‘ศาลรัฐธรรมนูญ’พบสื่อหาจุดสมดุลการสื่อสาร ยึดกฎหมาย-จริยธรรม ด้านวงเสวนา‘นักวิชา การ-สื่อ’ชี้หากแก้ไขที่มาให้เลือกตั้งหวั่นซ้ำรอยต่างประเทศ ระบบยุติธรรมถูกปู้ยี่ปู้ยำ เหตุ‘ตุลาการ’วิ่งเข้าหานักการเมือง-ฐานเสียง ซัดนักการเมืองมองรัฐธรรมนูญเป็น‘ต้นไม้พิษ’ แต่เลือกกินผลที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เหน็บสร้างปัญหาล้ำเส้นกฎหมาย กลับอ้างเจอ‘ลูกอีช่างฟ้อง-นิติสงคราม’
14 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานในการเปิดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2568 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่สำคัญต่างๆของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีคณะตุลา การ ผู้บริหารสำนักงาน สื่อมวลชนและสถาบันการศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก
นายนครินทร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กิจกรรมศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อได้มีการปรับรูปแบบไปเรื่อยๆ ซึ่งศาลก็เข้าใจการทำงานของสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนก็อยากได้อะไรที่เราพูดได้ บางอย่างก็ไม่ควรจะพูด ตนก็ได้รับคำเตือนทั้งสองอย่างว่าควรจะพูดให้มากและควรจะพูดให้น้อย แต่น้ำหนักจะอยู่ที่การให้พูดให้น้อย ซึ่งบางคนก็บอกให้พูดมาก เพราะยังมีสื่อที่ไม่เข้าใจศาล และบางอย่างพูดให้น้อยเพราะถือว่าเกินเลยไปแล้ว ไม่ใช่บทบาทของศาล อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนกับศาลต้องอยู่ด้วยกัน แต่รูปแบบที่พอดีและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งตนก็ทราบว่าสื่อมวลชนต้องการข่าวอะไรที่เป็นพิเศษและล่วงหน้าเสมอ แต่เรื่องบทบาทหน้าที่ต้องเข้าใจและให้เกียรติศาล ศาลเองก็เข้าใจสื่อ แต่วิธีการสื่อของศาล เราก็ต้องพูดในกรอบกฎหมาย กรอบจริยธรรมของศาล มารยาท กติกาบางอย่าง ซึ่งเราก็ต้องพูดอะไรแต่พอดี เพราะฉะนั้นต้องหาจุดสมดุล
ต่อจากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ "การสร้างระบบถ่วงดุลและบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต" โดย ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่ามีสิทธิ์อะไรที่คนแค่ 9 คน มาตัดสินอนาคต หรือคนที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนโดยตรง แต่ปัญหาการสื่อสาร รับข้อความบ้านเรา ชอบมองที่ปลายน้ำไม่มองต้นน้ำว่าที่ถูกร้องเรียนนั้นเพราะอะไร แล้วเอาปลายน้ำมาตั้งคำถาม และถามการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการประชาธิปไตยจ๋าแบบเม็กซิโก ซึ่งประชาชนเลือกตั้งศาลทุกระดับ พบว่าประชาชนใช้สิทธิ์แค่ 13% หรือแค่ล้านกว่าคนจากจำนวนคนของทั้งประเทศ ทำให้มีการวิจารณ์ระบบยุติธรรมของชาติตามมา ฝ่ายการเมืองก็คิดวางอำนาจของตน กลายเป็นว่าศาลต้องวิ่งหานักการเมือง วิ่งหาฐานเสียง ทำให้คนมองว่ากระบวนการยุติธรรมถูกปู้ยี่ปู้ยำ แต่ฝ่ายการ เมืองบอกว่านี่คือประชาธิปไตย ดังนั้นหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในไทย คิดว่าคนค่อนประเทศหรือส่วนใหญ่จะสวดชยันโต ย้อนไปร้อยกว่าปี อำนาจศาล พระเดชพระคุณอยู่ที่คนคนเดียว แล้วจะเอาอย่างนั้นหรือ
“ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.นี้ มีการน้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามของสื่อ นักวิชา การ นักวิเคราะห์ ซึ่งนี่คือโลกของประชาธิปไตยที่ยอมรับการแสดงความเห็นหลายด้าน ผมไม่ได้มาชม แต่เห็นว่าพัฒนาการของศาลดีขึ้นตามลำดับ” นายวันวิชิต กล่าว
ส่วนกรณีให้มีศาลจริยธรรมตรวจสอบดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญอีกเหมือนบางประเทศจะกลายเป็นการฟอกหรือดึงเช็ง และเป็นประเด็นถกเถียงกันอีก ทั้งนี้ผลการตัดสินย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการเปิดเผยมติและความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นความโปร่งใสแล้ว อย่างมติ 7 ต่อ 2 เสียง ที่ให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่กับไม่หยุดนั้น ยังมีคนระดับนายพลมาถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ นี่แสดงว่าเขาไม่อ่านเนื้อหาข้างใน ซึ่งบรรยายเหตุผลไว้อยู่แล้วว่า เพราะอะไร นอกจากนี้ เห็นด้วยว่าควรมีโฆษกศาลฯเพื่อตอบคำถามมากกว่าแค่อ่านแถลง การณ์ เพื่อลดความฟุ้งซ่านของสังคมและทันต่อสถานการณ์
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า คนมองศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาลการเมือง ต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันศาลรัฐธรรมตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการตัดสินจริยธรรมนักการเมืองที่เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองมีหลายฝ่าย แต่ประเด็นการสื่อสารของสื่อที่มีหลายช่องทางและใช้ความเร็วในการชิงพื้นที่จึงต้องมีคำอธิบายออกมาเร็ว ทำให้สื่อสาร สั้นๆ เช่น มติ 7:2 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามีเอกสารเผยแพร่ออกมาเร็ว แต่ใช้ภาษาอ่านยาก จึงต้องพัฒนาโดยสรุปย่อคำวินิจฉัย คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่อ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษากฎหมาย ภาษาศาล ส่วนกรณีที่มีการบิดถ้อยคำ หรือมีนักแบกต่างๆ นั้นเห็นว่าควรมีโฆษกศาลที่สามารถอธิบายคำวินิจฉัยข้อสงสัยและให้ความเห็นได้
นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า การได้มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาและผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภาเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามและมีการยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เช่น มีแก้ไขว่า"ให้เป็นความเห็นร่วมระหว่างรัฐสภาและวุฒิสภา" ซึ่งต้องจับตาว่าจะผ่านหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้กรณีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด คนที่ได้รับการสรรหาแทบได้เสียงเอกฉันท์จากกรรม การสรรหา แต่เมื่อเสนอเข้าวุฒิ สภากลับไม่ผ่าน ให้กลับมาสรรหาใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบแรก แต่รอบนี้กลับได้เข้าสู่รอบสุดท้ายแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เราทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นไปตามกติกา เมื่อเขียนที่มาให้เป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่สื่อมวลชนและนักวิชาการต้องทำคือการจับตาและร่วมการกันตรวจสอบ
นายมนตรี กล่าวต่อถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายต่างๆ ขณะนี้ว่าตนคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนาทีนี้คงลำบาก แต่ตนเห็นว่าที่ผ่านมามักเอารัฐธรรมนูญมาเป็นปัญหา บอกว่าเป็นต้นไม้พิษ แต่จริงๆคนกลับเลือกกินบางผลที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่นเดียวกับเรื่องรัฐประหารที่เลือกบางอย่างมาใช้ แล้ววันนี้ก็มามองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ ตาม ตนคิดว่าการแก้ไขเพื่อเป็นหลักประกันทุกฝ่าย ปัญหาหนึ่งที่ผ่านมา ที่เราไม่เคยแก้เลยคือนักการเมือง หรือคนไม่เคยมองว่าตนเองเป็นปัญหาและไม่เคยแก้ไข ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทบทวนคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเดิมที่ผ่านมาไม่มีภาระหน้าที่มากนัก แต่วันนี้ทุกอย่างมาที่ศาลรัฐธรรมนูญหมด พอเรื่องที่ไม่เป็นคุณ ก็มองว่าคน 9 คน ตัดสินไม่ถูกต้อง หรือบางครั้งคนพูดเรื่องนี้แล้วเห็นว่าเรื่องไหนที่รอก่อน ก็มาถามศาล เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งย้ำว่าถ้าจะแก้จริงๆไม่ต้องนับหนึ่งตั้งกรรมการคณะแรกด้วยซ้ำ แถมยังแวะกลางทางเรื่อยๆ สุดท้ายต้องมาถามศาล
ดังนั้น ต้องทบทวนการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ และทบทวนบท บาทหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะเอาทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบหรือไม่ อย่างที่นักการเมืองบอกว่าเรื่องจริยธรรมให้องค์กรดูได้หรือไม่ ศาลจะได้ไม่พลอยเป็นจำเลย คำว่า"นิติสงคราม" จะได้ไม่ถูกนำมาพูดถึง ทั้งที่ศาลท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้คนทั้งหลายที่ทำอย่างตรงไปตรงมา
“คำว่า นิติสงครามจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดว่าไม่มีคนไปท้าทาย ฉวัดเฉวียนโฉบอยู่เรื่อย เส้นทุกเส้นมันเลยไปหมดแล้ว แม้กระทั่งที่เป็นข่าวอยู่วันสองวัน ถ้ามีคนไปร้องก็หาว่ากลายเป็นลูกอีช่างฟ้อง แต่ถ้าไม่ทำ เขาจะไปฟ้องมั้ย ก็เพราะว่าไปโฉบๆ เฉี่ยวๆ จนกระทั่งเป็นปัญหา แต่พอไม่พอใจก็บอกว่านี่เป็นนิติสงคราม” นายมนตรี กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี