ขณะที่ลิ้นจี่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นถึง 161%
นางธัญธิตา บุญญมณีกุลรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลพยากรณ์ภาพรวมการผลิตไม้ผล 6 ชนิด ปี2568 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่
โดยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมีนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ได้พิจารณาและเห็นชอบข้อมูลไม้ผลทั้ง 6 ชนิด โดยมีรายละเอียดภาพรวมทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568) ดังนี้
ทุเรียน ปี 2568เนื้อที่ให้ผล1,265,701 ไร่เพิ่มขึ้นจาก 1,138,475 ไร่ (เพิ่มขึ้น127,226 ไร่ หรือร้อยละ 11.18)ผลผลิต1,682,484 ตันเพิ่มขึ้นจาก 1,287,048 ตัน (เพิ่มขึ้น395,436 ตัน หรือร้อยละ 30.72)ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล1,329 กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1,131 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น198 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 17.51)สำหรับเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศเพิ่มขึ้นในทุกภาค เนื่องจากต้นทุเรียนที่เกษตรกรขยายเนี้อที่ปลูกในปี 2563โดยเฉพาะแหล่งผลิตที่สำคัญในภาคกลาง เช่นจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด เกษตรกรปลูกทดแทนยางพาราและไม้ผลอื่น สำหรับในภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และยะลา เกษตรกรปลูกทดแทนกาแฟ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผลอื่นๆ และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่าง
เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้เป็นปีแรกสำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลโดยในปี 2567 แหล่งผลิตสำคัญในภาคกลาง ทุเรียนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนฝนทิ้งช่วงนานและอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ทำให้ทุเรียนติดผลน้อยจึงได้พักต้นสะสมอาหาร อีกทั้งต้นทุเรียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงและเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนสูงจึงจูงใจต่อการลงทุน เกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นและแหล่งผลิตทางภาคใต้ในปี 2568 สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลมากกว่าปี 2567 ที่มีอากาศร้อนมาก และฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ประกอบกับเกษตรกรดูแลจัดการสวนดี และจัดหาแหล่งน้ำได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตในภาพรวมคาดว่าเพิ่มขึ้นด้วย
ลำไยปี 2568 เนื้อที่ให้ผล1,645,810 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 1,644,559 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,251ไร่ หรือร้อยละ 0.08)ผลผลิต1,573,862 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 1,420,292 ตัน(เพิ่มขึ้น 153,570 ตัน หรือร้อยละ10.81) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล956กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 864 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น92 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 10.65)สำหรับเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
จากปีที่แล้ว จากลำไยที่ปลูกในปี 2565 ในแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งปลูกเพิ่มแทนต้นลำไยที่อายุมากให้ผลผลิตต่ำ ลิ้นจี่ ยางพารา และมันสำปะหลัง เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล
ปี 2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นเพียงพอตั้งแต่ปลายปี 2567 จนถึงต้นปี 2568 และอบอุ่น
ในช่วงกลางวันซึ่งช่วยเอื้ออำนวยต่อการแทงช่อดอกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในปีที่แล้วลำไยราคาดี จึงจูงใจให้เกษตรกรใช้สารกระตุ้นการออกดอกและดูแลบำรุงต้นลำไยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
มังคุดปี 2568 เนื้อที่ให้ผล393,277 ไร่ ลดลงจาก 399,020 ไร่ (ลดลง5,743 ไร่ หรือร้อยละ 1.44) ผลผลิต407,634 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 301,649 ตัน(เพิ่มขึ้น 105,985 ตัน หรือร้อยละ 35.14)ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล1,037กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 756 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 281 กิโลกรัมต่อไร่หรือร้อยละ 37.17)สำหรับภาพรวมเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศคาดว่าลดลง เนื่องจากราคามังคุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนของมังคุดที่เกษตรกรได้รับไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนจากมังคุดที่ไม่ได้คุณภาพส่งผลให้เกษตรกรโค่นต้นมังคุดที่ปลูกผสมกับทุเรียนและไม้ผลอื่น เพื่อเน้นดูแลทุเรียน และไม้ผลหลักอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีที่แล้วมังคุดออกดอกและติดผลน้อย จึงมีการพักต้นเพื่อสะสมอาหาร ปีนี้ต้นมังคุดสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งในปีนี้สภาพอากาศคาดว่าเอื้ออำนวยต่อการออกดอกมากกว่าปีที่แล้ว และในช่วงติดผลจะไม่กระทบกับสภาพฝนทิ้งช่วงเหมือนปีที่แล้ว ภาพรวมผลผลิตจึงคาดว่าเพิ่มขึ้นด้วย
เงาะปี 2568 เนื้อที่ให้ผล173,104 ไร่ ลดลงจาก 179,126 ไร่ (ลดลง6,022 ไร่ หรือร้อยละ 3.36) ผลผลิต229,315 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 201,981 ตัน (เพิ่มขึ้น27,334ตัน หรือร้อยละ 13.53) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล1,325กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1,128 กิโลกรัมต่อไร่(เพิ่มขึ้น 197 กิโลกรัมต่อไร่หรือร้อยละ 17.46)โดยเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญทางภาคกลาง และภาคใต้ เกษตรกรโค่นต้นเงาะออก เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทดแทน อีกทั้งเงาะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวและผลตอบแทนจากการปลูกเงาะที่ไม่จูงใจ สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ในช่วงปลายปี 2567 ที่มีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับในปี 2567 แหล่งผลิตทางภาคกลางที่สำคัญ ปีที่แล้วสภาพอากาศแปรปวนเงาะออกดอกติดผลน้อย ทำให้ต้นเงาะได้พักต้นสะสมอาหาร ในปีนี้ต้นมีความสมบูรณ์ ส่งผลดีต่อการออกดอกติดผลได้มากขึ้น ผลผลิตจึงคาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
ลองกองปี 2568 เนื้อที่ให้ผล144,425 ไร่ ลดลงจาก 152,252 ไร่ (ลดลง7,827 ไร่ หรือร้อยละ 5.14)ผลผลิต52,480 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 47,262 ตัน (เพิ่มขึ้น5,218 ตัน หรือร้อยละ 11.04) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล363 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจาก 310 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น53 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 17.10)โดยเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศคาดว่าลดลง เนื่องจากราคาลองกองที่ไม่จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่องหลายปี เกษตรกรจึงทยอยโค่นต้นลองกองที่มีอายุมาก และต้นลองกองที่ปลูกผสมกับพืชหลัก เช่น ทุเรียน เพื่อดูแลพืชหลักซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าสำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้ ที่สภาพภูมิอากาศคาดว่าจะเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลซึ่งช่วงปลายปี 2567 มีฝนตกต่อเนื่อง อีกทั้งปี 2567 ลองกองติดผลน้อย ทำให้ต้นได้พักต้นสะสมอาหารมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับออกดอกในปีนี้ภาพรวมผลผลิตรวมจึงคาดว่าเพิ่มขึ้น
ลิ้นจี่ ปี 2568เนื้อที่ให้ผล78,692 ไร่ ลดลง ลดลงจาก 82,934 ไร่ (ลดลง 4,242 ไร่ หรือ ร้อยละ 5.11) ผลผลิต36,451 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 13,952 ตัน (เพิ่มขึ้น22,499 ตัน หรือร้อยละ 161.26) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล463 กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 168 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น295 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 175.60) สำหรับเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศลดลงเนื่องจากแหล่งผลิตในภาคเหนือ เกษตรกรโค่นต้นลิ้นจี่เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไม้ผลอื่น เช่น ทุเรียน อโวคาโด มะม่วง และเงาะ และแหล่งผลิตในภาคกลาง เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนลิ้นจี่เพื่อปลูกทุเรียนและมะพร้าวน้ำหอม สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้เอื้ออำนวย อุณหภูมิหนาวเย็นต่อเนื่อง ส่งผลให้การแทงช่อดอกเพิ่มขึ้นและการติดดอกดีกว่าปีที่ผ่านมา แตกต่างจากในปีที่แล้วที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยอากาศหนาวเย็นเพียงช่วงสั้นๆ ไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้ลิ้นจี่ออกดอกส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศในปีนี้คาดว่าเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการไม้ผล ปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กำกับดูแล และให้จังหวัดบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ผ่านคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) โดยเน้นการบริหารจัดการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570 ประกอบด้วย การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ มีแผนงาน/โครงการ การจัดการและพัฒนาด้านคุณภาพผลผลิต เช่น ส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และ GI การส่งเสริมการบริโภค ประชาสัมพันธ์ และการป้องกันผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงการตลาดและเพิ่มมูลค่าผลผลิตการบริหารจัดการเชิงปริมาณ มุ่งเน้นการบริหารจัดการผลผลิตในฤดูกาล โดยจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน การประมาณการผลผลิตล่วงหน้า สำรวจและจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ และเชื่อมโยงตลาดเพื่อรองรับผลผลิต โดยจัดทำข้อมูลความต้องการทางการตลาดจากผู้ประกอบการ เช่น ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก สหกรณ์ โรงงานแปรรูป และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ตลอดจนดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570 มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูป และพัฒนาผลไม้คุณภาพที่ได้มาตรฐาน ประกอบด้วยแนวทางภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่
1) เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการผลไม้ในการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าไม้ผล
2) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดไม้ผลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
3) สร้างความเข้มแข็งและความเสมอภาคให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตร
4) บริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตผลไม้ครบวงจร
5) พัฒนาเครือข่ายการส่งออกและระบบโลจิสติกส์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี