nn…พูดถึงการเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรก ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ทั่วโลกก็สนใจแพร่หลายเหมือนกัน งานนี้ อธิบดีกรมประมง “บัญชา สุขแก้ว” คอนเฟิร์ม จากสถิติการซื้อขายทั้งในและต่างประเทศของธนาคารโลกปี 2567 มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 10,000 ล้านบาท และไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับต้นๆของโลกมีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้านบาท!!!! ส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 11% ด้วยปัจจัยนอกจากสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะเลี้ยง ทำให้ได้ปลาสวยงามตามมาตรฐานแล้ว มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ต่อเนื่อง สัตว์น้ำสวยงามของไทย โดยเฉพาะปลากัด จึงได้รับความนิยมดังไปทั่วโลก....งานนี้ อธิบดีกรมประมงบอกว่า “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำส่งออกสำคัญของไทย ที่ได้รับยกย่องเป็นสัตว์น้ำเอกลักษณ์ประจำชาติ ยิ่งปัจจุบันปลากัดได้รับการพัฒนาการเพาะเลี้ยง ปรับปรุงพันธ์ุจากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจนเกิดรูปร่างลักษณะที่หลากหลาย รวมทั้งสีสันสวยงาม จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จนนำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์ โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกปลากัดประมาณ 400 ล้านบาท หรือประมาณ 40% ของการส่งออกสัตว์น้ำทั้งหมด
รองลงมาคือ ปลาทอง (7.3%) ปลาหางนกยูงและปลาสอด (6.4%) กุ้งสวยงาม (5.8%) กลุ่มปลาหมอสีและปลาออสการ์ (3.9%) และปลาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะปลาสวยงามพื้นเมืองของประเทศไทย เช่น ปลาก้างพระร่วง ปลาลูกผึ้ง ปลาซิวต่างๆ มีประเทศผู้นำเข้าสำคัญคือ สหรัฐ (20%) สหภาพยุโรป (13.2%) จีน (10%)
เมื่ออนาคตสัตว์น้ำสวยงามของไทยสดใสขนาดนี้ อธิบดีบัญชาไม่รอช้า วางแผนสนับสนุนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพัฒนาคุณภาพผลผลิตสัตว์น้ำ เพิ่มช่องทางตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มช่องทางแข่งขัน สร้างรายได้ โดยชูวิสัยทัศน์ “เป็นผู้นำการผลิตและการค้าสัตว์น้ำสวยงามที่มีมาตรฐานเพื่อการส่งออกและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำสวยงามของไทยเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
นอกจากนี้ กรมประมงยังหาแนวร่วมขับเคลื่อนขยายช่องทางการขนส่งสัตว์น้ำ โดยดึงพันธมิตรอย่างไปรษณีย์ไทย ช่วยผลักดันด้านการขนส่งสัตว์น้ำ ผ่านการทำบันทึกข้อตกลง การขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ไทย พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาเพิ่มชนิดสัตว์น้ำ ที่สามารถขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมจากเดิมมี 7 ชนิด ได้แก่ ปลากัด ปลาสอด ปลาหางนกยูง กบ ปลาไหล กลุ่มหอยฝาเดียวและไข่หอย กลุ่มพรรณไม้น้ำ เพิ่มอีก 3 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายพวงองุ่นสาหร่ายผักกาดทะเล และเห็ดทะเล ความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตดังกล่าวเพิ่มเติมผ่านระบบไปรษณีย์ไทย เรียกว่า กรมประมงยุคใหม่ มุ่งพัฒนามาตรฐาน รวมถึงการขนส่งให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ และทั่วโลก ต้องปรบมือให้รัวๆเลยจ้า...nn
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี