำข้อเสนอโครงการและคำของบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มการพิจารณาโครงการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 ที่กำหนด โดยเสนอผ่านรองนายกฯ รมต.เจ้าสังกัดหรือ รมต.ที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาตามที่คณะกรรมการฯ ได้มอบหมาย พร้อมทั้งเสนอโครงการดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณในคราวเดียวกันด้วยภายในเดือน พ.ค.2568
5.การพิจารณาอนุมัติโครงการคณะกรรมการฯ รวบรวมข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณานำเสนอครม.พิจารณาอนุมัติ ภายในมิ.ย.2568การขอรับจัดสรรงบประมาณหน่วยรับงบประมาณนำส่งโครงการที่ครม.อนุมัติให้สำนักงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 ภายใน ก.ค. 2568
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมครม.ว่า เรื่องแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พ.ค.เห็นชอบในการทบทวนค่าใช้จ่ายงบประมาณปี 2568 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ได้มีการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อรับฟังแล้วจึงจำเป็นต้องเร่งปรับนโยบายเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อสร้างรากฐานการเติบโตระยะยาวและพัฒนาเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีการปรับแผนและเปลี่ยนเงินก้อนนี้มาลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนในมนุษย์ที่เป็นการลงทุนระยะยาว
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 1และ2 ที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และเฟสที่ 3 ที่มีการชะลอ ออกไปเป็นเพราะไม่มีเงินใช่หรือไม่ จะทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เป้าหมายของการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแปลว่ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด ซึ่งรอบแรกกับรอบที่สองเรากระตุ้นไปแล้วในกลุ่มคนเปราะบางและผู้สูงอายุ ต่อจากนี้พอเรามีเรื่องของกำแพงภาษีสหรัฐฯเข้ามา ฉะนั้นเราต้องพิจารณาทบทวน ซึ่งข้อเสนอจาก ธปท. และสศช. ให้ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ว่าเงินก้อนนี้จะสามารถใช้อะไรที่จำเป็นและเร่งด่วนกว่าในเรื่องแจกเงินดิจิทัล คือเปลี่ยนรูปแบบของการกระตุ้นว่าสามารถเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไรที่เรียงลำดับความสำคัญ อะไรที่จำเป็น ณ ขณะนี้จะเกิดผลต่อประเทศมากที่สุดและสูงสุด เราจึงต้องทบทวนอันนี้ใหม่
เมื่อถามว่านายกฯใช้คำว่าชะลอแปลว่าคนยังหวังดิจิทัลวอลเล็ตได้อยู่ หรือจริงๆเป็นการยกเลิกแต่รัฐบาลไม่กล้าพูดกลัวกระทบฐานเสียง นายกฯ กล่าวว่า เราต้องพูดกันให้เข้าใจก่อนว่าตอนนี้ปัญหาที่เข้ามาแทรก คิดว่าประเทศไทยก็คงไม่อยากได้ปัญหานี้ เพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้ทั้งก้อนแปลว่าเกิดประโยชน์ที่ตรงไหนสูงสุดเราเน้นที่ตรงนั้นมากกว่า เพราะฉะนั้นถามว่าเราไม่บอกว่ายกเลิกใช่ไหมเพราะถ้าสมมติเรากลับมาทำอีกในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมันดีขึ้น แล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้จะได้ผลมากที่สุด เราก็มีความหวังว่าเราก็อยากจะให้อะไรที่มีประโยชน์สูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมันก็ต้องได้ทำ ฉะนั้นที่คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจฯทบทวนกันมาคือการแจกเงินหมื่นหรือดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องรับฟัง และถามว่าตัวกระตุ้นไหนดีที่สุดสำหรับประเทศ นั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเรื่องกำแพงภาษีเข้ามา ตอนนี้ก็เป็นแบบนี้
เมื่อถามว่า ต่อไปการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในอนาคตหากสัญญาอะไรไปแล้วไม่เป็นตามนั้นจะกระทบเสียงของพรรค น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเวลาหาเสียงเราประเมินสถานการณ์ว่าเราทำได้จริง แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯขึ้นมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีประเทศไหนคาดคิด ไม่ใช่แค่ประเทศไทย และสิ่งที่เป็นสถานการณ์พิเศษออกมา
“อันนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ถามว่าเราทำไม่ได้จริงไหม ไม่จริง เพราะเราได้ทำไปแล้ว ไม่ใช่ว่านโยบายนี้ทำไม่ได้เลย แต่สถานการณ์ที่แทรกมามันสุดวิสัย ไม่ใช่ว่าทำๆอยู่แล้วจู่ๆยกเลิก หรือว่าไม่ทำแล้ว ชะลอ มันก็ไม่ได้ชะลอ แต่ว่าทุกครั้งมันผ่านความคิดเห็นแล้วมันผ่านได้ ทุกครั้งที่เราทำ 2 ครั้งที่เกิดขึ้นมันผ่านได้ แต่ครั้งนี้มีเหตุการณ์ใหม่คือเรื่องของภาษีเข้ามามันผ่านไม่ได้ ความจริงมันก็แค่นั้นเอง” นายกฯกล่าวและว่า จะให้สส.พรรคเพื่อไทยทำความเข้าใจกับคนที่หย่อนคะแนนให้แน่นอน
เมื่อถามว่าการเจรจาภาษีกับสหรัฐคืบหน้าไปถึงไหนแล้วเพราะเป็นผลกระทบต่อประเทศ ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักธุรกิจใหญ่ไปพบนายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่แล้วเกี่ยวอะไรกับดีลลับที่เคยพูดหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า พอดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯไม่ได้เดินทางไป จึงไม่ทราบว่าได้คุยอะไรกัน แต่การเดินทางไปของนักธุรกิจใหญ่ไม่ได้ประสานกับรัฐบาล ก็บอกแล้วว่าเสียดายที่นายทักษิณ ไม่ได้ไป
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัตร รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. ได้มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมให้หน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณไปทำโครงการและนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน2 สัปดาห์จากนี้ ซึ่งคณะกรรมการจะอนุมัติโครงการที่ส่งคำขอมาภายเดือนก.ค. ซึ่งโครงการที่เสนอของบประมาณเข้ามาจะต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม และเกิดเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจริงๆ โดยคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เขียนเงื่อนไขไว้ เพื่อเป็นข้อยืนยันว่าการเบิกจ่ายเงินจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและคอยประคับคองมรสุมทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า การแจกเงินดิจิทัล 10,000บาท 2เฟสที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโต 3% สามไตรมาสติด ซึ่งเราไม่เห็นแบบนี้มานานแล้วใครจะไปคาดคิดว่าจะสงครามการค้าของการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐเกิดขึ้นเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 น่าจะทรงๆ ยังไม่เจอผลกระทบ ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รัฐบาลวางโครงการที่เสนอเข้ามาจะต้องสามารถทำสัญญาผูกพันงบประมาณให้ได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2568 หรือช้าสุดภายใน 30 ก.ย. 2568 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ในการผูกงบประมาณไม่ได้หมายความว่างบประมาณจะเบิกจ่ายทั้งหมดภายในเดือนก.ย. แต่รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตาม
“โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000บาท จะกลับมาพิจารณาอีกครั้งหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีวันหนึ่งถ้าถึงความพร้อมเราจะกลับมาพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งต้องประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจรายไตรมาส และผลการเจรจามาตรการภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะออกมาเป็นอย่างไร” นายจุลพันธ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี