มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เสริมพลังครูรุ่นใหม่ จัดโครงการ “ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพ” ผ่านเวิร์กช็อปเชิงปฏิบัติการ 4+6 โมเดล
วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพครู” โดยมุ่งพัฒนาจิตพิสัยและจิตวิญญาณความเป็นครูของนักศึกษาผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติ (Workshop) เสริมสร้างความรู้ สมรรถนะ และความตระหนักในบทบาทหน้าที่ครูที่ดี มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างแก่ศิษย์และสังคม พร้อมเชื่อมโยงจรรยาบรรณสู่มาตรฐานวิชาชีพครู และปลูกฝังความเป็นพลเมืองดี มีจิตสาธารณะ รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรม 4+6 โมเดล ของรองศาสตราจารย์ปภัสวดี วีรกิตติ หัวหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรักคุณธรรม ผู้ทำหน้าที่วิทยากรร่วมกับทีมงาน จัดขึ้น ณ ห้องประชุมทวี บุณยเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มุ่งปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู DPU เดินหน้าพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพสู่นักศึกษาครูรุ่นใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า วิทยาลัยฯ ให้ความสำคัญกับการหล่อหลอมคุณลักษณะความเป็นครูที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างครูที่ดีในสังคมไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า "จิตวิญญาณความเป็นครู" ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง วิทยาลัยจึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติให้เป็นพื้นที่ปลูกฝังแนวคิดและคุณค่าทางจริยธรรมอย่างเป็นระบบ โดยบูรณาการเข้ากับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพื่อให้นักศึกษาครูได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง คิดอย่างมีวิจารณญาณ และสะท้อนบทบาทตนเองในฐานะ “ต้นแบบที่ดี” ของศิษย์ในอนาคต
โดยในวันนี้มีการบรรยายทั้งหมด 3 หัวข้อสำคัญ คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม การเรียนรู้และฝึกทดลองปฏิบัติตามหลักการและกระบวนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม (4+6 โมเดล) ตลอดจนนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จ ในการ “ เปลี่ยนแปลงโรงเรียน ครู นักเรียน และ ห้องเรียน ”
ในกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ปภัสวดี วีรกิตติ หัวหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรักคุณธรรม และทีมวิทยากรผู้มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมครูทั่วประเทศ มาร่วมดำเนินกิจกรรมภายใต้ “4+6 โมเดล” ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 4 ประการและกระบวนการ 6 ขั้นตอน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรักคุณธรรม และได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาแล้วทั่วประเทศ
หนึ่งในจุดเด่นของโครงการนี้ คือการพลิกโฉมการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจากรูปแบบเดิมที่เน้นการฟังบรรยายซึ่งมักทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย มาเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่นเกมที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นกระบวนการคิด และกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยฝึกวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงจริยธรรมในบริบทต่าง ๆ แทนการท่องจำแนวคิดเชิงนามธรรม ช่วยให้การเรียนรู้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมีชีวิตชีวาและเข้าถึงใจผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
“นักศึกษาจะเริ่มเห็นว่า การสอนคุณธรรมไม่จำเป็นต้องให้นั่งสมาธิหรือเล่าธรรมะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถออกแบบกิจกรรมให้สนุก มีส่วนร่วม และน่าเรียนรู้ได้ และเกิดพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการมีคุณธรรมและจริยธรรมได้จริง” ดร.พงษ์ภิญโญ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การอบรมยังเปิดมุมมองใหม่ให้นักศึกษาครูตระหนักว่า “ความเป็นครู” ไม่ใช่เพียง “สอนเก่ง” แต่ยังต้องเป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะครูเป็นแบบอย่างที่มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมคุณลักษณะของผู้เรียนโดยตรง
“คุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่เด็กเรียนรู้ได้เพียงจากถ้อยคำของครู หากแต่เกิดจากการได้เห็นและสัมผัสผ่านการกระทำในชีวิตจริงของครูแต่ละคน เพราะหากครูไม่ยึดมั่นในความดี ไม่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแห่งความรับผิดชอบ เด็กย่อมซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น มากกว่าคำสอนใดที่ครูเอ่ยออกมา” ดร.พงษ์ภิญโญ กล่าว
โครงการในครั้งนี้ มีนักศึกษาเข้าร่วมจากสามหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครู หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารการศึกษา และปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ของวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อีกทั้งยังเปิดเวทีให้ศิษย์เก่าของวิทยาลัยได้กลับมาเข้าร่วมเพื่อพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง (Re-Skill & Up-Skill) โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งทางวิทยาลัยตั้งใจให้เป็นเวทีสำหรับสานสัมพันธ์กับเครือข่ายศิษย์เก่า และเปิดพื้นที่สร้างสังคมครูที่เติบโตไปพร้อมกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญโญ ยังกล่าวอีกว่า โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ได้ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกภาคเรียน โดยมีการหมุนเวียนหัวข้อ รูปแบบกิจกรรม และวิทยากร เพื่อสร้างความหลากหลายในการเรียนรู้ โดยเป้าหมายสูงสุดคือ “สร้างครูต้นแบบ” ที่พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนไทยยุคใหม่
“เราต้องการให้กิจกรรมนี้เกิดคุณค่าจริง และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ผู้เรียน และช่วยวางรากฐานที่มั่นคงในการเป็นครูที่มีทั้งสมรรถนะทางวิชาชีพและจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง” ดร.พงษ์ภิญโญ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านรองศาสตราจารย์ปภัสวดี วีรกิตติ หัวหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรักคุณธรรม ระบุว่า การอบรมในครั้งนี้ไม่ได้ใช้วิธีการสอนแบบบรรยายตามปกติ เพราะคุณธรรมไม่ใช่เรื่องที่สามารถปลูกฝังผ่านการนั่งฟังหรือรับฟังอย่างเดียว หากแต่ต้อง “ฝึกฝน ซ้ำ ๆ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง” จนหล่อหลอมเป็นพฤติกรรม และกลายเป็นนิสัยที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล
“คุณธรรมก็เหมือนสุขภาพ ถ้าคุณอยากลดน้ำหนัก คุณก็ต้องวิ่งทุกวัน ไม่ใช่วิ่งวันเดียวแล้วน้ำหนักจะลดลง เช่นเดียวกัน ถ้าอยากเป็นคนมีคุณธรรม คุณก็ต้องฝึกฝนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ นี่คือเหตุผลที่เราไม่เรียกวันนี้ว่า ‘การบรรยาย’ แต่เรียกว่า ‘บรรยายเชิงปฏิบัติการ’” รศ.ปภัสวดี กล่าว
นอกจากนี้ รศ.ปภัสวดี ยังอธิบายถึง “4+6 Model” ว่า คือกรอบแนวคิดที่ประกอบด้วย 4 หลักการ ทั้งการตั้งเป้าหมาย, การเลือกคุณธรรมหลักที่จะฝึก, การวางวิธีปฏิบัติ, และการประเมินผลตนเอง และ 6 กระบวนการ ที่ช่วยให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
“หากใครมีปัญหา เช่น ขี้เกียจอ่านหนังสือ ก็ให้เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าว่าจะอ่านวันละ 1 ชั่วโมง จากนั้นเลือกคุณธรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรับผิดชอบ หรือ ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง แล้วออกแบบวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับชีวิตเรา เช่น อ่านหนังสือในช่วงดื่มกาแฟ หรือก่อนนอน เป็นต้น จากนั้นประเมินตนเองทุกเดือน เพื่อดูความคืบหน้า และปรับเป้าหมายใหม่ ซึ่งโมเดลนี้จะสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งในการพัฒนาตนเอง การจัดการเรียนรู้ของครู การพัฒนานักเรียน หรือแม้กระทั่งใช้ในงานบริหารและองค์กรการศึกษา โดยเน้นการ “เปลี่ยนพฤติกรรม” หัวหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรักคุณธรรม กล่าว
นอกจากนี้ หัวหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรักคุณธรรม กล่าวย้ำว่า จุดแข็งของการอบรมในครั้งนี้คือ “ผู้เรียนไม่ได้แค่นั่งฟัง” แต่ต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจหลักการ สู่การเวิร์กช็อปโครงงานเล็กที่สามารถนำไปทดลองใช้จริงในโรงเรียนหรือชีวิตประจำวันได้ทันที โดยจะให้ทุกคนเริ่มคิดตั้งแต่ต้นว่า เป้าหมายของตนคืออะไร แล้วคุณธรรมไหนที่ควรใช้ แล้วจะลงมืออย่างไร ทุกคนจะได้คิดด้วย ลงมือทำด้วย ประเมินด้วย ไม่ใช่แค่ฟังเฉย ๆ เพราะ ‘คุณธรรม’ ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการนั่งเฉย ๆ
โดยกิจกรรมเวิร์กช็อปแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ช่วงที่ 1: เรียนรู้หลักการ “4+6” ผ่านการเวิร์กช็อปคิด-ลงมือ-สะท้อน ช่วงที่ 2: ออกแบบและลงมือทำโครงงานเล็กเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตหรือโรงเรียน
รศ.ปภัสวดี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โมเดลนี้ไม่ได้เป็นแค่แนวคิดในห้องเรียน แต่ถูกนำไปใช้จริงกับโรงเรียนในโครงการของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยโมเดลนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2557 ตอนแรกอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีโรงเรียนมากขึ้นที่สนใจนำไปใช้ จนวันนี้เชื่อมั่นว่าโมเดลนี้สามารถพัฒนาพฤติกรรมคุณธรรมได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รศ.ปภัสวดี และทีมวิทยากร ยังได้จัดทำคลิปวิดีโอตัวอย่างการใช้โมเดล “4+6” ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เพื่อให้ครูสามารถนำไปศึกษาและปรับใช้ได้ทันที โดยยืนยันว่า ทุกคลิปเกิดจากการปฏิบัติจริงและได้ผลจริง พร้อมทั้งเน้นย้ำความคาดหวังของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่เพื่อตอบโจทย์เชิงนโยบาย แต่เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงในการหล่อหลอม “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ให้แก่นักศึกษาทุกคน
“ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นครูอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่มีวุฒิครู จึงมาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือปริญญาโทด้านการสอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามอบให้วันนี้คือ ‘วิธีคิด’ และ ‘วิธีลงมือทำ’ ที่เขาสามารถนำไปใช้ได้ทันที เพื่อพัฒนาตนเองและนักเรียนของเขาต่อไป” หัวหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รักคุณธรรม กล่าวทิ้งท้าย
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี