อาจารย์กิรติ ศรีสุชาติ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สาขาวิชาดิจิทัลกราฟิก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีภารกิจสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่าย พัฒนาหลักสูตร และยกระดับทิศทางการเรียนการสอน สาขาดิจิทัลกราฟิกของสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง เพื่อผลิต "กำลังคนอาชีวะคุณภาพ" ที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาเชิงระบบ พร้อมตอบสนองความต้องการของตลาดดิจิทัล ผ่านการบูรณาการกระบวนการคิด (Design Thinking) และกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ (Design Process) เข้ากับการใช้เครื่องมืออย่างเชี่ยวชาญ
อาจารย์กิรติ ศรีสุชาติ กล่าวว่า การได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งกรรมการศูนย์ฯ ต่อเนื่อง 2 ปีนั้น เกิดจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพและภาคการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ เช่น การอบรมเสริมทักษะโดยการพาผู้เรียนไปดูงานจริงในกิจกรรมระดับประเทศอย่าง งานมหกรรม SUSTAINABILITY EXPO และการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน และผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนในทุกภูมิภาค
ในขณะที่ ปัจจุบันการเรียนการสอนดิจิทัลกราฟิกส่วนใหญ่ยังคงเน้นทักษะการใช้เครื่องมือและโปรแกรมเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการชุดนี้จึงมุ่งแก้ไขคือ การเสริมสร้างทักษะด้าน Design Thinking และ Design Process ตลอดจน Soft Skills ที่จำเป็นต่อการทำงานจริง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อาจารย์กิรติ ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงเป้าหมายของการพัฒนาทักษะในครั้งนี้คือ “การยกระดับศักยภาพ” ของผู้เรียนให้ “คิดเป็น ทำเป็น และร่วมแก้ปัญหาได้จริง” ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตผลงานตามโจทย์ แต่ต้องสามารถเข้าใจบริบทของงาน วิเคราะห์สถานการณ์ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางที่ตอบโจทย์องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุคที่การทำงานต้องอาศัยความเข้าใจทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ทักษะเฉพาะทาง
“ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับภาพของผู้เรียนอาชีวะในบทบาทเชิงปฏิบัติ แต่วันนี้เราต้องต่อยอดศักยภาพเหล่านั้นให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานได้อย่างเต็มที่”
เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการอบรมเชิงลึกในเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น งาน 3D งานโฆษณา และการประยุกต์ใช้ AI รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานและสัมผัสประสบการณ์จริงในภาคสนาม
แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะที่รอบด้าน แต่ยังสอดคล้องกับแนวคิด “Zero to Hero” ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ DPU ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนจากพื้นฐานสู่ความเชี่ยวชาญ โดยใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการและการลงมือทำจริงเป็นแกนกลางของการเรียนการสอน
อาจารย์กิรติ ยังสะท้อนถึงความท้าทายเรื่องความพร้อมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยชี้ว่า การพัฒนาทักษะเชิงกระบวนการคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรดิจิทัลกราฟิกของไทยในภาพรวม เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการและเครือข่ายอาชีวะทั่วประเทศถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างกำลังคนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI)
“จากการทำหน้าที่นี้ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง นี่คือโอกาสที่ดีในการได้พบเจอผู้ประกอบการใหม่ๆ ได้เรียนรู้ระบบการศึกษาที่หลากหลาย และเข้าใจถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งทำให้ศูนย์ฯ กลายเป็นพื้นที่กลางที่เชื่อมโยงทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” อาจารย์กิรติ กล่าว
ความมุ่งมั่นในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับคุณภาพของการศึกษาด้านดิจิทัลกราฟิก แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับผู้เรียนทั่วประเทศ พร้อมผลักดันให้วงการอาชีวะไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี