“อรรถกร” เปิดตัว “สวนยางอารยเกษตร”พัทลุงโมเดล ดึงนวัตกรรมแก๊สเอทธิลีน ร่วมกับติดระบบน้ำในสวนยางพารา เพิ่มความชุ่มชื้นและผลผลิตยาง วันที่ 19 กรกฎาคม 2568 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการใช้แก๊สเอทธิลีนร่วมกับการติดตั้งระบบน้ำในสวนยางพารา “สวนยางอารยเกษตร” พัทลุงโมเดล พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี เกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมงาน พร้อมเยี่ยมชมแปลงต้นแบบของนายประทีป นวลศรี ณ พื้นที่สวนยางอารยเกษตร อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง
นายอรรถกร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางผ่านการจัดการพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยแนวทางการทำสวนยางแบบ “อารยเกษตร”นั้น เป็นรูปแบบการจัดการสวนยางแนวใหม่ที่ผสานองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ นำมาซึ่งการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่สวนยางอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการฯนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการระหว่าง กยท. และกรมชลประทาน ซึ่งสะท้อนเป้าหมายในการมุ่งมั่นยกระดับการทำเกษตรกรรมโดยปรับใช้แนวคิดการจัดการสวนยางที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรชาวสวนยางใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างความมั่นคงในครัวเรือน โดยผสานองค์ความรู้ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อให้สวนยางกลายเป็นแหล่งผลิตที่ให้ทั้งรายได้ อาหารและความยั่งยืนในระยะยาว
“เป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชาวสวนยางมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้น สวนยางอารยเกษตรจึงไม่ใช่แค่แนวทางในการผลิตยาง แต่คือแนวคิดเชิงระบบที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทําสวนยางในประเทศไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต” รมว.อรรถกร กล่าวย้ำ
สำหรับโครงการส่งเสริมการใช้แก๊สเอทิลีนร่วมกับการติดตั้งระบบน้ำในสวนยางพารา “สวนยางอารยเกษตร” พัทลุงโมเดล กยท. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทานปากพนังบน ในการวางระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยใส เข้าสู่พื้นที่สวนยางอารยเกษตรของเกษตรกร (ในระยะแรก) จำนวน 13 ราย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 80.80 ไร่ โดยระบบน้ำดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายกิจกรรม ทั้งการให้น้ำแก่ต้นยางโดยตรง การให้น้ำแก่พืชแซมยาง และการทำประมงในสวนยาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสวนอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ กยท. ยังสนับสนุนการนำนวัตกรรมแก๊สเอทิลีนมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตยางพารา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้น้ำยางไหลได้นานขึ้น และส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้เพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการพัฒนาอาชีพสวนยางอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี