รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยมรองศาตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญด้านความเร็วรถ 1 ในจำเลยคดีเปลี่ยนเเปลงความเร็ว คดีบอส อยู่วิทยา ที่ศาลได้พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ออกมากล่าวเปิดใจภายหลังศาลยกฟ้องว่า ตนเป็นจำเลยที่ 7 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเอี่ยวช่วยคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถ เเต่ในคำพิพากษาประเด็นที่มีการเอา ดร.เฮอร์แมน สเตฟานส์ (Dr.Hermann Steffan) มาขึ้นเบิกความในศาลไทย โดยเมื่อศาลไต่สวนได้ให้ความน่าเชื่อถือเเละเขียนไว้ในคำพิพากษาที่ว่า การคำนวณความเร็วของรถยนต์ และการประชุม เพื่อแสดงวิธีการคำนวณความเร็วสามารถกระทำได้โดยชอบหรือไม่
ซึ่งศาลมองว่าการร้องการขอความเป็นธรรมของทนายบอส และคำสั่งของอัยการให้สอบสวน พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ให้คำนวณความเร็วรถเพิ่มเติมประกอบสภาพของความเสียหายรถยนต์ว่า รถยนต์ควรแล่นด้วยความเร็วอย่างน้อยกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและการหาคำตอบในข้อสงสัยเพื่อคำนวณหาความเร็วที่ถูกต้อง ชัดเจน แม่นยำในหลักวิชาการ ด้วยเหตุว่า ก่อนหน้านี้ก็มี พ.ต.ท.สมยศ เเอบเนียน ผู้ชำนาญการตรวจสภาพรถยนต์ให้ความเห็นว่าความเสียหายของรถยนต์และจักรยานยนต์มีความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ขณะที่ พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิชัย ผู้เชี่ยวชาญของศาลและผู้ชำนาญการพิเศษ ในการตรวจพิสูจน์เครื่องกลและเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถยนต์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุ ก็มีความเห็นว่าสภาพความเสียหายของรถไม่รุนแรง อยู่ในระดับปานกลาง สันนิษฐานว่าขณะชนความเร็ว 70-80 กม./ชม. ไว้เช่นกัน
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางไต่สวน ดร.เฮอร์แมน สเตฟานส์ (Dr.Hermann Steffan) บุคคลที่มีโปรไฟล์ระดับโลก ซึ่งจบการศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเครื่องกล ได้รับอนุญาตให้สอนในระดับมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรป ดำรงตำแหน่ง ผอ.ทางวิทยาศาสตร์ของศูนย์ความสามารถในด้านยานพาหนะเสมือนจริง VIF เป็น CEO ขององค์กรแห่งสหภาพยุโรปของผู้เชี่ยวชาญอุบัติเหตุ (EVU) และเป็นผู้เชี่ยวชาญการย้อนรอยอุบัติเหตุยานยนต์ที่ได้รับการรับรองจากศาลหลักของประเทศออสเตรียที่ให้ความเห็นทางวิชาการประมาณ 500 คดีต่อปี ในเรื่องการเบิกความ 90% เกี่ยวกับอุบัติเหตุการจราจร
ที่สำคัญเขายังเป็นผู้คิดและพัฒนาชอฟต์แวร์ PC-CRASH ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จำลองการเกิดอุบัติเหตุมาประมาณ 30 ปี ขายใบอนุญาตกว่า 7,000 ใบ มีผู้ใช้มากกว่า 13,000 คนทั่วโลก และซอฟต์แวร์ตัวนี้เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดในโลก มีประเทศที่ใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป สามารถสร้างแบบจำลองอุบัติเหตุทั่วโลก โดยซอฟต์แวร์มีความแม่นยำ 100 %
ท้ายที่สุดศาลพิเคราะห์มีความเห็นต่างจาก พ.ต.ท. ธนสิทธิ์ แตงจั่น กลุ่มงานตรวจสอบทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ที่เห็นว่าความเร็ว 177 กม./ชม. โดยไม่ได้นำความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอื่นมาพิจารณา ไม่ได้มีการสอบทวนผลความเร็วว่า หากรถยนต์มี 177กม./ชม. รถจักรยานยนต์จะความเร็วที่ 60 กม./ชม.แล้วจะมีการชนกันได้หรือไม่ ที่ระยะทางเท่าใด หากชนเมื่อลากเส้นจากจุดพบจะชนที่ตำแหน่งเลยจากกล้องวงจรปิดทำมุมเท่าใด อันจะทำให้เกิดความแม่นยำน่าเชื่อถือ
แสดงให้เห็นว่า ขณะที่มีการสอบสวนคดีนี้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ว่ามีความเร็วเท่าใดกันแน่ แสดงให้เห็นความไม่แน่นอน แตกต่างเป็นอย่างมากและส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในคำพิพากษาศาลได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า การคิดหรือการวิเคราะห์ของรายงานการเกิดอุบัติเหตุของ ดร.เฮอร์แมน สเตฟานส์ ว่ามีหลายวิธีการ เช่น
1.คำนวณความเร็วจากหน้ากล้อง CCTV ใช้หลักพื้นฐานการคำนวณความเร็วใช้สูตรคำนวณของหลัก ฟิสิกส์ซึ่งเป็นสากลทั่วโลกสูตรเดียว คือ ระยะทางหารด้วยระยะเวลา
2.ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์การย้อนรอยอุบัติเหตุ (ขั้นสูงขึ้น) หรือประมวลในซอฟต์แวร์ PC-CRASH สามารถทวนสอบและตรวจสอบหลักฐานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ
3.ทดสอบเชิงประจักษ์ หรือการย้อนรอยอุบัติเหตุ ด้วยการทดสอบการชนจริงของรถยนต์กับรถจักรยานยนต์คันรุ่นเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบการยุบและตำแหน่งการกระแทกของศีรษะบนกระจกรถเปรียบเทียบกับข้อมูลอุบัติเหตุจริง (จากการทดสอบจริงอย่างละเอียดถ้าชนด้วยความเร็วแบบนั้น
โดยใช้การทดสอบเทียบจากของจริงอย่างละเอียด ไม่ได้เเค่นั่งหน้าจอเท่านั้น จุดกระเด็นหรือตกกระทบบนกระจก ผู้เสียชีวิตจะต้องอยู่สูงกว่านั้น)
ซึ่งเมื่อใช้ทั้ง 3 วิธีการในการทดสอบเพื่อหาความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในคดี “บอส อยู่วิทยา” จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากการคำนวณความเร็วของ พ.ต.อ. ธนสิทธิ์ ที่ใช้เพียงวิธีการที่ 1 เท่านั้น เพราะหากใช้วิธีทดสอบเฉพาะจากกล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียว ผลจะไม่น่าเชื่อถือ เพราะกล้องวงจรปิดมีคุณภาพและอัตราต่อเฟรมที่คุณภาพไม่ดี ตำแหน่งจุดที่ชนข้อมูลที่ได้จากกล้องวงจรปิดก็ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวกัน ทำให้เกิดความผิดพลาดได้มาก
โดยพยานคำนวณความเร็วจากการนับเฟรมภาพแบบวิธีแรก โดยคำนวณได้ความเร็วประมาณ 78 กม./ชม. เมื่อใช้ซอฟต์แวร์ PC-CRASH ในการประมวลผลหลายครั้ง ดังนั้น การชนที่จะทำให้เกิดความเสียหายตามสภาพ ก็ได้ความเร็วรถยนต์ประมาณ 80 กม./ชม. ความเร็วของจักรยานยนต์ประมาณ 27 กม./ชม.
นอกจากนี้ ในการทดสอบจำลองเหตุการณ์จริง ครั้งแรกได้นำรถยนต์ Toyota Celica ที่มีขนาดใกล้เคียงกับรถยนต์ Ferrari รุ่น FF มาลองทดสอบชนกับรถจักรยานยนต์รุ่นเดียวกันกับที่เกิดเหตุเพื่อเทียบเคียงข้อมูลก่อน ส่วนครั้งที่สองใช้รถยนต์ Ferrari รุ่น FF ซึ่งเป็นรุ่นและขนาดเดียวกันกับรถยนต์ของนายวรยุทธ ขณะเกิดเหตุ และนำรถจักรยานยนต์รุ่นเดียวกันกับวันเกิดเหตุมาทดลองชนซ้ำจริงอีกครั้ง โดยติดตั้งระบบอัตโนมัติให้ความเร็วของรถยนต์เฟอร์รารี่ที่ 80 กม./ชม. ความเร็วของจักรยานยนต์ 27 กม./ชม. ผลการทดสอบปรากฏว่า ความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ทดสอบใกล้เคียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุจริง
โดยมีการเปรียบเทียบความลึกรถยนต์คันที่ทดสอบเสียรูปทรงมากกว่ารถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุจริงเล็กน้อย คำนวณย้อนกลับและหักทอนเปรียบเทียบความเสียหายของรถยนต์ Ferrari ได้ความเร็วที่ 76 กม./ชม. ส่วนรถจักรยานยนต์ 30 กม./ชม. ค่าความคลาดเคลื่อนในการเกิดอุบัติเหตุในการทดสอบที่มีประสบการณ์ที่สามารถยอมรับได้ เพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียง 5%
อีกทั้งเมื่อ ดร.เฮอร์แมน สเตฟานส์ ได้ยืนยันว่าการทดลองและทดสอบครั้งนี้ได้ผลดีมาก เหตุเพราะความเสียหายและการเสียรูปทรงของรถยนต์ที่ทำการทดลอง จุดตำแหน่งและความเสียหายของรูปทรงของรถยนต์คันที่ทำการทดลองใกล้เคียงกับรถยนต์คันที่เกิดอุบัติเหตุจริงมาก ทำให้การทดลองย้อนรอยอุบัติเหตุในครั้งนี้มีความสมบูรณ์แบบที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง เหตุเพราะการเลือกสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเรื่องของความเร็วด้วย เพราะถ้าหากมีการทดสอบซ้ำก็คงไม่มีการเปลี่ยนวิธีการรายละเอียดหรือผลที่ได้รับ ผลการทดสอบก็จะเป็นแบบเดิม 100%
เมื่อรายงานการย้อนรอบอุบัติเหตุของ ดร.เฮอร์แมน สเตฟานส์ ที่ได้ให้การและนำเสนอต่อศาล กับรายงานและการคำนวณความเร็วของ เมื่อปี 2559 มีความใกล้เคียงกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิเคราะห์และพิสูจน์ได้ภายใต้หลักวิชาการด้านการย้อนรอยอุบัติเหตุ ไม่ว่าวันและเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี