เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า แพทองธารสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้เพราะเข้าข่ายทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน ไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
----
จากคดีคลิปหลุดกรณี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยสนทนาทางโทรศัพท์กับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาหลายสิบปี เกี่ยวกับปัญหาชายแดน ไทย - กัมพูชา และศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณา และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งให้แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ในขณะที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน มีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ โดยแพทองธารดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกกระทรวงวัฒนธรรมด้วย นั้น
มีปัญหาว่า ภายหลัง แพทองธาร เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 แล้ว จะสามารถยื่นถอดถอนแพทองธารออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าวได้หรือไม่
ฝ่ายที่เห็นว่ายื่นถอดถอนไม่ได้ เพราะไม่มีการกระทำใหม่ ส่วนการกระทำเดิมก็ถูกลงโทษไปแล้ว จะลงโทษซ้ำอีกไม่ได้
ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
1) หลักห้ามดำเนินคดีซ้ำ (หลัก “ne bis in idem” ในภาษาละติน หรือ “double jeopardy” ในภาษาอังกฤษ) ปรากฏชัดเจนในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)) ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า บุคคลย่อมไม่ถูกพิจารณา หรือลงโทษซ้ำในความผิดซึ่งบุคคลนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือให้ปล่อยตัวแล้วตามกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 7)
2) ส่วนการถอดถอนรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญในปัญหาคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และมีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีว่า “ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีซ้ำในการกระทำเดิม ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3) อาจกล่าวได้ว่า เหตุแห่งการให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญไทย มาจากการทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน (the abuse or violation of some public trust) คล้ายกับการ Impeachment หรือ การถอดถอน ของสหรัฐอเมริกา อันเป็นกระบวนการทางรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาสหรัฐสามารถใช้อำนาจในการฟ้องร้องและถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกลาง รวมถึงประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่พลเรือนอื่น ๆ หากพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง
4) แพทองธารจึงสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ได้ เพราะเข้าข่ายทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน (the abuse or violation of some public trust) ไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
วัส ติงสมิตร
นักวิชาการอิสระ
2/7/68
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี