‘หมอวรงค์’ผ่าพิรุธ
เทวดาชน14รอดยาก
“หมอวรงค์” กางบทสรุปรายงานแพทยสภา ทุบเปรี้ยง นักโทษเทวดาชั้น 14 รอดยาก ขณะที่อดีตผู้พิพากษาชี้ชัด! “ทักษิณ” ต้องติดคุกจริง 6 เดือน ถึงเข้าเกณฑ์พักโทษ
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก “วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong Dechgitvigrom” ระบุว่า.. นักโทษชั้น 14 น่าจะรอดยาก ข้อมูลทางการแพทย์ที่ประชาชนควรรู้ ผมได้มีโอกาสอ่าน เอกสารของแพทยสภา ที่สื่อสำนักหนึ่ง นำมาลงรายละเอียด เกี่ยวกับการลงโทษจริยธรรมแพทย์ ด้วยสามัญสำนึก แทบจะพูดได้เต็มปากว่า นักโทษชั้น14 ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องอยู่ รพ.ตำรวจต่อเนื่องถึง 6 เดือน เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อเอกสารแพทยสภา แบบง่ายๆ ผมขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจ
1.แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ตอนกลางวัน แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ได้ตรวจร่างกายและเขียนหนังสือส่งตัวให้นักโทษ เนื่องจากมีประวัติจากต่างประเทศ มีโรคหลายโรค และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ตั้งใจให้ไปตรวจในเวลาราชการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก
2.ช่วงเวลากลางคืน เวลา 21.00-22.00น. พยาบาลได้โทรไปปรึกษา แพทย์ผู้ตรวจร่างกายตอนกลางวันว่า นักโทษมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ออกซิเจนในเลือดต่ำลง สังเกตอาการแย่ลง อ้างว่าได้ปรึกษาแพทย์เวร แนะนำให้ส่งนักโทษไปรพ.ตำรวจ
จากรายงานที่ได้รับ แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย สงสัยนักโทษจะเป็นโรคทางด้านเส้นเลือดหัวใจ จึงแนะนำว่าไม่ควรสังเกตอาการในสถานพยาบาลของเรือนจำ ควรส่งต่อไปที่สถานพยาบาลที่เหมาะสม พยาบาลได้ขอใช้หนังสือส่งตัวที่เขียนตอนกลางวัน (ข้อมูลข้อนี้มีความขัดแย้งในข้อมูลที่สื่อรายงานการไต่สวน)
โดยทั่วไปไม่ควรใช้ใบส่งตัวใบเดียวกัน เนื่องจาก การเขียนใบส่งตัวที่เขียนตอนกลางวัน จะเป็นโรคเรื้อรังเก่าที่มีประวัติจากต่างประเทศ ส่วนอาการตอนกลางคืน เป็นอาการวิกฤติที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น ซึ่งอาการจะไม่เหมือนกัน
3.ช่วงวันที่ 23 สิงหาคม พลตำรวจโท นายแพทย์โสภณรัชต์ สิงหจารุ ได้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยพูดถึงปัญหาโรคความดันที่อ้างตัวเลข ตัวบนยัง 170 ตัวล่างยัง 115-120 โดยกลัวว่าพวกความดันสูงมากๆ เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง และอ้างว่าทางอาจารย์หมอราชทัณฑ์ก็กลัวเรื่องนี้
แต่จากข้อมูลที่แพทยสภาตรวจพบว่า วันที่ 23 สิงหาคม เวรเช้ามีความดันโลหิตที่ 150/100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งแสดงว่าแพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้รักษาผู้ป่วยจนอาการทุเลา
วันที่25 สิงหาคม 2566 แพทย์ท่านนี้ได้มีการให้สัมภาษณ์ ว่ามีการตรวจ echoหัวใจ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตรวจปอดและหัวใจยังพบว่าอาการน่าเป็นห่วง
แต่ข้อมูลที่ปรากฏในสำเนาเวชระเบียนกลับพบว่า ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไม่ได้มีการบันทึกว่า การทำงานของปอดและหัวใจอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงหรือผิดปกติไปจากเดิม และพยาบาลที่บันทึกติดตามอาการของผู้ป่วยตลอดมาจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก็ไม่พบว่ามีสัญญาณชีพ หรืออาการที่น่าเป็นห่วง
จะสังเกตพบว่าช่วงเช้าวันที่ 23 ส.ค.2566 ความดันโลหิตของนักโทษทุเวลาขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ นักโทษรายนี้ถูกส่งมาจากราชทัณฑ์ด้วยเกรงปัญหาโรคหัวใจขาดเลือด แต่เมื่อรักษาจริงตามเอกสารนี้มีแต่ปัญหาโรคความดัน
ข้อมูลจากรายงานนี้ มีการอ้างความเป็นห่วงของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็ไม่สอดคล้อง เพราะการส่งตัวจากราชทัณฑ์ ไม่ได้พบแพทย์ มีแต่พยาบาลเวร
4.ในวันที่ 15 กันยายน 2566 ได้มีการออกใบรับรองแพทย์ (ช่วงครบ 30 วันตามกฎกระทรวง) โดยพลตำรวจโทนายแพทย์ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ซึ่งเป็นแพทย์ศัลยกรรมประสาท เขียนว่า “การรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะต้องรักษาแผลที่ผ่าตัด ตรวจและวางแผนผ่าตัดโรคที่รายงาน จึงจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล”
จากรายงานพบว่ามีการผ่าตัดนิ้วล็อค และแพทย์ที่ผ่าตัดได้ให้ถ้อยคำกับแพทยสภาว่า “การอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วย ไม่ใช่ปัญหาของด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ” และรายงานทางเวชระเบียบของแพทย์ผู้ผ่าตัด ก็ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ รวมทั้งความเห็นของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย(แพทย์กระดูกและข้อ) ว่า โดยปกติการผ่าตัดนิ้วล็อค ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และไม่ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน
5.ส่วนกลุ่มอาการและโรคทางด้านอายุรศาสตร์ (โรคหัวใจ ความดัน ปอด) แพทย์ที่ทำการรักษาได้ให้ถ้อยคำว่า “เป็นโรคเรื้อรัง ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล” แสดงว่า โรคที่ถูกส่งตัวมา ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ประกอบกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า “ จากข้อมูลที่ได้รับ โรค อาการ และอาการแสดงทางอายุรศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตที่คุกคามต่อชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤต ณ ขณะนั้น”
6.ปัญหาทางกระดูกสันหลัง แพทย์ที่รักษา ได้ให้ถ้อยคำว่า ปัญหาทางด้านกระดูกสันหลังมิใช่ภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นอาการทางด้านกระดูกสันหลัง จึงไม่มีเหตุที่ต้องถูกรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล โดยสรุปแล้วการออกใบรับรองแพทย์ ในวันที่ 15 กันยายน 2566 จึงไม่มีกลุ่มอาการหรือโรคที่ต้องพักรักษาตัวต่อเนื่องในโรงพยาบาล เพราะสามารถรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอกได้
7.ได้มีการออกใบรับรองแพทย์ (ช่วงครบ 60 วันตามกฏกระทรวง) โดยพลตำรวจโทนายแพทย์ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ระบุ”ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะมีอาการปวดรุนแรง มือและแขนอ่อนแรง” ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย แจงว่า ไม่มีอาการปวดไหล่ขวามาก่อน ต่อมาได้มีการวินิจฉัยว่าเป็นไหล่ขวาฉีก ทางออร์โธปิดิกส์จัดว่า หากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน
8.โดยสรุปการออกใบรับรองแพทย์ทั้ง 2 ใบ ของนายแพทย์ท่านนี้ ซึ่งเป็นประสาทศัลแพทย์ ซึ่งไม่ใช่ผู้มีความชำนาญทางด้านกระดูกและข้อ จึงไม่ควรลงความเห็นแทนแพทย์กระดูกและข้อ ควรให้แพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้ลงความเห็น
9.รายงานของแพทยสภา ไม่ได้พูดถึง การออกใบรับรองแพทย์ตามกฏกระทรวง ช่วง120วัน ว่าใครเป็นผู้ออก และออกด้วยเหตุผลอะไร
“นี่คือบทสรุปของรายงานแพทยสภา ที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่นักโทษชั้น14 รายนี้ ต้องนอนต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจ อ่านจากรายงานก็พบว่า อาการทุเลาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2566 (นักโทษมาถึงรพ.ตำรวจ 23ส.ค.2566) ดังนั้นการที่จะมีแพทย์ มาให้ปากคำต่อศาล ถ้าแพทย์ท่านใด ให้ปากคำขัดแย้งต่อรายงานแพทยสภานี้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่ขัดแย้ง ท้ายที่สุดทุกอย่างจะชัดเจนเมื่อศาลท่านมีคำพิพากษา”นพ.วรงค์ ย้ำ
วันเดียวกัน นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)โพสต์เฟซบุ๊กว่า ทักษิณจะได้ประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษปี 2567ก็ต่อเมื่อมีการจำคุก 6 เดือนจริง อันเป็นเหตุให้ได้พักการลงโทษ และคุมประพฤติ
1)หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า มีการจำคุก ทักษิณ ชินวัตร ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าทั้งหมดคือ 1 ปี หรือบางส่วน เช่น ขาดอีก 350 วัน กรมราชทัณฑ์อ้างไม่ได้ว่า ทักษิณถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1 วัน และที่โรงพยาบาลตำรวจอีก 179 วัน รวมเป็น 180 วัน เข้าเกณฑ์ข้อแรกที่จะพักการลงโทษได้ 2) การพักการลงโทษจำคุกอีก 6 เดือน และคุมความประพฤติไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3) พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กำหนดให้ผู้ต้องโทษซึ่งได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (มาตรา 6) เมื่อการพักการลงโทษและคุมประพฤติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทักษิณจึงไม่ได้ประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
4) อีกทั้งทักษิณก็ไม่สามารถขอรับ “หนังสือสำคัญการปล่อยตัว” (ร.ท.25) ที่เรียกกันว่า “ใบบริสุทธิ์” หรือ “ใบสุทธิ” จากกรมราชทัณฑ์ได้ เอกสารฉบับนี้ เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ผู้ถือเอกสารได้รับการปล่อยตัวถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังใช้ในการปลดรายชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรที่มีผลต่อการเดินทางไปต่างประเทศด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี