ดินเค็ม..ปัญหาทางการเกษตรชนิดหนึ่ง หมายถึงภาวะที่ดินมีปริมาณเกลือที่ละลายอยู่ในดินมากเกินไป มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้พืชตายได้ เนื่องจากเกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร พืชเกิดอาการขาดน้ำ และมีการสะสมธาตุที่เป็นพิษในพืชมากเกินไป
ปัญหาดินเค็มในประเทศไทย “แดนอีสาน” หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือว่าหนักที่สุด ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่มีที่ดินจากบรรพบุรุษแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงไม่ต้องแปลกใจ หากจะเห็นชาวอีสานจำนวนมากละทิ้งบ้านเกิด รอนแรมไปขายแรงงานแลกเงินตามเมืองใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า
จากปัญหานี้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือกับกรมที่ดิน และบริษัทในเครือ SCG ร่วมถ่ายทอดความรู้และวิธีการแก้ปัญหาดินเค็ม เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การเพิ่ม อินทรียวัตถุในดิน และการปลูกพืชเศรษฐกิจทนเค็มให้กับเกษตรกร
ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่แถบนี้เกิดสภาวะยากจน เนื่องจากทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดี โดยเริ่มโครงการนำร่อง ณ ชุมชนบ้านเตย ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ชุมชนนี้เป็นชุมชนพื้นเมืองที่มีการตั้งถิ่นฐานมาแต่เดิม มีอาชีพหลักคือทำนาและเลี้ยงสัตว์ แต่เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านตั้งอยู่บนแอ่งเกลือโคราช จึงมีการแพร่กระจายความเค็มขึ้นสู่ผิวดิน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวที่เป็นอาชีพหลักมีผลผลิตที่น้อย เฉลี่ยขั้นต่ำประมาณ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่
ดร.เฉลิมพล เล่าต่อไปว่า เมื่อครั้งเริ่มโครงการใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ “กับดักความคิด” ของชาวบ้าน ที่เชื่อว่าดินเค็มเป็นมรดกตกทอดของบรรพชน ทำให้ไม่กล้าริเริ่มแนวทางใหม่ๆ แต่เมื่อทำความเข้าใจกัน แล้วเดินหน้าทดลองโครงการจนประสบความสำเร็จด้วยดี
“ชาวบ้านบอกว่ามันเป็นสมบัติตกทอดกันมา เป็นลักษณะของวัฒนธรรม ค่านิยม ที่ตีกรอบไว้ทำให้เขาไม่กล้าเดินออกมา
นอกรูปแบบ แต่กลุ่มชาวนาเกษตรกลุ่มนี้เก่งในลักษณะการเปลี่ยนมุมมองจากของที่เป็นข้อจำกัด ทำให้ได้ของคุณภาพ ความเค็มของดินนำมาสู่การผลิตข้าวหอมคุณภาพ เมื่อมีความเค็มข้าวจึงหอมและเหนียวนุ่ม เมื่อมีความเค็มผลไม้จึงมีความหวาน และรู้จักว่าจะเก่งอะไร ไม่ทำอย่างสะเปะสะปะ” ดร.เฉลิมพล กล่าว
ด้าน บุญเชิด สีเขียว 1 ในสมาชิกชุมชนบ้านเตย ที่เคยประสบปัญหาดินเค็ม เล่าว่า ในตอนแรกที่ ดร.เฉลิมพล มายังชุมชน
บ้านเตยใหม่ๆ ยอมรับว่าชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างดูถูกและมองอย่างไม่เชื่อใจ เพราะ ดร.เฉลิมพล แต่งกายภูมิฐานแบบนักวิชาการ
จากเมืองหลวง คงไม่กล้าลงพื้นที่ทำไร่ทำนาเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็พบว่านักวิชาการรายนี้ทำงานจริง ทั้งย่ำน้ำ ลุยโคลน และผลที่ได้รับก็คุ้มค่ามาก เพราะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
“ที่กล้าเปลี่ยนเพราะว่าปกติที่นี่ทำนาได้ครั้งเดียว พอหลังจากทำนาก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยอยากจะให้มีรายได้ต่อเนื่อง เลยทำเกษตรผสมผสาน ถึงมันจะเป็นพื้นที่ดินเค็ม ตอนแรกๆ ก็พยายามที่จะปรับปรุงโดยการใช้มูลจากปุ๋ยคอก แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าไหร่ แต่หลังจากที่อาจารย์ป๋อง (ชื่อเล่นของ ดร.เฉลิมพล) มาท่าน ก็ได้ให้ความรู้ว่าดินเค็มมันเกิดขึ้นได้ยังไง คือดินเค็มถ้าเราคุ้ยหน้าดิน เมื่อดินได้รับความร้อน เกลือที่อยู่ใต้ดินก็จะระเหยขึ้นมา
เพราะฉะนั้นถ้าดินเค็ม เราก็ต้องไม่คุ้ยหน้าดิน ต้องมีการห่มดิน คือการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษวัชพืช เศษฟาง มาห่มดิน และจากการทดลองของผมเอง วิธีที่ดีที่สุดคือการใช้หญ้าแฝก ปลูกรอบโคนต้นไม้ เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติอุ้มน้ำดี เก็บความชุ่มชื้นได้ดี พอเราเอามาปลูกทำให้ดินบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้น เมื่อดินมีความชุ่มชื้น น้ำใต้ดินก็ลดการระเหยของมันได้” เกษตรกรรายนี้ ระบุ
จากโครงการนำร่องนี้ เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งว่า..วิถีเกษตร ไม่จำเป็นจะต้อง “โง่-จน-เจ็บ” เสมอไป หากเกษตรกรรายใดมี
2 ข้อ คือ 1.มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะอาชีพเกษตรกรรมเป็นเรื่องของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สามารถทดลองและพิสูจน์ได้ และ 2.มีความกล้าหาญ หมายถึงกล้าที่จะละทิ้งกรอบเดิมๆ วิถีเดิมๆ ที่ไม่ได้ผล แม้จะเป็นวิถีที่บรรพชนทำตามๆ กันมา เพื่อริเริ่มวิธีใหม่ๆ หนทางใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า
“มันเป็นเรื่องของวิธีคิด พอเราพัฒนาเรื่องกรอบความคิด ช่องทางการสร้างรายได้และการพึ่งตนเองก็เปิด ความเข้มแข็งมัน
ก็เกิดขึ้น คือเราพบว่าเกษตรกรในภาคอีสานจะมีลักษณะอันหนึ่ง ก็คือว่าเขาเองมีความสุขกับชีวิต และเขาก็รักพวกพ้อง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เวลาเขาจะขับเคลื่อน เขาจะอาศัยกลไกคือ เมื่อมีคนนึงประสบความสำเร็จ แล้วพอเขาเรียนรู้ปั๊บ เขาก็จะเดินตาม ในขณะที่เดินตาม ถ้าเราใส่กรอบเหตุและผลไปด้วย ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสม ตรงนี้จึงทำให้เกิดการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว” นักวิจัยอาวุโส จาก สวทช. ฝากทิ้งท้าย
แก้วกานดา ตันเจริญ
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี