สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2435 - สวรรคต 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนโดยทั่วไปมักคุ้นเคยกับพระนามว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์"หรือ"พระราชบิดา"และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า "เจ้าฟ้าทหารเรือ"และ"พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ตามปฏิทินเก่า ถ้านับตามปฏิทินสากล ต้องเป็น พ.ศ. 2435 มีพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช " และได้รับการออกพระนามลำลองว่า ทูลกระหม่อมแดง
สมเด็จพระบรมราชชนกได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาได้ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏขึ้น พร้อมกันนี้ พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ "กรมขุนสงขลานครินทร์" หลังจากพิธีโสกันต์ได้ 1 ปี สมเด็จพระบรมราชชนกผนวชเป็นสามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ในปี พ.ศ. 2448 และทรงเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หลังจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร เข้าศึกษาในโรงเรียนแฮร์โรว์ ในกรุงลอนดอน จนถึงปี พ.ศ. 2450 ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้นปอตสดัม และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงโกรสลิชเตอร์เฟลเด้ในประเทศเยอรมนี แล้วทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บวร์ก เมือร์วิค ประเทศเยอรมนี ทรงได้รับยศนายเรือตรี ทั้งในกองทัพเรือแห่งเยอรมัน และแห่งราชนาวีสยาม เมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษา ทรงรับราชการในกองทัพเรือเยอรมันเป็นเวลา 3 ปี
วันที่8 มีนาคม พ.ศ. 2453 ได้เสด็จกลับจากทวีปยุโรปเพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ(รัชกาลที่ 5) ในปี พ.ศ. 2457 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เนื่องจากการอุบัติสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2458 หลังจากทรงศึกษาวิธีบริหารราชการและระเบียบราชการทหารเรือ จากกรมเสนาธิการทหารเรือ ประมาณ 4 เดือนแล้ว ก็ทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ในปี พ.ศ. 2459 สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง และผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ทรงพิจารณาเห็นว่าโรงเรียนแพทย์อยู่ในฐานะล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นทรงตกลงพระทัยที่จะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่ก็ต้องประสบปัญหาว่าหาผู้ที่มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก ให้ทรงหันมาสนพระทัยการแพทย์และสาธารณสุขที่พระองค์ทรงได้เคยศึกษามา โดยพระองค์ทรงออกอุบายเชิญสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ ไปตามคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย พอถึงปากคลองบางกอกน้อย จึงทูลเชิญขอให้ทรงแวะที่ศิริราชพยาบาล และเมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจาก มีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนไข้นั่งรอนอนรออยู่ตามโคนไม้ และขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์
สมเด็จพระบรมราชชนกทรงทราบถึงความยากลำบากและขาดแคลนของศิริราชทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเข้ามาช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตกลงพระทัยที่จะทรงช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะ เพื่อจะให้งานได้ผลจริงๆ และได้ดี
เมื่อปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น พระองค์ทรงได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และนางอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา(ลิปิธรรม ศรีพยัตต์)
ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ พระองค์ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา เช่าอะพาร์ทเม็น ซึ่งมีเพียง 4 ห้อง และมีคนใช้เพียงคนเดียว ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ 3 ที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จกลับมาร่วมงาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2464 สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงสำเร็จการศึกษา และได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ดังนั้นพระองค์พร้อมพระชายาจึงเสด็จยุโรปประทับที่เมืองเอดินเบอร์ก สก็อตแลนด์ ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับ มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งบรรลุผลสำเร็จให้กับรัฐบาลไทย ถึงแม้จะมีการเจรจากันหลายครั้งก็ตาม
การเสด็จสหราชอาณาจักรครั้งนี้ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากมีอุปสรรค ได้ประชวรด้วยโรคของพระวักกะ (ระบบปอด) ประกอบกับที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับโรค ดังนั้นพระบรมราชชนกจึงต้องเสด็จนิวัติกลับพระนคร เพราะมีพระราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และรับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระบรมราชชนกพร้อมพระชายาและพระธิดาเสด็จยุโรป เพื่อไปศึกษาเรื่องแพทย์ต่อ โดยได้ทรงเลือกวิชากุมารเวชศาสตร์ และพระองค์ก็ได้เสด็จกลับเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือพระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษา 10 ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์
สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีความเห็นว่านักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก 1 ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้นพระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่
สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472 ทรงประทับกับครอบครัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้น ดร. อี.ซี. คอร์ท เป็นตึกเล็ก และทรงมีมหาดเล็กเพียงคนเดียว
พระบรมราชชนกทรงมีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า หมอเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมราชชนกได้ประทับ ทีเมืองเชียงใหม่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพในวันที่18 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เนื่องในพระราชพิธี ถวายพระเพลิง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังจากนั้นมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย
และเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. พระบรมราชชนกก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ(ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำ และพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 ปี 8 เดือน 23 วัน หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ 3 เดือนครึ่ง
วันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493