หลักสูตรภาพยนตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เสริมทัพปฏิบัติการฉายหนัง เชื่อมสังคมและธุรกิจผ่าน “บริษัทจำลอง” ยกสถานการณ์ปัจจุบันอัปเดต Soft Skills นักศึกษาหลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ผลิตงานและสร้างชีวิตในอนาคตให้เปี่ยมความสร้างสรรค์ นำความรู้สู่สังคมอย่างมีคุณค่าและสร้างมูลค่าทางธุรกิจ
ท่ามกลางตลาดธุรกิจสื่อและความบันเทิงทั่วโลกที่จะขยายตัวสูงถึง 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2026 “ภาพยนตร์” หรือ หนัง ก้าวเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน ไม่ใช่แค่ฉายในโรงภาพยนตร์อีกต่อไป หากแต่หนังสั้น หนังยาว คลิปสั้น คลิปสารคดี ก็ออกนำเสนอได้ในทุกแพลตฟอร์ม อีกทั้งในยุค Soft Power เบ่งบาน หนังยังถูกเอาไปใช้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์คนในชาติหรือใช้เพื่อการสื่อสารทางการตลาดกับนักท่องเที่ยวข้ามชาติได้อีก หรือจะใช้ในการสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศก็ยังได้
ในฐานะสถาบันการศึกษาที่สร้างฝันของเยาวชนให้เกิดขึ้นจริง “คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” จึงพัฒนาทุกสาขาวิชาภายใต้คอนเซ็ปต์ “Beyond Content Creators” คือ เราเป็นมากกว่านักสร้างคอนเทนต์ เราเน้นธุรกิจแห่งอนาคต สามารถประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ “ปั้นนักศึกษา” ตั้งแต่ชั้นปีที่1 ให้ค้นพบทางตัวเองและสร้างธุรกิจหรือทำงานควบคู่ไปด้วยระหว่างการเรียน
“อาจารย์ต้องเป็นโค้ชแทนบทบาทครูแบบที่สั่งให้ท่องจำ และเราควรต้องเลิกพูดคำว่าการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ความพิเศษของภาคการศึกษาใหม่ที่ทุกคนจะได้รับคือ การปฏิบัติแบบ 'เลียนรู้' ใช้ ล.ลิง แทน ร.เรือ เราจะเพิ่มทักษะผ่านกิจกรรมต่างๆ ในทุกเดือน เพื่อสร้างประสบการณ์ สร้างมุมมองที่หลากหลาย เพราะการจะสร้างสิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่าเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน และวันนี้จริงๆ ไม่ปล่อยให้ปิดเทอมเป็นช่วงหยุดการพัฒนาตัวเอง เราจะช่วยให้นักศึกษาสามารถสร้างรายได้ สร้างผลงาน สร้างธุรกิจ” ผศ.ดร.มาโนช ชุ่มเมืองปัก หัวหน้าหลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึง เส้นทางเดินในปีการศึกษาใหม่ 2566 ที่จะเปิดม่านในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้
เราสร้างคนรุ่นใหม่เพื่ออนาคต
หน้าต่างบานแรกที่จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เกิดภาพยนตร์สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ได้คือ ต้องเริ่มจากการปลูกฝัง “Empathy Skill” ให้เกิดขึ้นในใจนักศึกษา เนื่องจากคุณสมบัตินี้สำคัญสำหรับการมองโลกอย่างพินิจพิเคราะห์ เข้าใจผู้คน หามุมมองใหม่ในการตีความ รู้จักการสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน อันจะทำให้ก่อเกิดความสุขในใจตัวเองเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น สามารถที่จะรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้ในแบบที่เขาเป็นก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยสิ่งเหล่านี้ได้จำเป็นที่ต้อง "การเรียนรู้” ควบคู่กับ “การลงมือปฏิบัติ” ผ่านบริบทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจโลกที่ถ่องแท้
“ยุคสมัยแรกเราเรียนกันในห้องและทำงานส่งอาจารย์ แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อผ่านช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทางหลักสูตรคิดว่าประสบการณ์นักศึกษาที่จะได้รับควรจะต้องมากขึ้นกว่าเดิม ทดแทนช่วงโควิด ทางคณะฯ จึงเน้นสร้างกิจกรรมมากมายให้นักศึกษา โดยแฝงการมองแง่มุมต่างๆ ในสังคมยุคใหม่ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องSDGs เรื่องความเท่าเทียม LGBTQ เรื่องการบูลลี่ เรื่องหลีกเลี่ยงการทำหนังที่ดูถูกวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน หรืออย่างล่าสุดที่มีการเปิดประเด็นกันเรื่อง “ความลี้ลับกดทับพัฒนาการของดนตรีไทย” ซึ่งหนังที่เกี่ยวข้องดนตรีไทยก็มักมีความเคยชินว่าต้องฉายภาพของวิญญาณครู ภูตผีปีศาจ ที่หากย้อนเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะไม่มีกระแสดราม่าแบบนี้
“วันนี้ความต่างคือ ทุกคนพร้อมที่จะตั้งคำถามและตรวจสอบ ฉะนั้นนักศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ความอ่อนไหวอย่างเข้าใจ เพื่อป้องกันความผิดพลาดเมื่อเข้าสู่โลกทำงานในอนาคตการทำงาน 5-10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าเขาจะต้องเจอแน่ๆ ดังนั้นเราต้องช่วยกันทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมบันเทิงมีความเข้าใจในการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์มีคุณค่าต่อสังคม เราก็ต้องเติมให้เด็ก เตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด”
เราพากันก้าวออกจาก “Comfort Zone” เพื่อเข้าใจสังคม
ดร.มาโนช ระบุต่อไปว่า นอกเหนือไปจากพื้นฐานการเรียนที่เน้นความเข้าใจในสังคมแล้ว กิจกรรมที่สอดแทรกระหว่างการเรียนจะช่วยให้นักศึกษาค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น หลายๆ กิจกรรมของเราทำให้นักศึกษาสาขาภาพยนตร์ฯ ได้พบแนวของตัวเอง เช่น การจัดงานแสดงภาพยนตร์ผลงานนักศึกษา การผลิตสื่อในประเด็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หรืออย่างเดือนหน้านี้ในวันที่ 7-13 สิงหาคม 2566 เราจะไปผลิตหนังสั้นเรียนรู้วัฒนธรรมที่ประเทศลาวโดยร่วมกับ ม.ขอนแก่น เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ทำหนังข้ามวัฒนธรรม เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน
“เส้นแบ่งพรมแดนอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบบเดิมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โรงหนังค่อยๆ จางหายไป โลกบันเทิงเชื่อมซึ่งกันและกัน โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกระแสหลัก หรือเป็นโรงหนังออนไลน์ของทุกคน เราก็ต้องการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เริ่มตั้งแต่วันนี้อย่างที่บอกแม้จะปิดเทอม แต่ระยะเวลาตลอด 1 สัปดาห์ที่จะไปประเทศลาวนักศึกษาจะได้เรียนรู้การสร้างความเข้าใจ รู้จักความเหมือนและความแตกต่าง รู้จักยอมรับความหลากหลาย การสัมผัสอะไรใหม่ๆ จะเปิดมุมมองให้เห็นอะไรใหม่ๆ และอาจจะเป็นธุรกิจใหม่ อาจจะเกิดการร่วมทุนทำหนังกับต่างประเทศ หรือหนังของเราอาจจะเป็นทูตทางวัฒนธรรม เป็น Soft power ที่กำลังนิยมได้
“เราต้องพาเด็กออกจาก Comfort Zone ให้ได้สัมผัสอะไรใหม่ๆ เน้นไปในที่ใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ และเน้นการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิด Mindset ว่าหลักสูตรภาพยนตร์ไม่เพียงเป็นแค่ผู้สร้างความบันเทิง ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้เลี้ยงชีพ แต่อาชีพนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้สังคมได้จริง ทำให้เขาค้นพบตัวเอง เด็กมีความภูมิใจ กล้าสร้างสรรค์สิ่งที่ดี”
“บริษัทจำลอง” อีกหนึ่งเครื่องมือใหม่ที่เปิดโอกาสธุรกิจใหม่ให้นักศึกษา
เส้นเรื่องในการเติมศักยภาพนักศึกษาเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ในลำดับขั้นต่อมา คือ “บริษัทจำลอง” โดยทางคณะนิเทศศาสตร์ DPU จะรับงานว่าจ้างจากองค์กรต่างๆ ภายนอก เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติและสร้างรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาตนเองและฝึกฝนทักษะ
“เหมือนนักศึกษาคือพนักงานคนหนึ่งและทุกคนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท นักศึกษาจะได้รับบรีฟงานที่เป็นโจทย์จริงจากผู้ประกอบการโดยตรง ได้ทดลองรับงาน ฝึกการเจรจา ประเมินต้นทุน ออกไปถ่ายทำได้ฝึกแก้ปัญหา ได้รับเงินจริง กำไรจริงและขาดทุนจริงถ้าทำไม่ดี โดยจะทำการแบ่งกลุ่ม แบ่งหน้าที่กัน สาขาภาพยนตร์ฯ เป็นสาขาที่มีงานเข้ามาตลอด หลายองค์กรอยากทำหนังสั้นหรือสื่อประชาสัมพันธ์ไปปล่อยในสื่อขององค์กรเอง นักศึกษาพอได้รับงานมาก็รวมทีม เช่น 4-5 คน คัดเลือกทีมตัวเองตามความเหมาะสม ตามเนื้องานที่ได้รับการจ้าง ซึ่งใน 3-4 เดือนที่ผ่านมาโครงการนี้ได้รับลูกค้าไปแล้ว อย่างบริษัท โตโยต้าเมืองนนท์จำกัด ผลออกมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนมากขึ้น ทำให้รู้ว่าเรียนเรื่องนี้แล้วสามารถเอาไปใช้งานตรงนี้ๆ เขาก็ยิ่งเรียนด้วยความเข้าใจมากขึ้น”
และด้วยรูปแบบของ “บริษัทจำลอง” ไม่เพียงเกิดประโยชน์ทันทีหลังส่งงาน แต่ยังเกิดชื่อเสียง เกิดแบรนด์ของสาขาภาพยนตร์ฯ คนบอกต่อ แชร์ต่อ เกิดเป็นเครือข่ายคนทำหนังที่ทำธุรกิจเป็น เพื่อเข้ามาทำให้วงการภาพยนตร์ไทยเติบโตมากขึ้น
“ไปด้วยกัน ไปได้ไกล เหมือนกับทุกงานทุกวงการ หลักของมนุษย์เราคือถ้าเราสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นได้ก็จะเกิดแรงขับให้ทีมและคนอื่นไปด้วยกันด้วย พอไปด้วยกันต่างก็จะช่วยกันดึงศักยภาพออกมาทำงานด้วยกันอย่างเต็มที่ และงานก็จะยิ่งก้าวพัฒนาไปตามเป้าหมายที่วาดไว้ โดยเราจะเปิดตัวบริษัทจำลองในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ฉลองรับเปิดเทอมใหม่ เป็นปีแห่งการสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ สร้าง Entrepreneur สร้าง DNA ของมหาวิทยาลัย ธุรกิจบันเทิงมีความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เดิมนักศึกษาอาจจะคิดว่าการมาเรียนถ่ายภาพยนตร์เป็นแค่คนติสๆ อาร์ทๆ ไม่จำเป็นต้องรู้หรือเรียนทำธุรกิจ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป
“ยุคนี้นักศึกษาเข้าถึงอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้นและถ้าเด็กมีความรู้เรื่องธุรกิจด้วย ก็ยิ่งดึงความสำเร็จมาใกล้เขามากยิ่งขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจเด็กที่จบออกไปของเรา หลายคนเปิดProduction House ของตัวเอง สามารถทำหนังให้จบด้วยงบของตัวเอง แม้ว่าตอนเรียนแรกๆ จะรู้สึกว่าเป็นยาขมสำหรับเขาก็ตาม แต่เราจะได้ยินหลายคนบอกหลังเรียนจบว่าเรื่องธุรกิจนี้สำคัญมาก สมชื่อมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่บ่มเพาะเรื่องนี้เอาไว้” ดร.มาโนช กล่าวทิ้งท้ายความพิเศษของสาขานี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี