วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / สกู๊ปพิเศษ
‘ศิลปะ’หรือแค่‘อนาจาร’ ‘รักๆใคร่ๆ’บทวัดฝีมือนักเขียน

‘ศิลปะ’หรือแค่‘อนาจาร’ ‘รักๆใคร่ๆ’บทวัดฝีมือนักเขียน

วันพุธ ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
Tag :
  •  

 

“วรรณกรรม” ศิลปะการบอกเล่าเรื่องราวด้วยท่วงทำนองของภาษาที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทุกยุคสมัย ยิ่งงานเขียนที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวด้วย “สำนวนที่งดงาม” ก็ยิ่ง “มัดตรึง” ผู้อ่านเข้ากับโลกแห่งจินตนาการที่ผู้ประพันธ์ร้อยเรียงไว้ ถึงขนาดที่แม้จะอ่านจบไปนานแล้ว แต่เมื่อนึกถึงทีไรก็ยัง “ซาบซึ้ง” ได้เสมอ


“สนุกมากจนแทบวางไม่ลง” คือวลีที่ผู้อ่านใช้พูดถึง “วรรณกรรมชั้นเยี่ยม” ที่เราคุ้นหูกันดีทั้งไทยและเทศ!!!

เมื่อกล่าวถึงวรรณกรรมโดยเฉพาะ “นวนิยาย”สิ่งหนึ่งที่มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือฉากบรรยายเรื่องราว“รักๆ ใคร่ๆ” ของตัวละคร หรือที่เรียกว่า “โรแมนติก-อีโรติก” (Romantic-Erotic) ซึ่งการบรรยายบททำนองนี้ให้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความชำนาญทางภาษาและวิจารณญาณของนักเขียนมากพอสมควร

หาไม่แล้ว..จาก “ศิลปะ” ก็จะกลายเป็น “อนาจาร” ทันที!!!

จิตติ หนูสุข อุปนายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา “โรมานซ์ได้แค่ไหนถึงไม่อนาจาร” 21 ก.ค. 2558 ณ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ถึงความท้าทายของนักเขียน-นักแปลในการเลือกคำมาใช้บรรยายฉากแนวนี้ว่า ภาษาที่ใช้ต้องสละสลวย แม้กระทั่งงานเขียน-งานแปลในระดับ “ติดเรท” ก็ตาม หากใช้คำที่ตรงเกินไปจะดูเป็นงานเขียนที่ “อุจาด” จนไม่น่าอ่านได้

“ผมชื่นชม เรียกว่ายกย่องหรือรับได้ ก็คือการที่เขียนและบรรยายอย่างสละสลวย คือหนังสือที่เคยอ่านถึงแม้จะเป็นเรทเอ๊กซ์ก็ตามก็มีหลายระดับ และก็มีบางเล่มอ่านแล้วก็ประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะลีลาการเขียนก็เหมือนนักเขียนที่มีฝีมือนี่แหละ และก็เท่าที่ทราบ สิ่งที่เห็นคืออ่านเขียนแบบนั้นเป็นการเขียนที่ราบรื่น เลี่ยงการเขียนถึงอวัยวะตรงๆ แต่งานที่หยาบคายก็มีนะ แต่ผมไม่นิยม” อุปนายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กล่าว

เช่นเดียวกับ ชณันกร เพ็ชรวัฒนา นักแปลดีเด่นรางวัลสุรินทราชา ประจำปี 2557 บอกเล่าถึงการแปลวรรณกรรมอีโรติกจากหนังสือต่างประเทศ ซึ่งความยากของการแปลงานเขียนจากต้นฉบับคือ การเลือกใช้คำวรรณกรรมต่างประเทศแตกต่างจากวรรณกรรมไทย เพราะภาษาไทยมีคำศัพท์ที่หลากหลายต่างจากภาษาอังกฤษ ก็ต้องแก้ปัญหาโดยเลือกคำที่ดูไม่ลามกจนเกินไป และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

“อันดับแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องการอ่าน อ่านเยอะๆ เข้าไว้ จากการอ่านจะทำให้เรามีคลังคำในสมองเรา รู้จักศัพท์รู้จักคิดคำ รู้จักร้อยเรียงประโยค รู้จักพัฒนาการของอากัปกิริยาของตัวละครว่ามันจะไปยังไงต่อ ถ้าเราแปลตรงทื่อๆ อย่างที่ฝรั่งใช้มันจะไม่ได้อารมณ์ นักแปลจะรู้ดีทุกคน

เพราะฉะนั้นการรู้จักประเภทของงานเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็เมื่อเราได้อ่านมากจากการที่ได้อ่านงานของคนอื่นมากจะพบปัญหาเดียวกันก็คือเรื่องการใช้ภาษา บางทีคำต้นฉบับง่ายๆ เลย แต่เราจะแปลอย่างไรให้งดงาม สละสลวย ไพเราะและปลอดภัยทั้งกับผู้แปล ผู้อ่านและสำนักพิมพ์” ชณันกร ระบุ

เพราะวรรณกรรมเป็นที่นิยมของผู้คนทุกเพศทุกวัย หลายคนจึงฝันอยากจะมี “ผลงาน” กับเขาบ้าง ซึ่งหากเป็นสมัยอดีต หนทางเดียวคือการส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์เพื่อให้พิจารณาตีพิมพ์ แต่ในปัจจุบันนักเขียนจำนวนไม่น้อยแจ้งเกิดจาก “โลกออนไลน์” ด้วยการเขียนนิยายลงบน “เว็บบอร์ด” (Webboard) หรือกระดานสนทนาบนเว็บไซต์ต่างๆ หากงานเขียนมีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็น “เครดิต” ในการเข้าทำงานกับสำนักพิมพ์ต่อไป

ทว่าปัญหาที่ตามมาในยุค “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” แบบนี้ คือ“คุณภาพ” ของผลงาน!!!

บางครั้งตัวนักเขียนเองก็สุ่มเสี่ยงต่อการ “ทำผิดกฎหมาย” และ “ทำร้ายสังคม”!!!

รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ 4 ตัวหลักๆ คือ กฎหมายอาญา,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และ พ.ร.บ.เกี่ยวกับ กสทช. ซึ่งงานวรรณกรรมอีโรติกมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าข่ายสื่อลามกอนาจาร

อาจารย์คณาธิป อธิบายต่อไปว่า ที่ผ่านมาบทบรรยายเกี่ยวกับการร่วมประเวณีซึ่งศาลเคยตัดสินว่าเป็นสื่อลามกคือการบรรยายรายละเอียดในเชิง “ลงลึก” เช่น ลีลาท่าทางในการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการลดความเสี่ยงได้ โดยการ “ตัดออก” คือเลี่ยงการบรรยายฉากมีเพศสัมพันธ์ไปเลยจะปลอดภัยที่สุด

“ห้ามมีข้อความที่แสดงการร่วมประเวณี..อันนี้ศาลเคยตัดสินมาแล้วนะครับว่าเป็นสื่อลามก ถ้าท่านบรรยายว่าพระเอก-นางเอกได้เข้าไปมีเพศสัมพันธ์กันในห้องแล้วปิดประตู คือถ้าท่านบรรยายว่ามีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นอะไรแต่ถ้าเกิดบรรยายรายละเอียดลงลึกไปจะมีแนวโน้มจะเป็นสื่อลามกได้ ผมให้หลักการว่า องค์ประกอบที่ศาลพิจารณาคือมีเจตนาไหม ศาลก็พยายามดูแยกระหว่างงานศิลปะกับวัตถุลามก มีเจตนายั่วยุกามารมณ์หรือไม่ ถ้ามีไม่ใช่งานศิลปะ

แล้วเจตนาจะดูอย่างไร? เจตนาเป็นเรื่องในใจ เจตนาดูจากพฤติกรรมที่แสดงออก ศาลก็ดูจากการเปิดเผยอวัยวะเพศ เปิดแค่ไหน ปกปิดไหม หมิ่นเหม่ไหม หรือแค่เอาทรายมาปิดคือถ้าเอาทรายมาปิด เอาสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ มาปิดถือว่าหมิ่นเหม่นะ มีเจตนาไม่ดี ท่วงท่ากิริยาบท อ้าปากค้าง บางกิริยาใช้คำว่าถ่างขา พวกนี้คือศาลตัดสินว่ามีเจตนาไม่ดีส่อไปในทางยั่วยุ เพราะฉะนั้นศาลดูเจตนา เพราะพฤติกรรมเนี่ยก็ต้องเอาสิ่งพวกนี้มาประกอบกันดูว่าปัญหาคดีนั้นเป็นอย่างไร” อาจารย์คณาธิป อธิบาย

แม้จะหมิ่นเหม่ต่อทั้งกฎหมาย ศีลธรรมและจารีตประเพณี แต่ในความเป็นจริงแล้วบทรักๆ ใคร่ๆ กับวรรณกรรมนั้นคู่กันจนแยกกันไม่ออก ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่านักเขียนแต่ละราย “มือถึง” สามารถบรรยายให้อ่านแล้วงดงามไม่ลามกอนาจารได้หรือไม่? ซึ่ง อังสนา ทรัพย์สิน บรรณาธิการและนักเขียนอิสระ ค่อนข้างเป็นห่วงบรรดา “หน้าใหม่” หรือนักเขียนรุ่นหลังๆ เพราะพบว่างานเขียนประเภทล่อแหลมนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“อย่างที่บอกว่าเรื่องพวกนี้มันมีอยู่เพื่อให้มีรสชาติและมีสีสัน ซึ่งบางทีเราไม่สามารถตัดออกไม่ได้หรอกค่ะ แต่ก็คืออย่างที่บอกว่าถ้าไม่มีเจตนาหรือตั้งแนวเรื่องอะไรไว้ซึ่งน่ากลัว จริงๆ ดิฉันเชื่อเสมอว่านักเขียนรู้อยู่แก่ใจ แต่จะทำหรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงคือจะกลายเป็นรุ่นเด็กใหม่

ซึ่งเราก็พยายามรณรงค์เมื่อ 10 ปีที่แล้วเรื่องความแตกต่างระหว่างโรมานซ์ โรแมนติก แต่มันก็กลับมามากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พยายามสนับสนุนให้เด็กเขียนแค่พอสวยงามและมีความสุข จริงๆ คืออยากให้โลกสวยงามด้วยความรัก แต่มันมีจุดเปลี่ยนเล็กๆ เรื่องความเจตนา” นักเขียนอิสระรายนี้ ฝากทิ้งท้าย

หากไม่มองโลกแบบ “อุดมคติ” จนเกินไป ความจริงข้อหนึ่งคือ “เรื่องเพศ” เป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตของมนุษย์ เพียงแต่การบอกเล่าเรื่องราวทำนองนี้ในระดับที่วิญญูชนพึงยอมรับได้ คือต้องใช้สำนวนภาษาที่ทำให้เกิด “สุนทรียภาพ” ภายในจิตใจผู้อ่าน มิใช่กระตุ้น “ความหื่นกระหาย” ด้วยถ้อยคำที่ดูแล้วหยาบโลนน่ารังเกียจ

เพราะจะว่าไปแล้ว..นักเขียนเองก็ถือเป็น“ผู้ทำสื่อ” ประเภทหนึ่ง ซึ่งควรมีสำนึก “รับผิดชอบต่อสังคม” ด้วยเช่นกัน!!!

อรสา อ่ำบัว
SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘สภาฯ’ไฟเขียวรับหลักการ‘3 ร่างฯนิรโทษกรรม’ ปัดตกฉบับ‘พรรคส้ม-ภาคประชาชน’

​‘เลขาฯภท.’ไม่เชื่อ ‘3 สส.’อ้างโหวตผิดปม‘ร่าง กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์’

‘ไชยชนก’ไม่หวั่น‘มท.ยุคอ้วน’ หวนไล่บี้ตรวจสอบที่ดิน‘เขากระโดง’

สาวไส้ทีมเฝ้า‘นักโทษชั้น14’ ซ้อมคำให้การมาดี แต่มีเป๋ เตรียมเจอหลักฐานเด็ดมัดยกก๊วน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved