เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า แพทองธารสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้ แม้จะเป็นสาเหตุเดิม แต่เป็นการขอให้ถอดถอนในตำแหน่งใหม่ ไม่ต้องห้ามถอดถอน
ข้อเท็จจริง
-วันที่ 20 มิถุนายน 2568 ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอถอดถอนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- วันที่ 30 มิถุนายน 2568 แพทองธารได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง
- วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
- วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 แพทองธารเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ปัญหา
จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอถอดถอนแพทองธารออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมโดยใช้เหตุเดิมได้หรือไม่
ผู้เขียนเห็นว่าสามารถยื่นคำร้องได้ ด้วยเหตุผลดังนี้
1) การมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี อันเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ใช่การกระทำของบุคคลที่จะเข้าข่ายต้องห้ามฟ้องซ้ำในความผิดอาญา (double jeopardy หรือ ne bis in idem) หรือห้ามฟ้องซ้ำในคดีอื่น (res judicata)
2) ส่วนหลักการไม่รับคำร้องไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ไม่มีหลักการห้ามร้องซ้ำ คงมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ
(1) คำร้องไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย (คือไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้พิจารณาได้ ตามเรื่องพิจารณาที่ 4/2568 วันที่ 12 มีนาคม 2568) และ
(2) คำร้องไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย (คำสั่งที่ 52/2563 วันที่ 29 กรกฎาคม 2563)
3) กรณีร้องขอให้ถอดถอนแพทองธารออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย และเป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะเป็นการวินิจฉัยคนละตำแหน่งกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว แพทองธารจะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยยกเรื่องร้องซ้ำต้องห้ามขึ้นต่อสู้ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน โดยน่าจะสั่งให้รวมพิจารณาไปเสียทีเดียว
วัส ติงสมิตร
นักวิชาการอิสระ
6/7/68
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี