โรคเบาหวานนับเป็นโรคที่อันตรายอย่างยิ่งในปัจจุบัน และถึงขั้นวิกฤติจนองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation :WHO) ยกให้โรคเบาหวานอันตรายสูงสุดยิ่งกว่าโรคเอดส์ (AIDS) เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โรคไม่ติดเชื้อคร่าชีวิตมนุษย์ได้ใกล้เคียงกับโรคติดเชื้อ ทั้งนี้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งโดยมากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes) มักไม่รู้ตัว ถือเป็นความเสี่ยง เนื่องจากไม่ได้รับการป้องกันและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จนต้องสูญเสียชีวิตและอวัยวะ โดยเฉพาะหัวใจ ไต ตา ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่มักถูกทำลายด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ขณะนี้ประชากรไทยมากกว่า 3 ล้านคนป่วยเป็นเบาหวานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงถึงปีละ 10,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับยาประมาณ 25% และเกินกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
ในปัจจุบันทั้งที่ความสามารถของเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่โรคเบาหวานยังเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด สาเหตุการเกิดเบาหวานส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลมาก หัวใจสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิดอยู่ที่การควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ไขมันในเลือด และน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ประมาณ 90-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และค่าระดับน้ำตาลสะสมที่เรียกว่าฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) ไม่เกิน 6.5 แนวทางพื้นฐานในการควบคุมน้ำตาล ได้แก่ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา อย่างไรก็ดีการรับประทานยารักษาเบาหวานหลายชนิดและจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ตับและไตทำงานหนักในการขับยาเหล่านี้ออกจากร่างกายเป็นการเร่งให้เกิดภาวะไตวายได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นวิธีการดูแลตัวเองที่สามารถทำได้และเกิดผลเสียน้อยที่สุดคือการควบคุมอาหารและการเลือกรับประทานอาหารและ/หรือสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะที่สามารถลดและควบคุมระดับน้ำตาลได้จะช่วยลดการเกิดเบาหวานได้มาก และหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดไขมันส่วนเกินได้ ก็คือ จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียโพรไบโอติกนั่นเอง
โพรไบโอติก (probiotic) คือ แบคทีเรียมีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ของเรา พบงานวิจัยว่าผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานโพรไบโอติกเป็นประจำ มีค่าน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างชัดเจน โดยโพรไบโอติกจะไปใช้น้ำตาลกลูโคสในลำไส้และช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคลในลำไส้ ดังนั้นจึงมีน้ำตาลน้อยลงในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่เป็นปกติ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการขึ้นลงของระดับน้ำตาลในเลือดที่อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยจากประเทศจีนพบว่า คนที่บริโภคโพรไบโอติกอย่างน้อย 8 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าคนที่ไม่บริโภคถึง 1 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย และพบว่าคนผอมจะมีแบคทีเรียโพรไบโอติกมากกว่าคนที่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งหมายความว่าโพรไบโอติกจะช่วยลดการสะสมไขมันน้อยลง จึงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงและเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดเบาหวานได้
สารอาหารที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติก ได้แก่ โยเกิร์ต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม นมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยแบคทีเรียหลัก 2 ชนิด คือ Lactobacillus bulgaricus และ Streptococcus thermophilus ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมให้เป็นกรดแลคติก ทำให้มีรสเปรี้ยวและมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว มีรายงานผลการวิจัยเผยแพร่ในปี 2011 พบความสัมพันธ์ของการรับประทานโยเกิร์ตกับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยพบว่าผู้ที่รับประทานโยเกิร์ตที่มี
ไขมันต่ำช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 10
การศึกษาในปี 2013 ของทีมนักวิจัยชาวจีนนำโดย Dr.Dengfeng Gao ที่รวบรวมข้อมูลการศึกษาการรับประทานโยเกิร์ต (50 กรัม) เป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการศึกษาในกลุ่มหญิงวัยหมดประจำเดือนเป็นเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มรับประทานโยเกิร์ตลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน ในปี 2012 มีการศึกษาในกลุ่มชาวยุโรปจำนวน 340,000 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ของการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์จากนมไม่ได้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนที่รับประทานชีสและโยเกิร์ตยังมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน อีกหนึ่งการศึกษาที่น่าสนใจคือ การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการรับประทาน
โยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก (Lactobacillus acidophilus La5 และ Bifidobacterium lactis Bb12) กับโยเกิร์ตธรรมดา 300 กรัมต่อวัน 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าการรับประทานโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) อีกทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือด และเพิ่มเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
สารสำคัญที่มีอยู่ในโยเกิร์ตและช่วยควบคุมน้ำตาลก็คือ โพรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตามที่ทราบกันอยู่แล้ว จากการศึกษาพบว่า โพรไบโอติกจะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระในร่างกายและช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้อาจจะมีผลช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือดและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อีกด้วย แต่หากจะซื้อโยเกิร์ตมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดควรที่จะเลือกโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือไม่ใส่ผลไม้ เพราะในผลไม้เหล่านั้นจะมีน้ำตาลอยู่ด้วย
ประไพภัทร คลังทรัพย์
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี