วันนี้ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (นัดพิเศษ) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
เศรษฐกิจ-สังคม
1. เรื่อง ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนสำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3702 ตอน บ้านบางควาย - บ้านเขาดิน (สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง) ตำบลท่าสะอ้าน และตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 (เรื่อง รายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ) วันที่ 22 สิงหาคม 2543 (เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน) และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 (เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2543 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน) เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 23.71 ตารางวา สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 3702 ตอน บ้านบางควาย - บ้านเขาดิน (สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง) ตำบลท่าสะอ้านและตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (โครงการฯ) ตามที่กรมทางหลวงเสนอ ก่อนดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินทั้งสิ้น 350 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 3702 ตอน บ้านบางควาย - บ้านเขาดิน (สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง) ตำบลท่าสะอ้านและตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (โครงการฯ) เป็นการก่อสร้าง สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำบางปะกง บนทางหลวงหมายเลข 3702 ตอน บ้านบางควาย - บ้านเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนาถนนบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงให้เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 314 ซึ่งจะทำให้รองรับปริมาณจราจรจากการขยายตัวของชุมชน และลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง หมายเลข 3701 และ3702 ได้ ต่อมาพบว่าโครงการฯ มีพื้นที่อยู่ในป่าชายเลน บริเวณใต้สะพาน โครงการฝั่งตำบลเขาดินเป็นจำนวน 1 ไร่ 1 งาน 23.71 ตารางวา จึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนมาในครั้งนี้ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง โดยขอให้ คค. (กรมทางหลวง) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ สิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด รวมทั้งระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณีการดำเนินการโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็น ต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 2566 อย่างเคร่งครัดด้วย
2. กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น (1) ค่าใช้จ่าย ที่จะเกิดขึ้นให้จัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณก่อนเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี (2) ควรให้ ทส. เปิดเผยผลการบำรุงป่าชายเลนสู่สาธารณชนด้วย เป็นต้น
2. เรื่อง ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2567 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2567 นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟม.) และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รฟม. ได้รายงานผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 นโยบายของคณะกรรมการ รฟม. โครงการและแผนงานในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) โดยมีตัวอย่างการดำเนินการ เช่น
1.1 ด้านพัฒนาบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง เช่น
(1) อัตราการเติบโตของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทางที่เพิ่มขึ้น มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เส้นทางรถไฟฟ้า |
จำนวนผู้โดยสาร เฉลี่ยสะสม (คน – เที่ยว/วัน) |
เพิ่มขึ้น/(ลดลง) (ร้อยละ) |
เป้าหมาย (ร้อยละ) |
|
ปีงบประมาณ 2566 |
ปีงบประมาณ 2567 |
|||
(1) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) |
375,685 |
422,270 |
12.40 |
2.50 |
(2) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) |
56,405 |
66,165 |
17.30 |
2.50 |
(3) สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) |
- |
38,406 |
- |
- |
(4) สายสีชมพู |
- |
53,244 |
- |
- |
(2) การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดังนี้
- สายเฉลิมรัชมงคล ในพื้นที่ศักยภาพดีมาก มีการพัฒนาแล้ว 4,882.95 ตารางเมตร จากพื้นที่ 7,089.70 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 68.87 (เป้าหมายร้อยละ 50.11) และในพื้นที่ศักยภาพดี มีการพัฒนาแล้ว 2,239.50 ตารางเมตร จากพื้นที่ 2,988.08 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 74.95 (เป้าหมายร้อยละ 68.24)
- สายฉลองรัชธรรม ในพื้นที่ศักยภาพดีมากมีการพัฒนาแล้ว 521.58 ตารางเมตร จากพื้นที่ 3,442 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 15.15 (เป้าหมายร้อยละ 8.24) และในพื้นที่ศักยภาพดี มีการพัฒนาแล้ว 584.13 ตารางเมตร จากพื้นที่ 1,692 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 35.11 (เป้าหมายร้อยละ 13.40)
1.2 ด้านสร้างสรรค์ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ที่มีผลิตภาพสูง และล้ำสมัย
มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
โครงการ |
รายละเอียด |
โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ เช่น |
|
(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) |
มีความก้าวหน้าร้อยละ 85.03 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.37 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2571 |
(2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) |
มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 54.12 เร็วกว่าแผนร้อยละ4.13 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2571 |
(3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย |
มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 38.63 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 1.74 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2573 |
โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้ |
|
(1) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต |
มีความก้าวหน้าร้อยละ 24 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ ในเดือนธันวาคม 2574 |
(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ |
มีความก้าวหน้าตามแผนร้อยละ 13.43 โดยคาดว่าจะเปิด ให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2574 |
(3) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา |
มีความก้าวหน้าตามแผนร้อยละ 13.43 โดยคาดว่าจะเปิด ให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2574 |
(4) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก |
มีความก้าวหน้าตามแผนร้อยละ 3.53 โดยคาดว่าจะเปิด ให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2576 |
(5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) |
มีความก้าวหน้าตามแผนร้อยละ 13.46 ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างทบทวนและปรับปรุงผลการศึกษาโดยพิจารณาเรื่อง นโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับการดำเนินการโครงการและการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ ในเดือนธันวาคม 2572 |
1.3 ด้านสร้างนวัตกรรมระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและใช้งานได้จริง โดย รฟม. มีจำนวนนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งดำเนินงานแล้วเสร็จ 2 ผลงาน (เป้าหมาย
1 ผลงาน) ได้แก่ (1) Smart Transit Application (STA APP) และ (2) MRTA NTERNAL OMMU SUPER APP
(M Plus)
2. นโยบายของคณะกรรมการ รฟม. เช่น
2.1 ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล โดยศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ รวมถึงนำระบบตั๋วร่วมมาใช้พัฒนาบัตรโดยสาร โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม
2.2 ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ เปิดบริการได้ตามแผนงาน และในการศึกษาระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและในเมืองหลักอื่นให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ภาระงบประมาณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการเป็นหลักด้วย
2.3 ศึกษาและพัฒนาระบบเชื่อมต่อ (Feeders) เพื่อเพิ่มศักยภาพและอำนวยความสะดวกในการเชื่อมการเดินทางจากระบบรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายต่าง ๆ โดยอาจผนวกการดำเนินการเข้าในแผนลงทุนของ รฟม.
2.4 ให้มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การบริหารการเปลี่ยนแปลง การพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและสมดุล รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีความพร้อมในการดำเนินงานเชิงรุก
2.5 ให้บริหารสินทรัพย์ ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องให้บริการเสริมต่าง ๆ ศึกษาโอกาสและริเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้และลดภาระการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งแก้ไขข้อปัญหาการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์
3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต โดยคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบ ผลการทบทวน/ปรับปรุงแผนวิสาหกิจ ปีงบประมาณ 2566 -2570 ฉบับปรับปรุง ปีงบประมาณ 2568 และแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยในช่วงปีงบประมาณ 2568 - 2570 รฟม.
มีโครงการแผนงานที่สำคัญของ รฟม. เช่น
3.1 ด้านพัฒนาบริการและอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนทุกกลุ่ม มีแผนที่จะพัฒนาเชื่อมโยงระบบการเดินทางและพัฒนาการบริการด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการศึกษา พัฒนา ปรับปรุง เพิ่มเติม สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง โครงการเพิ่มรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องและโครงการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร
3.2 ด้านสร้างสรรค์ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีผลิตภาพสูง และล้ำสมัย
มีเป้าหมายว่าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าจะต้องมีความสำเร็จตามแผน โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
3.3 ด้านสร้างนวัตกรรมระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่สร้างมูลค่าเพิ่มและใช้งานได้จริง มีแผนที่จะพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพื่อต่อยอดประสบการณ์และองค์ความรู้ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ โดยมีเป้าหมายในปีงบประมาณ 2568 จะพัฒนานวัตกรรมและนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจำนวน 2 ผลงาน โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและโครงการคนเก่งสู่การเป็นนวัตกร (Talent to Innovator) เป็นต้น
แต่งตั้ง
3. เรื่อง การมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ เรื่อง การมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ดังนี้
1. มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
(1) นายภูมิธรรม เวชยชัย
(2) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
(3) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
(4) นายพิชัย ชุณหวชิร
(5) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
2. ในการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนตามข้อ 1 (1) มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการ หรือองค์กรใด
3. ในกรณีที่ผู้รักษาราชการแทนตามข้อ 1 (2) – (5) จะสั่งการใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
สาระสำคัญของเรื่อง
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร
ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม 2567 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 3 กันยายน 2567
2. สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 320/2567 เรื่อง มอบหมายให้
รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 17 กันยายน 2567
3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2568
ข้อกฎหมาย
1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
มาตรา 41 บัญญัติในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
มาตรา 48 บัญญัติให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน และวรรคสามบัญญัติให้ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในการรักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนด้วยแล้วแต่กรณี
2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
มาตรา 4 (1) บัญญัติให้เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือต้องให้เสนอคณะรัฐมนตรี ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีได้
มาตรา 7 บัญญัติให้เรื่องที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 (1) ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นปกติหรือมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายเป็นการทั่วไปให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ ให้ความเห็นชอบ หรือมีคำสั่งแทนคณะรัฐมนตรีก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้ถือว่าการอนุมัติ ความเห็นชอบ หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นมติของคณะรัฐมนตรี
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี