แค่เพียงประเดิมการเปิดประชุมสภาสามัญประจำปี 2568 ภายใต้การนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนจุดอ่อนสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง คือเสถียรภาพรัฐบาล“เสียงปริ่มน้ำ”ที่มีเสียงฝ่ายค้านและรัฐบาลเกินกันประมาณแค่ 20 เสียง ที่อาจเป็นกับดักความอยู่รอดทางการเมือง
โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงเตือนจาก แกนนำพรรคเพื่อไทย“วิสุทธิ์ ไชยณรุณ”ประธานวิปรัฐบาลที่ออกมาเตือนแรงถึงทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรีว่า“ถ้าอยากให้รัฐบาลไปต่อ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
จากกรณีเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พรรคพลังประชารัฐ ลุกเสนอขอนับองค์ประชุมจน‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน’รองประธานสภาฯชิงสั่งปิดประชุมกลางคัน หวั่นสภาล่มนั้น ปัญหานี้สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมเสียงในสภาได้อย่างมั่นคง แม้จะทราบล่วงหน้าว่าเป็นวันถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีใหม่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการ“รู้ก่อน”หรือ“คาดการณ์ได้”แต่เป็นเรื่องของความมีวินัยและความร่วมมือในพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะต้องพร้อมใจกันร่วมผนึกกันเพื่อ“รักษาเสียง”ในห้องประชุมสภาที่มีวาระสำคัญหรือไม่
สิ่งสำคัญ ประธานวิปรัฐบาล ย้ำอีกว่า“แม้แต่รัฐมนตรีซักคนก็ขาดไม่ได้” ยิ่งสะท้อนว่าพรรคเพื่อไทยเองตระหนักถึงความเปราะบางทางอำนาจในสภาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาสำคัญ คือ รัฐมนตรี ที่เป็น ส.ส.ไม่พร้อมเข้าร่วมประชุมสภา ในวันพุธ-พฤหัสฯซึ่งเป็นวันที่ต้องพิจารณากฎหมายหรือวาระเรื่องสำคัญ เพราะมักจะติดงานราชการ หรืองานส่วนตัว ต่อไปรัฐมนตรีจะต้องเอางานมาทำที่สภา
ฉะนั้น ไม่แปลกใจที่ สส.พรรคเพื่อไทย ออกเรียกร้องให้รัฐมนตรี ที่เป็นสส.บัญชีรายชื่อ ลาออกเพื่อเปิดทางให้เลื่อนคนถัดไปได้เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาแทน ถ้าไม่รีบดำเนินการโดยเร็ว ย่อมมีผลกระทบงานในสภาแน่ๆ
และล่าสุด ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังระบุด้วยว่า การให้สส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นรัฐมนตรีลาออก ไม่ออกต้องเป็นมติพรรค แต่เป็นสามัญสำนึกของแต่ละคน ก็แล้วแต่ตัดสินใจ
เบื้องต้น มี สุชาติ ตันเจริญ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับ น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รมช.ศึกษาธิการ ต่างยอมรับว่าตั้งใจจะลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเพื่อเปิดให้คนถัดไปเข้าทำหน้าที่แทน
จากนี้ไป ต้องจับตากันอย่างไม่กระพริบว่ารัฐบาลเพื่อไทย คุมเสียงในการประชุมสภาฯได้หรือไม่ ถ้ายังมีปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพงานนิติบัญญัติของรัฐบาล
ความเป็นจริงแล้ว รัฐบาล“เสียงปริ่มน้ำ”ไม่ใช่เรื่องใหม่ของรัฐบาลผสม แต่ความต่างในครั้งนี้คือ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำ หลังพรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากรัฐบาลแล้ว ไม่ได้มีพรรคร่วมที่พร้อมจะยกมือให้แบบอัตโนมัติ แม้จะมีเสียงจากพรรคกล้าธรรมเข้ามาเสริม แต่ไม่ได้มีความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น เพราะยังมีบางส่วนเป็น ส.ส. งูเห่า ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่มีความชัดเจน
จนถึงวันนี้ ไม่มีใครรู้ตัวเลขส.ส.รัฐบาล มีเสียงจริงๆอยู่เท่าไหร่ ถึงเชื่อว่ามีเสถียรภาพเดินหน้าบริหารประเทศได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวล ทั้งเสียงส.ส.มือในการยกมือ โหวตงานในสภาให้
ฉะนั้น แม้การที่ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เดินเกมการเมืองด้วยการขอนับองค์ประชุมขอเช็คเสียงในห้องประชุม แม้จะอ้างว่าเป็น“เรื่องไม่สำคัญ”ก็กลายเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปว่าพรรคร่วมฯไม่ได้ยึดมั่นกับรัฐบาลเต็มที่และพร้อมจะใช้เสียงในสภา เป็นอำนาจต่อรองทางการเมือง
แต่การเสนอนับองค์ประชุมครั้งนี้ สะท้อนการใช้กลไกของสภาฯพยายามทดสอบพลังเสียงในซีกพรรคร่วมรัฐบาลและส่งสัญญาณไปถึงพรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทย ระมัดระวังการควบคุมเสียงพรรคร่วมให้มากขึ้น ถ้าไม่มีเสถียรภาพเพียงพอแล้ว ย่อมจะไม่มีวันที่จะดำเนินงานในสภาไปอย่างราบรื่นแน่นอน
เท่าที่ดูแล้ว ปัญหาหลักก็คือ ความไม่พร้อมใจของรัฐมนตรี-ส.ส.รัฐบาล หากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล หากยังไม่จัดระบบให้รัฐมนตรีที่เป็นส.ส.เข้าประชุมได้พร้อมเพรียง ปัญหาสภาล่มจะเกิดขึ้นได้ง่าย รัฐบาลจะถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพคุมเสียงได้ และเรื่องดังกล่าวจะโทษ ส.ส.ซีกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้ ทุกอย่างล้วนเป็นกลไกฝ่ายค้านในการถ่วงดุลการตรวจสอบทำงานรัฐบาลตามระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น จับตาดูความเหนียวแน่นของเสียงรัฐบาล จะต้องวัดจากการ“ลงมติ”เรื่องสำคัญๆทั้งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือร่างพ.ร.บ.กฎหมายเกี่ยวกับการเงินต่างๆที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภา ซึ่งจะประมาทไม่ได้เด็ดขาด หากเพื่อไทยไม่สามารถบริหารความสัมพันธ์กับพรรคร่วมให้ดี
ในที่สุด‘เสียงปริ่มน้ำ’นี้ จะเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายค้านและพรรคร่วมใช้เล่นงานเขย่าในสภาได้ทุกวันประชุมสภา พุธ-พฤหัสบดี
เพราะทุกวันนี้ รัฐบาลนอกจากเจอปัญหาภายใน กระแสสังคม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องที่ล้มเหลวสิ้นเชิงซึ่งรัฐบาลยังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักกับปัญหารุมเร้ารอบด้านจากภายนอกโดยเฉพาะปัญหาภาษีทรัมป์ขึ้นภาษีไทย36 %และปัญหาชายไทยกับกัมพูชาที่ยังไม่มีทางจบลงได้อย่างง่ายๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นจากประชาชนจะลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลไปถึงการเลือกตั้งในอนาคตอย่างหนีไม่พ้น
อย่างไรเสีย รัฐบาลเพื่อไทยเสียงปริ่มน้ำก็ยัง“พอจะไปต่อได้”แต่ต้องบริหารจัดการเสียงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจัง เรื่องความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรี ที่เป็นส.ส.และต้องมีวินัยอย่างมาก หากปล่อยให้เจอปัญหาไม่ครบองค์ประชุม สภาล่มซ้ำซาก ไม่เพียงแต่จะถูกมองว่ารัฐบาลไร้เสถียรภาพ แต่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านและพรรคร่วมฯเล่นเกมกดดันได้ทุกช่วงเวลาในเกมสภา
สุดท้ายแล้ว สัญญาณเตือนสภาล่ม เสียงเตือนของ ประธานวิปรัฐบาล อย่าง นายวิสุทธิ์ ไม่ใช่แค่การเตือนในเรื่องความรับผิดชอบของ รมต.และส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลกับการเข้าทำหน้าที่ต่อการประชุมสภาเท่านั้น แต่คือ“สัญญาณเตือน รัฐบาลเพื่อไทย”ว่าถ้ายังไม่สามารถจัดการคุมเสียงในสภาได้...ต่อให้มีนโยบายดีแค่ไหนก็อาจไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จได้
จากนี้เป็นต้นไป โอกาสของ รัฐบาลแพทองธาร‘เสียงปริ่มน้ำ’ก็พร้อมจะมีปัญหากับเสียงในสภาได้ตลอดเวลา อยู่ในอาการร่อแร่ ไม่รู้จะไปรอดได้นานแค่ไหน หรือ สุดท้ายอาจจะสะดุดขาล้มลงเอง โดยที่ฝ่ายค้านไม่ต้องออกแรงยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ได้
ทีมข่าวแนวหน้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี